ตลาดอาหารฮาลาลในอินโดนีเซีย...
โอกาสรออยู่ข้างหน้า
อินโดนีเซีย
เป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในเอเชียที่เศรษฐกิจยังขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่งท่ามกลางวิกฤต
เศรษฐกิจโลกในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลจากตลาดภายในประเทศมีขนาดใหญ่ ด้วยจำนวนประชากรราว 240
ล้านคน มากเป็นอันดับ 4 ของโลก ทำให้อินโดนีเซียเป็นตลาดการค้าที่น่าสนใจ โดยเฉพาะ
สินค้าอาหารฮาลาล
เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ขณะที่สินค้าอาหารของไทยได้รับการยอมรับในด้านคุณภาพ
และมาตรฐานในระดับสากล อีกทั้งไทยและอินโดนีเซียยังมีข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน ทำให้อินโดนีเซียเป็น
ตลาดอาหารฮาลาลที่ผู้ส่งออกไทยไม่ควรมองข้าม
ปัจจัยสนับสนุนการขยายตลาดอาหารฮาลาลในอินโดนีเซีย
•
ตลาดอาหารฮาลาลมีขนาดใหญ่
อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีประชากรมุสลิมมากที่สุดในโลก โดย
ประชากรอินโดนีเซียราว 200 ล้านคน หรือราวร้อยละ 85 ของประชากรทั้งหมด นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งคิดเป็น
สัดส่วนราวร้อยละ 10 ของประชากรมุสลิมโลก ทำให้มีความต้องการบริโภคอาหารฮาลาลจำนวนมาก ขณะที่
ผู้ประกอบการในอินโดนีเซียยังผลิตอาหารฮาลาลได้ไม่เพียงพอกับความต้องการบริโภคในประเทศ ส่งผลให้
อินโดนีเซียต้องนำเข้าอาหารฮาลาลจากต่างประเทศ โดยมีสัดส่วนสูงถึงเกือบร้อยละ 90 ของการนำเข้าอาหาร
ทั้งหมดของอินโดนีเซีย ทั้งนี้ ในปี 2555 อินโดนีเซียนำเข้าสินค้าอาหารเป็นมูลค่า 15,828 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
หรือราวร้อยละ 10 ของมูลค่านำเข้าทั้งหมดของอินโดนีเซีย
•
กำลังซื้อสูงขึ้นต่อเนื่อง
สะท้อนจากรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปีที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดย EIU คาดว่ารายได้
เฉลี่ยต่อคนต่อปีของชาวอินโดนีเซียจะเพิ่มขึ้นจาก 3,540 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2555 เป็น 5,590 ดอลลาร์สหรัฐ
ในปี 2560 ตามเศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างแข็งแกร่งเฉลี่ยราวร้อยละ 6 ต่อปีในช่วงปี 2553-2560 ซึ่งรายได้ที่เพิ่ม
จะทำให้การใช้จ่ายเพื่อการบริโภคอาหารเพิ่มขึ้นตาม
•
ชาวอินโดนีเซียมีทัศนคติที่ดีต่อสินค้าอาหารของไทย
เนื่องจากมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับเมื่อเทียบกับ
สินค้าอาหารของประเทศคู่แข่ง อาทิ เวียดนาม และจีน ซึ่งมีราคาใกล้เคียงกัน นอกจากนี้ ชาวอินโดนีเซียยังนิยม
อาหารรสชาติค่อนข้างจัดและใช้เครื่องเทศหลายชนิดซึ่งคล้ายกับอาหารไทย ทำให้อาหารไทยสามารถทำตลาด
ได้ไม่ยากนัก
•
ได้รับสิทธิประโยชน์จากการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community :
AEC)
ซึ่งจะช่วยลดภาระต้นทุนและอุปสรรคทางการค้าให้แก่ผู้ส่งออกไทยในการส่งสินค้าไปอินโดนีเซีย ปัจจุบัน
อัตราภาษีนำเข้าสินค้าของอินโดนีเซียอยู่ในระดับต่ำ คือ ร้อยละ 0-5 ขณะที่ AEC จะช่วยให้อัตราภาษีนำเข้า
ทั้งหมดลดลงเหลือร้อยละ 0 ภายในปี 2558
ยกเว้น
สินค้าอ่อนไหวสูง (Highly Sensitive List) 2 รายการ คือ
ข้าว ซึ่งจะเก็บภาษีนำเข้าในอัตราร้อยละ 25 ลดลงจากเดิมที่ร้อยละ 30 และน้ำตาลทราย ซึ่งจะเก็บภาษีนำเข้า
ในอัตราร้อยละ 5-10 ลดลงจากเดิมที่ร้อยละ 30-40
สินค้าอาหารฮาลาลไทยที่มีศักยภาพในการเจาะตลาดอินโดนีเซีย
การที่อินโดนีเซียผลิตสินค้าอาหารฮาลาลได้ไม่เพียงพอกับความต้องการภายในประเทศ ขณะที่สินค้าอาหาร
ของไทยได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้บริโภคชาวอินโดนีเซีย จึงเป็นโอกาสของผู้ส่งออกไทยที่จะเข้าไปขยาย
ตลาดในอินโดนีเซีย โดยสินค้าอาหารของไทยที่มีศักยภาพในการส่งออก มีดังนี้
•
ข้าว น้ำตาล ผักและผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง
โดยเฉพาะผลไม้ไทยเป็นที่นิยมและได้รับการยอมรับว่า
มีคุณภาพและรสชาติดีมากในตลาดอินโดนีเซีย ดังเห็นได้จากการที่ชาวอินโดนีเซียนิยมเติมคำว่า “Bangkok” เพื่อ
ใช้เรียกผลไม้ที่มีคุณภาพดี เช่น ทุเรียนจะเรียกว่า “Durian Bangkok” หรือมะม่วงจะเรียกว่า “Mangga Bangkok”
เป็นต้น เช่นเดียวกับทุเรียนและมะม่วงที่นำเข้าจากไทย เพื่อบ่งบอกว่าผลไม้ดังกล่าวมีคุณภาพในระดับเดียวกับผลไม้
ที่นำเข้าจากไทย ทั้งนี้ สินค้าดังกล่าวเป็นสินค้าอาหารฮาลาลตามธรรมชาติ (Natural Halal) ที่ฮาลาลในตัว
สินค้าเอง เนื่องจากเป็นสินค้าอาหารที่ไม่มีส่วนผสมของสัตว์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสิ่งต้องห้ามตามหลัก
ศาสนา จึงไม่จำเป็นต้องติดตราสัญลักษณ์ฮาลาล
•
อาหารพร้อมปรุงและพร้อมรับประทานทั้งแบบแช่แข็ง แปรรูป และบรรจุกระป๋อง
อาทิ อาหารทะเล
แช่แข็ง ผลิตภัณฑ์สัตว์ปีกแช่แข็ง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ไอศกรีม ขนมขบเคี้ยว ผลไม้กระป๋องและแปรรูป เช่น น้ำผลไม้
ทุเรียนกวน และทุเรียนอบกรอบ เป็นต้น รวมทั้งอาหารพร้อมรับประทานแบบตะวันตก เช่น ขนมปัง พาสตา และ
สปาเกตตี ซึ่งได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นจากการที่ชาวอินโดนีเซียเปิดรับวัฒนธรรมตะวันตกมากขึ้น ขณะที่ปัจจุบัน
วิถีชีวิตของชาวอินโดนีเซียเร่งรีบขึ้นและมีชั่วโมงทำงานต่อวันยาวนานขึ้น ประกอบกับสตรีชาวอินโดนีเซียออกไป
ทำงานนอกบ้านมากขึ้นทำให้มีเวลาเตรียมอาหารน้อยลง จึงหันมาเลือกซื้ออาหารพร้อมปรุงและอาหารพร้อม
รับประทานมากขึ้น ทดแทนการซื้ออาหารสดมาปรุงรับประทานเองที่บ้าน ส่งผลให้อาหารพร้อมปรุงและพร้อมรับ
ประทานเป็นที่ต้องการมากขึ้น
•
อาหารฮาลาลอินทรีย์
(Organic Halal Food) นับเป็นตลาดที่น่าสนใจ เนื่องจากมีแนวโน้มได้รับความ
นิยมเพิ่มขึ้นตามกระแสการรักสุขภาพ โดยเน้นการเจาะตลาดชาวมุสลิมที่มีรายได้สูงและปานกลางค่อนข้างสูง ซึ่ง
มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 15 ของจำนวนประชากรทั้งหมดของอินโดนีเซีย
ข้อควรรู้...ก่อนรุกตลาดอาหารฮาลาลอินโดนีเซีย
•
กฎระเบียบสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าอาหารฮาลาล
การนำเข้าอาหารฮาลาลต้องเป็นไปตาม
กฎระเบียบของหน่วยงานอาหารและยาของอินโดนีเซีย (National Agency for Drug and Food Control) หรือ
Badan Pengawas Obat dan Makanan (BPOM) ในภาษาอินโดนีเซีย ที่กำหนดให้สินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่
นำเข้าต้องขึ้นทะเบียนอาหารและยา (ML Registration) เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ซึ่งผู้ส่งออกสามารถยื่น
ขอจดเลขทะเบียน ML กับ BPOM และต้องระบุเลขทะเบียนอย่างชัดเจนบนฉลากสินค้าที่จะจำหน่ายในประเทศ
ทั้งนี้ ผู้ส่งออกควรแต่งตั้งให้ผู้นำเข้าหรือผู้แทนจำหน่ายสินค้าในอินโดนีเซีย เป็นตัวแทนยื่นเรื่องจดทะเบียนสินค้า
กับ BPOM เนื่องจากการขอ ML Registration มีกระบวนการที่ซับซ้อนและใช้เวลานานอย่างน้อย 6 เดือน นอกจากนี้
สินค้าอาหารฮาลาลที่จะวางจำหน่ายในอินโดนีเซียต้องได้รับการรับรองตราสัญลักษณ์ฮาลาลจากสภาอิสลามแห่ง
ชาติอินโดนีเซีย (Majelis Ulama Indonesia : MUI) ซึ่งเป็นหน่วยงานรับรองฮาลาลของอินโดนีเซีย
•
ชาวมุสลิมในอินโดนีเซียให้ความสำคัญกับตราสัญลักษณ์ฮาลาลเป็นอย่างมาก
เนื่องจากทำให้มั่นใจ
ว่าอาหารนั้นไม่มีส่วนผสมหรือสิ่งต้องห้ามที่ขัดต่อหลักศาสนา (Haram Material) ผู้ส่งออกไทยจึงควรติดตรา
สัญลักษณ์ฮาลาลให้เห็นอย่างชัดเจนบนผลิตภัณฑ์อาหาร นอกจากนี้ สินค้าอาหารต้องติดฉลากระบุรายละเอียด
ต่างๆ ตามที่กำหนด เช่น ตราสินค้า ชื่อและที่อยู่ของผู้ผลิต ประเทศผู้ผลิต และส่วนผสมของวัตถุดิบ วันเดือนปี
ที่ผลิตและวันหมดอายุ นอกจากนี้ หากมีส่วนประกอบที่ได้จากการตัดแต่งพันธุกรรม (Genetically Modified
Organisms : GMOs) ต้องระบุไว้บนฉลากด้วย
•
ชาวอินโดนีเซียนิยมจับจ่ายสินค้าอาหารในซูเปอร์มาร์เก็ตและไฮเปอร์มาร์เก็ตมากขึ้น
โดยเฉพาะ
กลุ่มผู้บริโภควัยทำงาน (อายุระหว่าง 15-64 ปี) ซึ่งมีจำนวนเกือบร้อยละ 70 ของประชากรอินโดนีเซียทั้งหมด
ทำให้ช่องทางดังกล่าวเป็นช่องทางจัดจำหน่ายสินค้าอาหารที่สำคัญมากขึ้น ทั้งนี้ การนำสินค้าวางจำหน่ายใน
ซูเปอร์มาร์เก็ตและไฮเปอร์มาร์เก็ตในอินโดนีเซีย ผู้ส่งออกไทยควรติดต่อผ่านผู้นำเข้าหรือตัวแทนจำหน่ายสินค้า
ในอินโดนีเซีย เนื่องจากซูเปอร์มาร์เก็ตและไฮเปอร์มาร์เก็ตส่วนใหญ่ไม่นิยมนำเข้าโดยตรงจากผู้ผลิตหรือผู้ส่งออก
ในต่างประเทศ เพื่อหลีกเลี่ยงการแบกรับภาระต้นทุนและปัญหาที่เกิดจากการนำเข้าเองโดยตรง
แม้ว่าตลาดอาหารฮาลาลในอินโดนีเซียเป็นตลาดที่มีศักยภาพ แต่ยังมีอุปสรรคที่ผู้ส่งออกพึงระวังและควร
ให้ความสนใจ โดยเฉพาะการดำเนินมาตรการตรวจสอบสินค้านำเข้าอย่างเข้มงวดของทางการอินโดนีเซีย ทั้ง
มาตรการด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช และการใช้มาตรการจำกัดปริมาณการนำเข้าสินค้าบางรายการ เช่น
น้ำตาลทราย เป็นต้น ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยที่สนใจเข้าไปเจาะตลาดอาหารฮาลาลในอินโดนีเซียควรศึกษา
ข้อมูลตลาดและกฎระเบียบด้านการนำเข้ารายสินค้า ซึ่งในเบื้องต้นสามารถค้นหาได้จากเว็บไซต์ของกรมการค้า
ต่างประเทศของไทย (http://www.dft.moc.go.th/) นอกจากนี้ ผู้ประกอบการควรเดินทางไปสำรวจตลาดในเมือง
เศรษฐกิจสำคัญ เช่น กรุงจาการ์ตา เมืองหลวงของอินโดนีเซีย รวมทั้งหาโอกาสเข้าร่วมงาน Indonesia Halal
Expo (INDHEX) งานแสดงสินค้าฮาลาลระดับนานาชาติ ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงจาการ์ตา เป็นประจำทุกปี เพื่อทราบถึง
ลักษณะและศักยภาพของตลาดเพื่อให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างราบรื่นยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นโอกาสในการสร้าง
สายสัมพันธ์ทางธุรกิจและการจับคู่ทางการค้าได้อีกทางหนึ่งด้วย
Disclaimer :
ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไป
เพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่
รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
ภาพประกอบจาก www.google.co.th การเผยแพร่ภาพนี้เพื่อแนะนำข้อมูลด้านการค้าและการลงทุนในต่างประเทศ