Fed : ธนาคารกลางที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในโลก  
            หลังเกิดวิกฤต Hamburger ในช่วงปลายปี 2551 แทบทุกคน
คงเคยได้ยินชื่อของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือที่คนส่วนใหญ่เรียกกัน
สั้นๆ ว่า Fed (Federal Reserve System) เนื่องจากบทบาทที่โดดเด่น
ในการเข้ามากอบกู้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านมาตรการทางการเงินต่างๆ
โดยเฉพาะมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Quantitative Easing :
QE) จำนวนมหาศาลอย่างที่ไม่เคยมีธนาคารกลางของชาติใดในโลก
ทำมาก่อน จนทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ กลับมาฟื้นตัวได้ในปัจจุบัน
          อย่างไรก็ตาม การดำเนินนโยบายดังกล่าวไม่ได้ส่งผลกระทบ
เพียงแค่เศรษฐกิจสหรัฐฯ เท่านั้น เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีขนาด
ใหญ่ที่สุดในโลกและมีการเชื่อมโยงกับระบบเศรษฐกิจของประเทศ
ต่างๆ ทั่วโลก ทั้งด้านตลาดเงิน ตลาดทุน ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์
ประกอบกับเงินดอลลาร์สหรัฐยังถูกใช้เป็นสื่อกลางในการทำธุรกรรม
ระหว่างประเทศกว่า 2 ใน 3 ของปริมาณธุรกรรมทั้งโลก ทำให้การ
ปรับเปลี่ยนทิศทางในการดำเนินนโยบายของ Fed ส่งผลกระทบ
เป็นวงกว้าง ทำให้ที่ผ่านมาทุกความเคลื่อนไหวของ Fed ได้ถูก
จับตามองอย่างใกล้ชิดจากทุกประเทศทั่วโลก จนถึงกับมีการตีความ
คำแถลงการณ์ของประธานผู้ว่าการ Fed แทบทุกตัวอักษรดังที่เห็น
มาบ้างตามสื่อต่างๆ ทั้งนี้ มีข้อสังเกตที่น่าสนใจเกี่ยวกับ Fed ซึ่งอาจ
ช่วยให้เข้าใจถึงระบบการทำงานของ Fed ได้มากขึ้น ดังนี้

          ธนาคารกลางสหรัฐฯ ไม่ได้มีแห่งเดียวเหมือนประเทศ
ส่วนใหญ่ทั่วโลก
จากการที่ประเทศสหรัฐฯ มีขนาดใหญ่ ประกอบกับ
 
  สหรัฐฯ ไม่ต้องการให้มีธนาคารกลางเพียงแห่งเดียวที่มีอำนาจแบบรวมศูนย์ซึ่งอาจถูกแทรกแซงจากรัฐบาลหรือตลาดการเงินได้ง่าย จึงใช้
หลักการกระจายอำนาจโดยแบ่งเป็น 12 เขต (Federal Reserve District) ครอบคลุมทั้ง 51 มลรัฐทั่วประเทศ โดยแต่ละเขตมีธนาคารกลาง
1 แห่งเรียกว่า Federal Reserve Bank ซึ่งเป็นเครื่องมือในการส่งผ่านนโยบายการเงินของระบบธนาคารกลางสหรัฐฯ และดูแลกิจกรรมทาง
เศรษฐกิจของแต่ละเขต ได้แก่ Philadelphia, Boston, Atlanta, New York, San Francisco, Cleveland, Richmond, Chicago, St. Louis,
Dallas, Minneapolis และ Kansas City โดยธนาคารกลางที่มีขนาดใหญ่ที่สุดคือ ธนาคารกลางแห่ง New York ซึ่งมีสินทรัพย์กว่า 60% ของ
ธนาคารกลางทั้งระบบ

          • ธนาคารกลางสหรัฐฯ ประกอบด้วย 2 หน่วยงานหลักที่เป็นกลไกในการกำหนดนโยบายการเงิน ได้แก่
             1. สภาผู้ว่าการ (Board of Governors) ประกอบด้วยผู้ว่าการ 7 คน ซึ่งประธานาธิบดีจะเป็นผู้แต่งตั้ง 2 ใน 7 คนเป็นประธาน
(Chairman) และรองประธาน (Vice Chairman) ตามความเห็นชอบของวุฒิสภา ซึ่งตำแหน่งนี้เทียบได้กับผู้ว่าการและรองผู้ว่าการธนาคาร
กลางของประเทศอื่น มีวาระในการดำรงตำแหน่ง 4 ปีและสามารถต่ออายุได้ ทั้งนี้ ผู้ว่าการแต่ละคนมีวาระยาวนานถึง 14 ปี และไม่สามารถ
ดำรงตำแหน่งต่อได้เมื่อครบวาระ นอกจากนี้ ผู้ว่าการต้องมาจากเขตที่แตกต่างกัน เพื่อป้องกันมิให้บางเขตมีอิทธิพลมากเกินไปในการกำหนด
นโยบายการเงิน (ปัจจุบันมีผู้ว่าการเพียง 5 คน โดยมีนางเจเน็ต เยลเลนเป็นประธานและมีนายสแตนลีย์ ฟิชเชอร์เป็นรองประธาน ขณะที่อีก
2 ตำแหน่งที่ว่างยังอยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณา) ทั้งนี้ สภาผู้ว่าการนอกจากมีหน้าที่ควบคุมดูแลธนาคารกลางทั้ง 12 เขต และดูแล
เศรษฐกิจของประเทศโดยรวมแล้ว ยังมีหน้าที่สำคัญในการใช้เครื่องมือทางการเงินสองชนิดคือ อัตราดอกเบี้ยซื้อลด (Discount Rate) และ
อัตราเงินสดสำรองตามกฎหมาย (Required Reserve Ratio)
             2. คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (The Federal Open Market Committee : FOMC) คณะกรรมการ FOMC
มีทั้งหมด 12 คน โดย 7 คนมาจากสภาผู้ว่าการโดยตำแหน่ง ทั้งนี้ ประธานสภาผู้ว่าการจะดำรงตำแหน่งเป็นประธาน FOMC ด้วย ขณะที่
รองประธาน FOMC คือผู้ว่าการธนาคารกลางของ New York โดยตำแหน่ง ในส่วนอีก 4 ตำแหน่งที่เหลือจะมาจากผู้ว่าการของธนาคารกลาง
11 เขต โดยหมุนเวียนกันดำรงตำแหน่งครั้งละ 1 ปี ทั้งนี้ หน้าที่หลักในการดำเนินนโยบายการเงินของ FOMC คือ การซื้อขายหลักทรัพย์
ระยะสั้นของภาครัฐ (Treasury Security) ผ่าน Open Market Operation ซึ่งจะดำเนินการโดยผู้ว่าการธนาคารกลาง New York (ปัจจุบันคือ
นายวิลเลี่ยม ดัดลี่ย์) ตามมติของ FOMC เป็นหลัก ซึ่งถือเป็นเครื่องมือทางการเงินที่สำคัญที่สุดและใช้บ่อยที่สุดของ Fed ในปัจจุบัน
                 เป็นที่น่าสังเกตว่า การที่สภาผู้ว่าการเป็นเสียงส่วนใหญ่ในคณะกรรมการ FOMC จะช่วยให้การดำเนินนโยบายของทั้งสอง
หน่วยงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อควบคุมปริมาณเงิน และปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Federal Funds Rate)
ให้อยู่ในช่วงที่กำหนด

          • ธนาคารกลางสหรัฐฯ มีความเป็นอิสระจากรัฐบาล แม้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ และวุฒิสภาจะมีอำนาจแต่งตั้งผู้ว่าการทุกคน
แต่การที่ผู้ว่าการแต่ละคนมีวาระถึง 14 ปี ขณะที่ประธานาธิบดีมีวาระดำรงตำแหน่งสูงสุดเพียง 8 ปี ทำให้รัฐบาลแต่ละชุดสามารถแต่งตั้ง
ผู้ว่าการที่หมดวาระได้มากที่สุดเพียง 2-3 คนเท่านั้น นอกจากนี้ Fed ยังมีความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายการเงินต่างๆ โดยไม่ต้องผ่าน
ความเห็นชอบจากสภาคองเกรส มีเพียงหน้าที่ต้องรายงานการดำเนินงาน (Testimony) ต่อสภาคองเกรสเป็นระยะเท่านั้น อีกทั้ง Fed
ไม่ได้รับเงินทุนสนับสนุนใดๆ จากรัฐบาล ทำให้มีความเป็นอิสระค่อนข้างมาก โดย Fed จะมีหน้าที่ส่งกำไรจากการดำเนินงานให้กับรัฐบาล
กลาง (U.S. Treasury) หลังหักเงินปันผล 6% ที่จ่ายให้สมาชิกแล้ว ทั้งนี้ รายได้หลักของ Fed มาจากการดำเนินการซื้อขายหลักทรัพย์
ใน Open Market Operation การให้บริการทางการเงิน และอัตราดอกเบี้ยซื้อลด (Discount Rate) ที่ให้กู้แก่ธนาคารพาณิชย์ เป็นต้น

          • ธนาคารกลางสหรัฐฯ ถือหุ้นบางส่วนโดยธนาคารพาณิชย์ ธนาคารพาณิชย์ระดับประเทศ (National Chartered Banks)
ทุกแห่งต้องเข้าเป็นสมาชิกธนาคารกลางในเขตที่ธนาคารของตนตั้งอยู่ทั้งนี้ ธนาคารสมาชิกจะถือหุ้นจำนวนหนึ่งของธนาคารกลางเพื่อ
แสดงถึงสมาชิกภาพของระบบธนาคารกลางซึ่งหุ้นดังกล่าวไม่สามารถซื้อขายได้ แต่ธนาคารสมาชิกจะได้รับเงินปันผล 6% ต่อปี นอกจากนี้
หุ้นของธนาคารกลางจะไม่ขายให้กับประชาชน ชาวต่างชาติ หรือธนาคารที่ไม่ได้อยู่ในสหรัฐฯ
             ในช่วงวิกฤต Hamburger บทบาทของ Fed โดยเฉพาะคณะกรรมการ FOMC ได้ดำเนินนโยบายเชิงรุกมากขึ้น จากเดิมที่จะเข้า
ซื้อขายเพียงหลักทรัพย์ระยะสั้นของภาครัฐเป็นหลัก เป็นได้เพิ่มการซื้อขายหลักทรัพย์ของภาคเอกชนด้วย โดยเฉพาะหลักทรัพย์ที่มี
อสังหาริมทรัพย์หนุนหลัง (Mortgage-backed Securities : MBS) และซื้อหลักทรัพย์ระยะยาวของภาครัฐมากขึ้น ซึ่งมาตรการเพิ่มเติม
ดังกล่าวเป็นที่รู้จักกันในชื่อมาตรการ QE มีวัตถุประสงค์เพื่อกดอัตราดอกเบี้ยระยะยาวให้ต่ำลงและอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ ทำให้เศรษฐกิจ
สหรัฐฯ ฟื้นตัวต่อเนื่องจนกลับมาขยายตัวกว่า 2% และมีอัตราว่างงานลดลงเหลือเพียง 5% ในปัจจุบัน จนทำให้ FOMC ได้ยุติการเพิ่มวงเงิน
ในมาตรการ QE ตั้งแต่ปลายปี 2557 และเริ่มต้นการทำให้นโยบายทางการเงินกลับเข้าสู่ภาวะปกติหรือ Normalization โดยล่าสุด FOMC
ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจาก 0-0.25% เป็นที่ 0.25-0.5% เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2558 ซึ่งเป็นการปรับขึ้นครั้งแรกในรอบ 9 ปี
             เป็นที่น่าสังเกตว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาการดำเนินนโยบายการเงินของ Fed โดยเฉพาะมาตรการ QE ได้สร้างความผันผวนให้กับ
เศรษฐกิจโลกเป็นอย่างมาก ทั้งตลาดเงิน ตลาดทุน อัตราแลกเปลี่ยน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งปัจจุบันการที่ Fed เริ่มทำ Normalization
แม้จะทำให้เศรษฐกิจบางประเทศขาดเสถียรภาพในระยะสั้น และทำให้ราคาสินทรัพย์ทั่วโลกปรับลดลงจากสภาพคล่องที่หายไป แต่หากมอง
ในแง่ดีการปรับทิศทางการดำเนินนโยบายดังกล่าวก็อาจเป็นการช่วยปรับสมดุลของตลาดและเศรษฐกิจโลกให้สะท้อนอุปสงค์และอุปทาน
ที่แท้จริงมากขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจโลกในระยะยาวได้
 
  Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น
โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ ไม่ว่าโดยทางใด