เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการใช้แมลงเป็นอาหารทางเลือกใหม่
 
            แมลง เป็นอาหารทางเลือกใหม่ที่องค์การอาหารและเกษตรแห่ง
สหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization: FAO) แนะนำ
ให้เป็นอาหารสำหรับประชากรในอนาคต หลังจาก FAO คาดการณ์ว่า
ภายในปี 2593 ประชากรโลกจะเพิ่มเป็น 9,000 ล้านคน จากในปี 2559
ที่มีประชากรโลกอยู่ราว 7,400 ล้านคน ซึ่งหากยังคงผลิตอาหารได้ใน
อัตรากำลังการผลิตแบบปัจจุบัน และไม่มีอาหารชนิดใหม่ๆ ที่สามารถ
รองรับการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรดังกล่าวได้ FAO คาดว่าจะมี
ประชากรโลกราว 1,000 ล้านคน ที่อาจประสบกับความอดอยาก

          สาเหตุสำคัญที่ FAO เลือกให้แมลงเป็นสินค้าอาหาร
ทางเลือกใหม่ คือ

           แมลงเป็นอาหารที่มีโภชนาการสูง ทั้งโปรตีน ไขมัน และ
วิตามิน สามารถใช้เป็นอาหารทดแทนโปรตีนจากสัตว์ใหญ่ได้ดี อาทิ
เนื้อจิ้งหรีด 200 แคลอรี ให้โปรตีน 31 กรัม เทียบกับเนื้อวัวให้โปรตีน
เพียง 22 กรัม
           การเลี้ยงแมลงไม่ต้องใช้พื้นที่และน้ำมาก ในกระบวนการ
 
  เลี้ยงจิ้งหรีดเพื่อให้ได้เนื้อจิ้งหรีดน้ำหนัก 1 ปอนด์ จะมีการใช้น้ำเพียง 1 แกลลอน ขณะที่การเลี้ยงวัวเพื่อผลิตเนื้อวัวน้ำหนัก 1 ปอนด์
ใช้น้ำมากถึง 2,000 แกลลอน
           ไม่ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ลงทุนต่ำ สามารถเลี้ยงในเขตชนบทได้
           การเลี้ยงแมลงก่อให้เกิดก๊าซมีเทนต่ำ (เป็นต้นเหตุของภาวะเรือนกระจก)
           แมลงมีอัตราการแลกเนื้อ (Feed Conversion Ratio) ต่ำ ทั้งนี้ การเลี้ยงแมลง 1 กิโลกรัมจะใช้อาหารในการเลี้ยงเพียง 2
กิโลกรัม แต่การเลี้ยงวัว 1 กิโลกรัมต้องใช้อาหารในการเลี้ยง 8 กิโลกรัม
 
  ปัจจุบันมีแมลงมากกว่า 1,900 ชนิดที่สามารถรับประทานได้
และมีประชากรโลกราว 2,000 ล้านคนที่รับประทานแมลงเป็นอาหาร
 
            ความนิยมบริโภคแมลงในตลาดโลก...มิใช่เพียงกระแสนิยมชั่วคราว
          การบริโภคแมลงมีมาช้านานแล้วในบางประเทศ และในปัจจุบันหลายประเทศก็หันมาบริโภคแมลงมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่ม
ผู้บริโภคซึ่งนิยมทดลองอาหารแปลกใหม่ เช่น อมยิ้มที่มีแมลงฝังอยู่ข้างใน และซูชิแมลง อย่างไรก็ตาม การที่ FAO สนับสนุนให้มีการ
บริโภคแมลงมากขึ้น เช่นเดียวกับผู้มีชื่อเสียงของโลกหลายราย อาทิ Bill Gate, David George Gordow (เชฟที่มีชื่อเสียง) และสถาบัน
สอนอาหารชั้นนำร่วมกันรณรงค์และผลักดันให้บริโภคแมลงเพิ่มขึ้น รวมถึงการที่ภัตตาคารที่มีชื่อเสียงของโลกอย่าง Noma ณ
กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก (ได้รับรางวัล Best Restaurant in the World ในปี 2553-2555 และปี 2557) นำมดและแมลง
มาประกอบอาหารในเมนูสุดหรู ล้วนทำให้อาหารจากแมลงเป็นที่สนใจของผู้บริโภคในวงกว้างมากขึ้น โดยเฉพาะในตลาดสหรัฐฯ ซึ่งเป็น
ตลาดส่งออกสินค้าอาหารสำคัญอันดับต้นๆ ของไทย

          ทั้งนี้ ตลาดแมลงในสหรัฐฯ แม้ยังมีขนาดเล็กและอยู่ในระยะเริ่มต้น โดยมีมูลค่าตลาดเพียงราว 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่เป็นตลาด
ที่มีโอกาสขยายตัวอีกมากในอนาคต โดยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครลอสแอนเจลิส รายงานว่า ปัจจุบันในสหรัฐฯ มี
Startup จำนวนมากขึ้นที่ทำธุรกิจจำหน่ายสินค้าอาหารที่ทำจากแมลง และได้รับการตอบรับอย่างดีจากนักลงทุน ขณะที่กลุ่มผู้บริโภค
ที่สนใจบริโภคแมลงก็ขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคในช่วงอายุ 30-44 ปี ทั้งนี้ สหรัฐฯ มีร้านอาหารที่จำหน่ายอาหารที่
ทำจากแมลงอยู่ราว 110 ร้าน และยังมีแมลงจำหน่ายทั้งในตลาดค้าปลีก อาทิ EntoMarket และจำหน่ายผ่านทางออนไลน์ อาทิ www.cricketpowder.com และ www.amazon.com อาหารจากแมลงที่ชาวอเมริกันบริโภคมีหลายชนิด อาทิ ทาโก้ทำจาก
ตั๊กแตน โปรตีนบาร์ที่ทำจากแมลง ไส้เดือนรสจัด จิ้งหรีดรสพริกมะนาว และคุกกี้ที่ทำจากแป้งจิ้งหรีด สินค้าที่ได้รับความนิยมมากที่สุด
คือ แป้งจิ้งหรีด นอกจากนี้ ในสหรัฐฯ ยังมีการทำฟาร์มแมลงเพื่อการบริโภคในเชิงพาณิชย์ ซึ่งเป็นการเพาะเลี้ยงเพื่อส่งจำหน่ายให้
ร้านอาหาร และโรงงานผลิตอาหารแปรรูป

          ขณะที่ EU เป็นอีกหนึ่งตลาดส่งออกสินค้าอาหารของไทยที่มีศักยภาพ แม้ปัจจุบัน EU จะยังไม่นิยมบริโภคแมลงเป็นอาหารมากนัก แต่การที่คณะกรรมาธิการยุโรปประกาศยอมรับกฎระเบียบฉบับใหม่เกี่ยวกับอาหารที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ (Novel food) เริ่มมีผลบังคับใช้
ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 ทำให้สถานประกอบการใน EU สามารถนำเข้า Novel food ซึ่งรวมถึงแมลง ได้สะดวกขึ้น และน่าจะช่วยให้
ตลาดอาหารจากแมลงใน EU เปิดกว้างขึ้น
 
  สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครลอสแอนเจลิส
ระบุว่าผู้บุกเบิกฟาร์มเลี้ยงแมลงเพื่อการบริโภคในสหรัฐฯ เกือบทุกราย
เข้ามาศึกษาหาข้อมูลในประเทศไทยเพื่อนำไปสร้างธุรกิจฟาร์มแมลงในสหรัฐฯ
 
 

          ไทยได้เปรียบในการเป็นแหล่งผลิตและส่งออกแมลง
          ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความได้เปรียบในฐานะแหล่งผลิตและส่งออกสินค้าอาหารจากแมลงอันดับต้นๆ ของโลก
เนื่องจากภูมิประเทศอยู่ในเขตร้อนชื้น ทำให้เป็นแหล่งอาศัยของแมลงจำนวนมาก และมีแมลงที่รับประทานได้มากกว่า 300 สายพันธุ์ อาทิ
ตั๊กแตน จิ้งหรีด หนอนไม้ไผ่ หนอนดักแด้ และด้วงสาคู ซึ่งนอกจากนำมาปิ้ง ทอด ย่างแล้ว ปัจจุบันผู้ประกอบการไทยยังสามารถนำแมลง
ดังกล่าวมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารจากแมลงได้หลากหลายชนิด อาทิ จิ้งหรีดกระป๋อง ข้าวเกรียบบดจากจิ้งหรีด และน้ำพริกจิ้งหรีด
ตาแดง โดยบางส่วนสามารถแปรรูปในระดับอุตสาหกรรมเพื่อส่งออกด้วยเช่นกัน

          การทำตลาดสินค้าอาหารจากแมลง อาจเป็นเรื่องยากในระยะเริ่มต้น โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่ผู้บริโภคไม่คุ้นเคยกับการ
รับประทานแมลงมาก่อน เนื่องจากรูปร่างของแมลงดูไม่น่ารับประทาน ดังนั้น กลยุทธ์หนึ่งที่น่าสนใจ คือ การนำนวัตกรรมมาพัฒนาให้แมลง
เป็นส่วนผสมของอาหารในรูปแบบต่างๆ ที่ไม่ทำให้เห็นรูปร่างของแมลงทั้งตัว เช่น ทำเป็นแป้งเพื่อใช้ประกอบอาหารอื่นๆ เพื่อสร้างความ
คุ้นเคยให้แก่ผู้บริโภคและพร้อมเปิดรับการบริโภคอาหารที่ทำจากแมลงได้ง่ายขึ้น เมื่อผนวกกับการประชาสัมพันธ์ถึงประโยชน์ของการ
บริโภคแมลง และรสชาติที่อร่อย ย่อมทำให้ตลาดอาหารจากแมลงมีโอกาสเติบโตได้มากขึ้น นอกจากนี้ การคิดค้นเมนูอาหารที่มีแมลง
เป็นส่วนประกอบก็มีส่วนดึงดูดให้ผู้บริโภคกล้าลองรับประทานอาหารจากแมลงมากขึ้น เช่น ร้าน "บั๊กส์ คาเฟ่" ซึ่งเป็นภัตตาคารอาหาร
ฝรั่งเศสในเมืองเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา ที่นำจิ้งหรีด ตั๊กแตน ผึ้ง มด แมงป่อง และแมงมุมพิษ มาเป็นส่วนประกอบสำคัญในการทำ
อาหารฟิวชั่นที่ผสมความเป็นเอเชียกับยุโรป เช่น ส้มตำแมงป่อง ปอเปี๊ยะเนื้อมด คัพเค้กผสมจิ้งหรีด หรือโดนัทแมงมุม ที่ดึงดูดให้
นักท่องเที่ยวแวะมาชิม โดยลูกค้าที่ได้มาลองรับประทานอาหารต่างเห็นว่า การผสมผสานแมลงในเมนูดังกล่าว ทำให้กล้ารับประทาน
แมลงมากขึ้นและก็พบว่ามีรสชาติอร่อยกว่าที่คิดไว้

 
  Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น
โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ ไม่ว่าโดยทางใด