หุ่นยนต์บริการ : โอกาสตลาดโตไม่แพ้หุ่นยนต์อุตสาหกรรม  
            ในยุคที่หลายประเทศทั่วโลก รวมถึงไทย ต่างประสบปัญหา
ขาดแคลนแรงงานและค่าจ้างแรงงานที่ปรับสูงขึ้น โดยมีสาเหตุทั้งจาก
การก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ที่ทำให้ประชากรวัยแรงงาน
มีจำนวนลดลง และแรงงานเลือกงานมากขึ้น ทั้งงานที่ใช้แรงงานหนัก
งานที่ต้องอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่ไม่พึงประสงค์ เช่น งานในโรงงานที่มี
กลิ่นรุนแรง หรืองานที่ต้องเสี่ยงอันตราย เช่น งานบนที่สูง หรืองานที่ต้อง
สัมผัสสารเคมีอันตราย รวมถึงหลายอุตสาหกรรมขาดแคลนแรงงานที่มี
ความละเอียด เที่ยงตรง และแม่นยำสูง ทางออกหนึ่งที่ถูกพูดถึงมาก
ในปัจจุบัน คือ การนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาใช้ทดแทนแรงงานคน
ซึ่งนอกจากจะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านแรงงานในระยะยาวแล้ว ยังช่วยเพิ่ม
ประสิทธิภาพและลดความผิดพลาดในการทำงานอีกด้วย

          โดยทั่วไปเราสามารถแบ่งหุ่นยนต์ตามลักษณะการใช้งานได้เป็น 2
ประเภท คือ หุ่นยนต์อุตสาหกรรม (Industrial Robot) ที่ส่วนใหญ่
จะอยู่ในลักษณะแขนกลที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม และหุ่นยนต์บริการ
(Service Robot)
ซึ่งแยกย่อยได้อีก 2ประเภท คือ หุ่นยนต์บริการที่ใช้
 
  ในเชิงพาณิชย์ (Professional Use) อาทิ หุ่นยนต์ขนส่ง หุ่นยนต์ทางการแพทย์ หุ่นยนต์ต้อนรับ หุ่นยนต์การเกษตร หุ่นยนต์ก่อสร้าง
หุ่นยนต์ใต้น้ำ หุ่นยนต์ทางการทหาร และหุ่นยนต์บริการที่ใช้ในครัวเรือนหรือใช้เป็นการส่วนตัว (Personal and Domestic Use)
อาทิ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น หุ่นยนต์ตัดหญ้า หุ่นยนต์ของเล่น ทั้งนี้ การที่ภาครัฐมีเป้าหมายผลักดันให้ภาคเอกชนหันมาใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ
เพิ่มขึ้น เราจึงมักเห็นภาพหุ่นยนต์อุตสาหกรรมปรากฏในสื่อบ่อยครั้ง โดยเฉพาะภาพหุ่นยนต์ในโรงงานประกอบรถยนต์ หรือโรงงานผลิต
ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ในขณะที่หุ่นยนต์บริการมักถูกมองข้ามและยังไม่ค่อยเป็นที่กล่าวถึงมากนัก ทั้งที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้บริโภคมากกว่าและ
มีโอกาสขยายตัวโดดเด่นไม่แพ้หุ่นยนต์อุตสาหกรรม

          ข้อมูลล่าสุดจากสหพันธ์หุ่นยนต์นานาชาติ (International Federation of Robotics : IFR) ระบุว่า ยอดจำหน่ายหุ่นยนต์บริการในปี
2558 มีมูลค่า 6.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แบ่งเป็นหุ่นยนต์บริการที่ใช้ในเชิงพาณิชย์ 4.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และหุ่นยนต์บริการที่ใช้ใน
ครัวเรือนหรือใช้เป็นการส่วนตัว 2.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าการจำหน่ายหุ่นยนต์บริการระหว่างปี 2559-2562 จะมียอดสะสมสูงถึง
45.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (แบ่งเป็นแบบใช้ในเชิงพาณิชย์ 23.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และแบบใช้ในครัวเรือนหรือใช้เป็นการส่วนตัว 22.3
พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)

          สำหรับหุ่นยนต์บริการที่มีการใช้งานเป็นจำนวนมากในปัจจุบัน อาทิ
          หุ่นยนต์ขนส่งและโลจิสติกส์ ส่วนใหญ่เป็นรถขนส่งอัตโนมัติ (Automated Guided Vehicle : AGV หรือ Automated Guided
Car : AGC) ซึ่งสามารถเคลื่อนที่โดยปราศจากคนขับ แต่จะเคลื่อนที่อัตโนมัติไปตามเส้นทางที่ถูกกำหนดไว้ ทั้งนี้ เส้นทางอาจกำหนดโดย
ใช้การเหนี่ยวนำของสนามแม่เหล็กที่ฝังอยู่ที่พื้น หรือใช้วิธีควบคุมการตรวจจับด้วยแสงเลเซอร์เพื่อให้รถเคลื่อนที่ไปตามเส้นทางที่กำหนด
โดยการควบคุมอุปกรณ์ประเภท AGV สามารถควบคุมได้พร้อมๆ กันหลายคันโดยใช้คอมพิวเตอร์ควบคุมเพียงชุดเดียว สำหรับประโยชน์ของ
รถ AGV นอกจากจะช่วยลดการใช้แรงงานคนแล้ว ยังช่วยลดความผิดพลาด เช่น การขับเฉี่ยว-ชนที่เกิดจากความประมาท รวมถึงช่วยลด
ปัญหามลพิษ เพราะรถ AGV ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ ทั้งนี้ ความต้องการใช้หุ่นยนต์ขนส่งและโลจิสติกส์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง มีการ
คาดการณ์ว่า ระหว่างปี 2559-2562 หุ่นยนต์ขนส่งและโลจิสติกส์จะมียอดจำหน่ายรวมกว่า 175,000 ตัว ในจำนวนนี้จะเป็นยอดจำหน่ายรถ
AGV ถึง 174,650 คัน
          หุ่นยนต์ทางการแพทย์ อาทิ หุ่นยนต์ผ่าตัด (Surgical Robot) เพื่อช่วยแพทย์ในการผ่าตัดที่ซับซ้อนหรือต้องการความละเอียด
สูง รวมถึงการผ่าตัดทางไกล หุ่นยนต์กายภาพบำบัด (Rehabilitation Robot) หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อ (Disinfection Robot) ที่ใช้รังสี UV ฆ่าเชื้อ
แบคทีเรียในโรงพยาบาล สามารถฆ่าเชื้อได้ 99% สำหรับห้องผู้ป่วยที่มีการติดเชื้ออันตราย เช่น โรคไวรัสอีโบลา ทั้งนี้ แม้หุ่นยนต์
ทางการแพทย์จะมีปริมาณไม่มากนักเมื่อเทียบกับหุ่นยนต์บริการชนิดอื่น แต่เป็นหุ่นยนต์ที่มีราคาต่อหน่วยสูงที่สุดในกลุ่มหุ่นยนต์บริการ
(เฉลี่ยราวเครื่องละ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ทำให้หุ่นยนต์ทางการแพทย์มีมูลค่าจำหน่ายสูงถึง 1,463 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วน
กว่าร้อยละ 30 ของมูลค่าจำหน่ายหุ่นยนต์บริการเชิงพาณิชย์ทั้งหมดในปี 2558
          หุ่นยนต์ทางการทหาร (Defense Robot) ส่วนใหญ่ คือ โดรน (Drone) หรืออากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aerial
Vehicle : UAV) ซึ่งมีสัดส่วนกว่า 80% ของยอดจำหน่ายหุ่นยนต์ทางการทหารทั้งหมดในปี 2558 รองลงมา คือ ยานยนต์บกไร้คนขับ
(Unmanned Ground Based Vehicle) เช่น หุ่นยนต์เก็บกู้ระเบิด เป็นต้น
            แม้ในระยะแรกโดรนจะถูกพัฒนาขึ้นเพื่อใช้ในปฏิบัติการทางการทหาร แต่ปัจจุบันมีการนำโดรนมาใช้ในเชิงพาณิชย์มากขึ้น อาทิ
ใช้โดรนสำรวจความเรียบร้อยของถังและท่อในอุตสาหกรรมปิโตรเลียมและปิโตรเคมี ทำให้ช่วยลดระยะเวลาในการหยุดเครื่องเพื่อซ่อมบำรุง
ลง (จากเดิมที่ต้องใช้เวลาในการตั้งและรื้อถอนนั่งร้านเพื่อให้เจ้าหน้าที่ปีนขึ้นไปสำรวจ) การใช้โดรนฉีดพ่นปุ๋ยและสารเคมีในการเกษตร
ช่วยให้เกษตรกรสัมผัสสารเคมีอันตรายน้อยลง ใช้โดรนขนส่งสินค้า เพื่อช่วยลดต้นทุนค่าขนส่งสินค้าและเพิ่มความรวดเร็วในการจัดส่งสินค้า
นอกจากนี้ ยังมีการนำโดรนมาใช้ในธุรกิจบันเทิง เช่น การแสดงระหว่างพักครึ่งในงาน Super Bowl เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2560 ที่มีการใช้
โดรนขนาดเล็กกว่า 300 ตัว มาแสดง Light Show ด้วยการแปรขบวนเป็นรูปต่างๆ ร่วมกับการโชว์บนเวทีของ Lady Gaga
          หุ่นยนต์บริการที่ใช้ในครัวเรือนหรือใช้เป็นการส่วนตัว (Personal and Domestic Use) หุ่นยนต์ที่เป็นที่นิยมสูงสุด
ในหมวดนี้ คือ หุ่นยนต์ที่ใช้ในบ้านจำพวกหุ่นยนต์ดูดฝุ่น หุ่นยนต์ตัดหญ้า และหุ่นยนต์เช็ดกระจกที่มียอดจำหน่ายสูงถึง 3.7 ล้านชิ้น ในปี
2558 และคาดว่าจะทำยอดจำหน่ายสะสมได้ถึง 31 ล้านชิ้นระหว่างปี 2559-2562 เพราะเข้ากับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคยุคใหม่ที่ต้องการ
ความสะดวก รองลงมา คือ หุ่นยนต์เพื่อความบันเทิงและหุ่นยนต์ของเล่น ซึ่งได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเนื่องจากราคาไม่สูงนัก และหุ่นยนต์
บางชนิดก็ออกแบบมาให้ผู้เล่นเขียนโปรแกรมเพื่อควบคุมการทำงานของหุ่นยนต์ที่ประกอบขึ้นเองได้ด้วย นอกจากนี้ ยังมีหุ่นยนต์ดูแล
ผู้ป่วยและผู้สูงอายุที่แม้ปัจจุบันยังมียอดจำหน่ายไม่มากนัก (4,713 ตัวในปี 2558) แต่มีแนวโน้มขยายตัวสูงตามจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น
ทั่วโลก

          เป็นที่ชัดเจนว่าในอนาคตการใช้หุ่นยนต์บริการในชีวิตประจำวันจะเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผู้ประกอบการไทยจึงควรมองหา
โอกาสจากแนวโน้มดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการนำหุ่นยนต์บริการมาใช้ในกิจการ หรือการพัฒนาหรือต่อยอดหุ่นยนต์บริการที่ตอบสนองความ
ต้องการของผู้ใช้ ทั้งนี้ ปัจจุบันมีผู้ประกอบการไทยที่พัฒนาหุ่นยนต์บริการและนำออกจำหน่ายแล้ว อาทิ บริษัท ซีที เอเชีย โรโบติกส์ จำกัด
ผู้ผลิต "หุ่นยนต์ดินสอ" ซึ่งเป็นหุ่นยนต์สำหรับดูแลผู้ป่วยและผู้สูงอายุ บริษัท ไฮฟ์กราวนด์ จำกัด (HiveGround) ที่สร้างโดรนสำหรับงาน
ตรวจหอเผาให้บริษัท ระยองวิศวกรรมและซ่อมบำรุง จำกัด (ในเครือ SCG)
 
  Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น
โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ ไม่ว่าโดยทางใด