พลิกข้อจำกัดการขนส่งใน สปป.ลาว…สู่โอกาสใหม่ทางธุรกิจ  
            เป็นที่ทราบกันดีว่า สปป.ลาว มีข้อจำกัดทางภูมิประเทศ คือ
เป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่ไม่ติดทะเล ทำให้ไม่มีท่าเรือ ส่งผลให้
ที่ผ่านมารัฐบาล สปป.ลาว เร่งผลักดันและขับเคลื่อนประเทศด้วย
ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศจาก Land Lock สู่ Land Link เพื่อเปลี่ยน
ข้อจำกัดทางภูมิประเทศสู่การเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงประเทศสมาชิก
ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (Greater Mekong Subregion : GMS) คือ
จีนตอนใต้ เมียนมา ไทย สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนาม เข้าด้วยกัน
ซึ่งเริ่มเห็นผลการพัฒนาเป็นรูปธรรมชัดเจนขึ้น อย่างไรก็ตาม จาก
การเดินทางภาคสนามและได้พบปะกับหน่วยงานภาครัฐของไทยและ
ของ สปป.ลาว ทำให้ทราบว่านอกจาก Land Lock ที่เป็นข้อจำกัด
ด้านการขนส่งระหว่างประเทศแล้ว สปป.ลาว ยังมีข้อจำกัดด้านการขนส่ง
ภายในประเทศที่ก่อให้เกิดโอกาสทางธุรกิจอย่างน่าสนใจจนต้อง
นำมาเล่าสู่กันฟัง

          แม้ สปป.ลาว เร่งรัดการพัฒนาเครือข่ายคมนาคมอย่างต่อเนื่อง
ในช่วงที่ผ่านมา แต่ระบบไปรษณีย์ในประเทศยังมีข้อจำกัดจากการที่
บริการจัดส่งพัสดุและจดหมายถึงมือผู้รับตามแต่ละบ้านยังไม่ทั่วถึง
โดยเฉพาะในพื้นที่นอกเมือง ซึ่งมักจัดส่งพัสดุและจดหมายของ
ทั้งหมู่บ้านมารวมกันไว้ที่ P.O. Box ส่วนกลางที่บ้านของ “นายบ้าน”
ซึ่งคล้ายกับตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านของไทย จากนั้นนายบ้านจะแจ้งให้
ลูกบ้านมารับพัสดุและจดหมายไป สะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ที่
ใกล้ชิดกันระหว่างนายบ้านกับลูกบ้าน อย่างไรก็ตาม ระบบดังกล่าว
ไม่สามารถอำนวยความสะดวกในการจัดส่งพัสดุและจดหมายทาง
ไปรษณีย์ให้แก่ผู้รับได้โดยตรง นอกจากนี้ ระบบบ้านเลขที่ใน สปป.ลาว
 
  ยังไม่สมบูรณ์นัก โดยในบางพื้นที่ชนบทห่างไกลไม่มีบ้านเลขที่ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการจัดส่งพัสดุและจดหมายด้วยเช่นกัน โดยที่ผ่านมา
ชาวลาวมักว่าจ้างรถจักรยานยนต์ในท้องถิ่นให้ไปรับของให้ อย่างไรก็ตาม ความต้องการใช้บริการที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะปัจจุบันที่
โลกการค้าออนไลน์ใน สปป.ลาว เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นตามกระแสดิจิทัล (อ่านเพิ่มเติมได้จาก “เรื่องเล่าระหว่างทาง : วิถีการค้า
ออนไลน์ใน สปป.ลาว...จุดเล็กๆ ที่แตกต่าง” ใน EXIM E-NEWS ปีที่ 12 ฉบับที่ 11 เดือนพฤศจิกายน 2560) จึงเป็นช่องว่างที่เปิดโอกาส
ให้ธุรกิจบริการขนส่งแบบถึงมือผู้รับ (Door to Door Service) เข้ามามีบทบาทเติมเต็มความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป
นอกจากนี้ การที่ผู้ขายสินค้าหลายรายเริ่มทำกลยุทธ์การตลาดด้วยการขายสินค้าพร้อมพ่วงการให้บริการส่งสินค้าถึงมือผู้รับเพื่อเป็นจุดขาย
แก่ลูกค้ารุ่นใหม่ที่ต้องการความสะดวกสบายล้วนมีส่วนช่วยให้ธุรกิจดังกล่าวมีแนวโน้มเติบโตและเป็นโอกาสที่น่าสนใจของผู้ประกอบการไทย
อาทิ ผู้ประกอบการขนส่งอาจขยายขอบเขตการให้บริการครอบคลุมไปจนถึงการขนส่งสินค้าถึงมือผู้รับ ขณะที่ผู้ส่งออกไทยก็ควรคำนึงถึง
ไลฟ์สไตล์ของชาวลาวที่เริ่มให้ความสำคัญกับความสะดวกสบายและความรวดเร็วในการรับสินค้า จึงอาจทำโปรโมชันพ่วงการให้บริการ
ขนส่งถึงมือผู้รับเพื่อสร้างความประทับใจและกระตุ้นยอดขาย

          นอกจากนี้ ในส่วนของการพัฒนาระบบขนส่งระหว่างประเทศ ปัจจุบันรัฐบาล สปป.ลาว กำลังตั้งเป้าต่อยอดการพัฒนาไปสู่การเป็น Logistics Hub หรือศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของภูมิภาคอาเซียน โดยมีโครงการพัฒนาการขนส่งทางบกผ่านเส้นทางรถไฟ 4 สายสำคัญ
คือ โครงการรถไฟ สปป.ลาว-จีน ที่กำหนดแล้วเสร็จในปี 2564 ซึ่งเชื่อมนครหลวงเวียงจันทน์สู่ตลาดจีน ผ่านเมืองคุนหมิง ในมณฑลยูนนาน และอีก 2 สายจะเชื่อมไปยังท่าเรือ Vung Ang และ Dong Ha ในเวียดนามเพื่อเป็นเส้นทางขนส่งจาก สปป.ลาว ออกสู่ทะเล โดยเมื่อ
เดือนเมษายน 2560 รัฐบาลเวียดนามและรัฐบาล สปป.ลาว ลงนาม MOU ในการบริหารท่าเรือ Vung Ang ภายใต้ Vietnam-Laos Vung
Ang Port Joint Stock Company (VLP) นับเป็นอีกก้าวสำคัญที่ทำให้ประเทศ Land Lock ดังเช่น สปป.ลาว มีส่วนในการเป็นเจ้าของท่าเรือ
ของตนเอง สำหรับเส้นทางรถไฟสายที่ 4 คือ เส้นทางช่องเม็ก-ปากเซ-สะหวันนะเขต-ลาวบาว เพื่อเชื่อมพื้นที่ สปป.ลาว ตอนใต้และ
ตอนกลางเข้าด้วยกัน
 
  ที่มา : The Ministry of Public Works and Transport, Laos  
            จากที่เล่ามาข้างต้นจะเห็นได้ว่าแม้ สปป.ลาว มีข้อจำกัดทั้งด้านการขนส่งในประเทศและการขนส่งระหว่างประเทศ แต่การพัฒนา
โครงสร้างพื้นฐานและระบบขนส่งอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคที่มีไลฟ์สไตล์ของชาวเมืองยุคใหม่ที่ต้องการ
ความสะดวกสบายมากขึ้นและกระแสดิจิทัลในปัจจุบัน ล้วนเป็นปัจจัยที่มีส่วนในการพลิกข้อจำกัดของ สปป.ลาว สู่โอกาสทางธุรกิจที่น่าสนใจ
ของผู้ประกอบการไทย ทั้งโอกาสพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ธุรกิจบริการขนส่งและโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ รวมทั้งธุรกิจขนส่งในประเทศ
 
  Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น
โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ ไม่ว่าโดยทางใด