กลุ่มผู้บริโภคระดับกลางในอินโดนีเซียขยายตัว...
โอกาสทางธุรกิจของไทย
อินโดนีเซีย
เป็นประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตอย่างแข็งแกร่งด้วยอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 6 ต่อปีในช่วง
กว่า 10 ปีที่ผ่านมา และยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องเฉลี่ยร้อยละ 6.2 ต่อปีในช่วงปี 2557-2561 ซึ่งจะเกื้อหนุน
กำลังซื้อของชาวอินโดนีเซียที่มีจำนวนกว่า 240 ล้านคน (มากที่สุดในอาเซียนและมากเป็นอันดับ 4 ของโลก) ให้
เพิ่มขึ้นตาม โดย The Economist Intelligence Unit (EIU) คาดการณ์รายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปีของชาวอินโดนีเซีย
จะเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 90 จาก 3,460 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2556 เป็น 6,550 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2561 ซึ่งมีส่วนสำคัญ
ในการกระตุ้นความต้องการบริโภคสินค้าให้เพิ่มขึ้น และเมื่อเจาะลึกลงไปพบว่า กลุ่มผู้บริโภคระดับกลาง (หมายถึง
ผู้มีรายได้ตั้งแต่ 2-20 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาก อีกทั้งจะกลายเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีบทบาท
สำคัญทั้งเป็นกำลังแรงงานและเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจอินโดนีเซีย ซึ่งพึ่งพาการบริโภคในประเทศถึงร้อยละ 56
ของ GDP ขณะเดียวกันกลุ่มผู้บริโภคระดับกลางที่เพิ่มขึ้นจะทำให้พฤติกรรมการบริโภคเปลี่ยนไปจากการบริโภค
สินค้าที่เป็นปัจจัยพื้นฐาน เช่น อาหาร ไปเป็นการบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยมากขึ้น ทั้งนี้ ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับตลาด
ผู้บริโภคระดับกลางในอินโดนีเซียมีดังนี้
ผู้บริโภคระดับกลาง...กลุ่มผู้บริโภคที่ต้องจับตามอง
ผู้บริโภคระดับกลางในอินโดนีเซียเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่ทวีความสำคัญมากขึ้นเป็นลำดับจากจำนวนที่เพิ่มขึ้น
อย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากพิจารณาข้อมูลของรัฐบาลอินโดนีเซียพบว่า ในปี 2556 ผู้บริโภคระดับกลางมีจำนวน 137
ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 57 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 37 ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
และสัดส่วนดังกล่าวยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคระดับกลาง
ที่มีรายได้สูงกว่า 10 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน ซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเขตเมือง เป็นกลุ่มที่น่าสนใจเข้าไปเจาะตลาด
ทั้งนี้ McKinsey บริษัทวิจัยตลาดชั้นนำประเมินว่า ในปี 2556 กลุ่มผู้บริโภคดังกล่าวมีจำนวน 55 ล้านคน และมี
แนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ยต่อปีเทียบเท่าจำนวนประชากรสิงคโปร์ทั้งประเทศ หรือเกือบ 5 ล้านคน ทำให้ในปี 2563
กลุ่มผู้บริโภคดังกล่าวจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 86 ล้านคน ทั้งนี้ กลุ่มผู้บริโภคระดับกลางเป็นกลุ่มลูกค้าที่กล้าใช้จ่าย
เงินซื้อสินค้าและบริการที่ดีมีคุณภาพ รวมทั้งชอบทดลองสินค้าใหม่ๆ ซึ่งรวมถึงสินค้านำเข้าจากต่างประเทศที่มี
รสชาติแปลกใหม่และบรรจุภัณฑ์แปลกตา อาทิ ซีเรียลรสชาติใหม่ๆ ซึ่งชาวอินโดนีเซียส่วนใหญ่นิยมรับประทาน
เป็นอาหารเช้า ขนมขบเคี้ยว เช่น สาหร่ายปรุงรสที่มีหลากหลายรสชาติ รวมทั้งผักและผลไม้สดและแปรรูปนำเข้า
จากต่างประเทศ โดยเฉพาะผลไม้ไทย เช่น มะม่วงน้ำดอกไม้ ทุเรียนหมอนทอง ซึ่งเป็นที่นิยมมาก ทั้งนี้ ปัจจุบัน
สินค้าไทยเป็นที่ชื่นชอบในตลาดอินโดนีเซีย เนื่องจากผู้บริโภคมองว่าสินค้าไทยเป็นสินค้าคุณภาพดีและมีการ
ควบคุมคุณภาพอย่างสม่ำเสมอ จึงนับเป็นโอกาสของสินค้าไทยที่จะเข้าไปขยายตลาด
แนวโน้มสินค้าและบริการดาวรุ่ง
กลุ่มผู้บริโภคระดับกลางที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้การบริโภคในประเทศขยายตัวตาม โดย
ไม่เพียงแต่ความต้องการบริโภคสินค้าอุปโภคบริโภคพื้นฐานในชีวิตประจำวัน เช่น อาหารและเครื่องดื่มที่เพิ่มขึ้น
แต่ยังกระตุ้นความต้องการบริโภคสินค้าที่มีความจำเป็นน้อยกว่า รวมทั้งสินค้าฟุ่มเฟือยให้เพิ่มขึ้นด้วย โดยกลุ่ม
สินค้าที่มีแนวโน้มเติบโตดีในตลาดอินโดนีเซียมีดังนี้
• รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ
กลุ่มผู้บริโภคระดับกลางที่มีกำลังซื้อสูงมักนิยมซื้อรถยนต์
อเนกประสงค์ (Multi-Purpose Vehicle: MPV) เนื่องจากสามารถบรรทุกสิ่งของและผู้โดยสารได้จำนวนมาก
ทั้งนี้ การขยายตัวของกลุ่มผู้บริโภคระดับกลางเกื้อหนุนให้ยอดขายรถยนต์ในอินโดนีเซียปี 2556 สูงสุดเป็น
ประวัติการณ์ถึง 1.23 ล้านคัน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 1.3 ล้านคันในปี 2557 ซึ่งจะแซงหน้ายอดขายรถยนต์
ในไทยที่มีแนวโน้มลดลง อีกทั้งยังทำให้อินโดนีเซียก้าวขึ้นเป็นตลาดรถยนต์ขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน ทั้งนี้
ตลาดรถยนต์ที่มีศักยภาพในการขยายตัวเป็นโอกาสของผู้ประกอบการชิ้นส่วนรถยนต์ รวมทั้งผลิตภัณฑ์และอุปกรณ์
ที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ของไทยที่มีศักยภาพและมีความสามารถในการแข่งขันที่จะเข้าไปลงทุนเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของ
ห่วงโซ่การผลิตในอุตสาหกรรมรถยนต์ของอินโดนีเซีย
• สินค้ากลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า
อาทิ เครื่องปรับอากาศ ไมโครเวฟ และเครื่องซักผ้า เนื่องจากเป็นอุปกรณ์
ที่ช่วยอำนวยความสะดวกสบายในชีวิตประจำวันและทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น ประกอบกับคู่แต่งงานใหม่มักแยก
ครอบครัวออกมาเป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น จึงเป็นแรงกระตุ้นการบริโภคเครื่องใช้ไฟฟ้าให้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ
ชุดโฮมเธียเตอร์ ซึ่งเป็นที่นิยมของครอบครัวผู้บริโภคระดับกลางในอินโดนีเซีย เนื่องจากมองว่าการชมภาพยนตร์
ที่บ้านเป็นความบันเทิงที่สะดวกสบายและคุ้มค่ากว่าการชมภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์ทั้งครอบครัว อีกทั้งยังเป็น
การใช้เวลาอยู่ร่วมกันของครอบครัวมากขึ้นด้วย ขณะที่ไทยเป็นฐานการผลิตและส่งออกสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าของ
ผู้ผลิตรายสำคัญของโลก จึงเป็นโอกาสในการขยายตลาดสินค้าดังกล่าวของไทย
• สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับสุขภาพ
อาทิ ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม อุปกรณ์กีฬา อาหารฮาลาลอินทรีย์ มีแนวโน้ม
เติบโตตามกระแสการรักษาสุขภาพของกลุ่มผู้บริโภคระดับกลาง เนื่องจากผู้บริโภคกลุ่มดังกล่าวที่มีรายได้เพิ่มขึ้น
มักเลือกสรรสินค้าที่ดีต่อสุขภาพ อีกทั้งกลุ่มผู้บริโภคระดับกลางในอินโดนีเซียเป็นกลุ่มผู้มีการศึกษาดี โดยจบ
การศึกษาระดับปริญญาตรีหรือสูงกว่าถึงราว 1 ใน 3 ของกลุ่มผู้บริโภคระดับกลางทั้งหมดจึงมีความรู้และให้ความ
สำคัญกับการรักษาสุขภาพ ส่งผลให้ตลาดสินค้าดังกล่าวมีแนวโน้มเติบโต จึงเป็นโอกาสของสินค้าไทยโดยเฉพาะ
ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากธรรมชาติและสมุนไพร เช่น เซรั่มบำรุงเส้นผมจากใบหมี่ ผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อเสริม
สุขภาพและรักษาโรค เช่น น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น โดยสินค้าที่ชูจุดเด่นของส่วนผสมจากธรรมชาติล้วนจะได้รับ
ความนิยมมาก นอกจากนี้ กระแสใส่ใจสุขภาพยังส่งผลให้การตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าคำนึงถึงประโยชน์ต่อสุขภาพ
เป็นสำคัญ ซึ่งผู้ประกอบการไทยควรพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความต้องการในแนวนี้
• วัสดุก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์ ของตกแต่งบ้าน และเคหะสิ่งทอ
ผู้บริโภคระดับกลางที่ย้ายเข้ามาทำงาน
ในเขตเมืองจำนวนมาก ประกอบกับวิถีชีวิตของชาวอินโดนีเซียที่นิยมแยกครอบครัวออกมาเป็นครอบครัวเดี่ยว
ส่งผลให้ความต้องการที่อยู่อาศัยในเขตเมืองมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตาม ทั้งนี้ McKinsey คาดว่าสัดส่วนประชากรใน
เขตเมืองจะเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 55 ของประชากรทั้งหมด หรือ 138 ล้านคนในปี 2556 เป็นราวร้อยละ 70 หรือ 209
ล้านคนในปี 2573 ซึ่งจะส่งผลให้ภาคอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะที่อยู่อาศัยเติบโตขึ้นเป็นลำดับ อันจะเป็นโอกาส
ของสินค้าจำพวกเฟอร์นิเจอร์ เคหะสิ่งทอ และของตกแต่งบ้าน เพื่อตกแต่งที่อยู่อาศัยที่ก่อสร้างขึ้นใหม่เป็นจำนวน
มาก ขณะที่การลงทุนจากต่างประเทศที่หลั่งไหลเข้าสู่อินโดนีเซียอย่างต่อเนื่อง และการที่รัฐบาลอินโดนีเซียเร่ง
ลงทุนในโครงการพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานทั้งโครงข่ายถนน ท่าเรือ และสนามบิน ซึ่งจะทำให้มีความต้องการ
วัสดุและอุปกรณ์ก่อสร้าง อาทิ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ปูนซีเมนต์ แร่ยิปซัม สายไฟและสายเคเบิล เพิ่มขึ้น
• ธุรกิจแฟรนไชส์
โดยเฉพาะอาหารและเครื่องดื่ม เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคระดับกลางที่อยู่ในวัยทำงาน
ซึ่งนิยมสังสรรค์และรับประทานอาหารนอกบ้านในช่วงเวลาหลังเลิกงาน อีกทั้งกลุ่มผู้บริโภคระดับกลางในเมืองใหญ่
ยังมีพฤติกรรมบริโภคกาแฟตลอดทั้งวัน ทำให้ธุรกิจแฟรนไชส์ร้านอาหาร ร้านกาแฟและเบเกอรีเติบโตดี จึงเป็น
โอกาสของธุรกิจแฟรนไชส์อาหารและเครื่องดื่มของไทยที่มีศักยภาพ เนื่องจากอาหารไทยมีชื่อเสียงในด้านรสชาติ
และเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ ปัจจุบันธุรกิจแฟรนไชส์ของไทยที่รุกตลาดอินโดนีเซียจนประสบความสำเร็จ เช่น ร้าน
แบล็คแคนยอนซึ่งปัจจุบันมีมากกว่า 30 สาขาในอินโดนีเซียจากทั้งหมด 55 สาขาในต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม
ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มไทยควรให้ความสำคัญกับรายการอาหารและเครื่องดื่มที่สอดคล้องกับรสนิยมการบริโภค
ของคนท้องถิ่น รวมทั้งต้องให้ความสำคัญกับวัตถุดิบที่ใช้ในการประกอบอาหารที่ต้องเป็นไปตามหลักฮาลาลของ
ศาสนาอิสลาม เนื่องจากอินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีประชากรมุสลิมมากที่สุดในโลกราว 200 ล้านคน หรือร้อยละ
85 ของประชากรทั้งประเทศ
ช่องทางการกระจายสินค้าสู่ผู้บริโภคระดับกลาง
ร้านค้าปลีกสมัยใหม่เป็นช่องทางสำคัญในการจัดจำหน่ายสินค้าแก่ผู้บริโภคระดับกลาง เนื่องจากกลุ่มผู้บริโภค
ระดับกลางนิยมจับจ่ายเลือกซื้อสินค้าในห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ โดยเฉพาะห้างค้าปลีกในเขตเมืองใหญ่บนเกาะชวา
อาทิ กรุงจาการ์ตา เมืองหลวงของอินโดนีเซีย และเมืองสุราบายา เมืองท่าและศูนย์กลางธุรกิจสำคัญ ซึ่งมีประชากร
อาศัยอยู่หนาแน่นและเป็นแหล่งรวมผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อ จึงเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการขยายตลาด ขณะที่เกาะชวา
มีประชากรอาศัยอยู่ราวร้อยละ 50 ของประชากรทั้งประเทศ ทั้งนี้ ปัจจุบันผู้ค้าปลีกรายสำคัญในอินโดนีเซียนิยม
นำเข้าสินค้าผ่านผู้นำเข้าหรือผู้กระจายสินค้าเพื่อหลีกเลี่ยงการแบกรับภาระต้นทุนและปัญหาที่เกิดจากการนำเข้าเอง
โดยตรง ดังนั้น ผู้ส่งออกไทยจึงควรหาช่องทางติดต่อทำการค้าผ่านผู้นำเข้าหรือตัวแทนจำหน่ายสินค้าใน
อินโดนีเซีย
แม้ตลาดอินโดนีเซียมีศักยภาพในการเติบโตได้อีกมาก โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคระดับกลางที่ขยายตัวอย่าง
รวดเร็ว แต่มีสิ่งที่ผู้ประกอบการควรตระหนักถึงโดยเฉพาะมาตรการตรวจสอบสินค้านำเข้าอย่างเข้มงวดของ
อินโดนีเซีย ทำให้กระบวนการนำเข้าสินค้ามีหลายขั้นตอนและต้องใช้เวลาค่อนข้างนาน อีกทั้งยังมีการเปลี่ยนแปลง
กฎระเบียบด้านการค้าบ่อยครั้ง ผู้ส่งออกจึงควรติดตามความเคลื่อนไหวดังกล่าวอย่างใกล้ชิด
Disclaimer :
ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไป
เพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่
รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
ภาพประกอบจาก www.freeimages.com การเผยแพร่ภาพนี้เพื่อแนะนำข้อมูลด้านการค้าและการลงทุนในต่างประเทศ