ตลาดสินค้าแฟชั่นและความงาม...อีกโอกาสของไทยในตลาดมุสลิมโลก  
   
           ปัจจุบันชาวมุสลิมหรือประชากรที่นับถือศาสนาอิสลามเป็นประชากรกลุ่มใหญ่อันดับ 2 ของโลก (รองจากผู้นับถือศาสนา
คริสต์) ด้วยจำนวนประชากรเกือบ 1,600 ล้านคนหรือราวร้อยละ 23 ของประชากรทั้งหมดของโลกในปี 2553 นอกจากนี้
ชาวมุสลิมยังเป็นประชากรกลุ่มที่มีอัตราขยายตัวสูงสุด จนคาดว่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 2,800 ล้านคน หรือราวร้อยละ
30 ของประชากรทั้งหมดของโลกในปี 2593 ซึ่งใกล้เคียงกับจำนวนผู้นับถือศาสนาคริสต์ที่คาดว่าจะเพิ่มจำนวนขึ้นเป็น 2,900 ล้านคนในปีเดียวกัน ประชากรมุสลิมจึงเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีศักยภาพสูงในการเติบโต ซึ่งผู้ผลิตสินค้าและบริการต่างให้ความ
สนใจ
 
  คาดการณ์ประชากรมุสลิมทั่วโลก  
  ที่มา : Pew Research Center, April 2015  
           อย่างไรก็ตาม เมื่อเอ่ยถึงสินค้าสำหรับผู้บริโภคชาวมุสลิม สิ่งแรกที่ทุกคนจะนึกถึงคือ อาหารฮาลาล แต่โอกาสในตลาด
สำหรับผู้บริโภคชาวมุสลิมไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะสินค้าอาหารเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสินค้าหรือบริการใดๆ ที่ไม่ขัดต่อบัญญัติของ
ศาสนาอิสลาม "เก็บตกจากต่างแดน" ฉบับนี้ จึงขอเสนอตัวอย่างที่น่าสนใจเกี่ยวกับพัฒนาการของสินค้าสำหรับชาวมุสลิมใน
ต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าแฟชั่นและความงาม ซึ่งอาจช่วยจุดประกายให้ผู้ประกอบการเล็งเห็นโอกาสหรือช่องทาง
ในการพัฒนาสินค้าให้สอดคล้องกับตลาดดังกล่าวต่อไป

         ชุดกีฬาสำหรับชาวมุสลิม
         กระแสรักสุขภาพและความนิยมในการออกกำลังกายที่แพร่หลายไปทั่วโลก และการที่ผู้ผลิตเสื้อผ้าชุดกีฬาแบรนด์ต่างๆ หันมาให้ความสำคัญมากขึ้นกับแฟชั่น ส่งผลให้ตลาดเสื้อผ้าชุดกีฬาเติบโตขึ้นมาก สังเกตจากอัตราขยายตัวของมูลค่าตลาด
เสื้อผ้าชุดกีฬาของโลกที่ขยายตัวถึงเกือบร้อยละ 7 ในปี 2557 สูงกว่าอัตราขยายตัวของตลาดเครื่องนุ่งห่มที่ร้อยละ 4 ในปี
เดียวกัน ซึ่งที่ผ่านมาเสื้อผ้าชุดกีฬาเป็นตลาดของผู้ชายเป็นส่วนใหญ่ แต่ในระยะหลังเจ้าของแบรนด์เสื้อผ้าได้หันมาสนใจ
ขยายฐานลูกค้าที่เป็นผู้หญิงมากขึ้น จึงออกผลิตภัณฑ์ทั้งชุดกีฬาและชุดที่มีกลิ่นอายของชุดกีฬา (Sports-inspired Apparel) สำหรับผู้หญิงมากขึ้น อาทิ Nike ร่วมมือกับแบรนด์ Sacai ของญี่ปุ่น ออก Collection ชุดกีฬาสำหรับผู้หญิง และเปิดสาขาใหม่
สำหรับจำหน่ายชุดกีฬาสำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะในลอนดอน แคลิฟอร์เนีย และเซี่ยงไฮ้ รวมทั้งออกแคมเปญ Better For It
ในเดือนเมษายน 2558 เพื่อกระตุ้นให้ผู้หญิงหันมาออกกำลังกายมากขึ้น และเชื่อว่าสินค้าในกลุ่มผู้หญิงจะช่วยเพิ่มยอดขาย
ให้ Nike ได้อีก 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2560
         แม้กระแสนิยมการออกกำลังกายจะขยายไปทั่วโลก แต่ที่ผ่านมาผู้หญิงชาวมุสลิมมักมีข้อจำกัดในการออกกำลังกาย
และเล่นกีฬา ทั้งจากวิถีปฏิบัติของชาวมุสลิมเอง เช่น การห้ามมิให้ชาย-หญิงถูกเนื้อต้องตัวกัน จนบางครั้งทำให้ชาวมุสลิม
ไม่สะดวกใจที่จะออกกำลังกายในที่สาธารณะที่มีผู้ชาย-ผู้หญิงปะปนกัน หรือในบางประเทศมุสลิมกำหนดให้การออกกำลังกาย
ลักษณะดังกล่าวเป็นข้อห้าม และจากข้อติดขัดของกติกากีฬาในระดับสากลที่กำหนดกฎการแต่งกายของนักกีฬาไว้ไม่
สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวมุสลิม เช่น กีฬาวอลเลย์บอล สหพันธ์วอลเลย์บอลนานาชาติ (Federation Internationale
de Volleyball : FIVB) กำหนดให้นักกีฬาต้องสวมกางเกงขาสั้น กีฬาว่ายน้ำ สหพันธ์ว่ายน้ำนานาชาติ (Federation Internationale de Natation : FINA) กำหนดให้ชุดนักกีฬาว่ายน้ำหญิงต้องไม่ปิดคอ ไหล่ หรือยาวกว่าหัวเข่า และการ
บันทึกสถิติในการแข่งขันจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อนักกีฬาสวมชุดว่ายน้ำที่ถูกต้องตามกฎของ FINA เท่านั้น ซึ่งขัดกับข้อปฏิบัติ
ของศาสนาอิสลามที่กำหนดให้ผู้หญิงต้องปกปิดร่างกายทั้งหมดนอกจากหน้าและมือ เมื่ออยู่ต่อหน้าผู้ชายคนอื่นที่ไม่ใช่บุคคล
ในครอบครัว และต้องสวมชุดซึ่งไม่รัดรูปและไม่บางจนทำให้เห็นถึงรูปร่างของผู้สวมใส่ ข้อจำกัดต่างๆ เหล่านี้ทำให้ผู้หญิง
ชาวมุสลิมมีโอกาสจำกัดในการเล่นกีฬา
         อย่างไรก็ตาม พัฒนาการการออกแบบชุดกีฬาสำหรับผู้หญิงได้ก้าวไปสู่ตลาดชุดกีฬาที่เหมาะสำหรับผู้หญิงชาวมุสลิม
มีตัวอย่างของบริษัท Ahiida ในประเทศออสเตรเลีย ที่เริ่มผลิตชุดกีฬาสำหรับผู้หญิงชาวมุสลิม โดย Aheda Zanetti ผู้ก่อตั้ง
แบรนด์ Ahiida ได้รับแรงบันดาลใจจากการที่เห็นหลานสาวของตนเล่นกีฬา Netball (กีฬาคล้ายบาสเกตบอล มีผู้แข่งขัน
ทีมละ 7 คน) โดยสวมฮิญาบซึ่งทำให้เล่นได้ไม่สะดวกนัก จึงมีความคิดจะผลิตชุดกีฬาที่สวมใส่สะดวก เหมาะกับการเล่น
กีฬาและไม่ขัดต่อบทบัญญัติของศาสนาอิสลามขึ้น จนต่อมาได้พัฒนามาเป็นชุดว่ายน้ำแบรนด์ "Burqini" ที่ถูกออกแบบ
มาให้สวมใส่สะดวก เหมาะกับการเล่นกีฬา และเน้นความสุภาพตามหลักของศาสนาอิสลาม โดยชุดดังกล่าวผลิตจากเส้นใย
Polyester คุณภาพสูงที่มีน้ำหนักเบาและมีคุณสมบัติป้องกันน้ำซึมผ่าน (Water Repellent) ทำให้ผ้าไม่แนบเนื้อจึงเป็นชุด
ที่ไม่เปิดเผยหรือเน้นรูปร่างของผู้สวมใส่ นอกจากนี้ บริษัท Ahiida ยังออกแบบฮิญาบแบรนด์ "Hijood" ที่เหมาะกับการ
แข่งกีฬา โดยออกแบบให้เป็น Hood ที่แนบติดกับใบหน้าและคาง และมีถุงด้านหลังสำหรับรวบผมเก็บให้มิดชิด ซึ่ง Ruqaya
Al-Ghasra นักกรีฑาชาวบาห์เรนได้สวม "Hijood" ลงแข่งวิ่ง 200 เมตรหญิงในกีฬาเอเชียนเกมส์และได้รับเหรียญทอง และ
ได้เผยความรู้สึกต่อ "Hijood" ว่าเป็นฮิญาบที่ตอบสนองความต้องการของเธอในการสวมใส่เครื่องแต่งกายที่สุภาพ และ
ขณะเดียวกันยังช่วยให้เคลื่อนไหวร่างกายได้อย่างคล่องตัว ทำให้เธอทำผลงานได้ดีขึ้น

         เครื่องสำอางสำหรับชาวมุสลิม
         นอกจากแฟชั่นเครื่องแต่งกายแล้ว ผู้หญิงชาวมุสลิมก็ให้ความสนใจกับเรื่องความงามและการดูแลร่างกาย เพียงแต่ต้อง
ปฏิบัติตนให้อยู่ในหลักของศาสนาเท่านั้น แนวคิดของเครื่องสำอางสำหรับชาวมุสลิมจึงเป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น
ซึ่งปัจจุบันมีเครื่องสำอางสำหรับชาวมุสลิมหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นรองพื้น แป้งปัดแก้ม ลิปสติก ผลิตภัณฑ์ชะลอวัย (Anti-agers) ผลิตภัณฑ์ช่วยให้ผิวขาว (Skin Whitening Products) แต่ส่วนใหญ่ยังเป็นแบรนด์ท้องถิ่นของแต่ละประเทศ อาทิ
Wardah ของอินโดนีเซีย ที่ผลิตเครื่องสำอางสำหรับการแต่งหน้าและผลิตภัณฑ์ดูแลผิว IBA Cosmetics ของอินเดีย ที่มีผลิตภัณฑ์ครอบคลุมทั้งผลิตภัณฑ์ดูแลผิว ผลิตภัณฑ์ที่ใช้กับเส้นผม ใบหน้า ลำตัว รวมถึงน้ำหอม OnePure Beauty
จากดูไบ ที่ผลิตผลิตภัณฑ์ดูแลผิวระดับพรีเมียม และเครื่องสำอางแบรนด์ไทยอย่าง PIMMARA (พิมรา) ซึ่งมีผลิตภัณฑ์
ทั้งในกลุ่มชะลอวัย แก้ปัญหาสิว และผลิตภัณฑ์ช่วยให้ผิวขาว โดยชูจุดเด่นที่การใช้สารสกัดจากพืชธรรมชาติ อาทิ ราก
ชะเอมเทศ ฟักข้าว
 
           แม้จะยังมีการถกเถียงในรายละเอียด แต่โดยหลักกว้างๆ เครื่องสำอางสำหรับชาวมุสลิมจะต้องไม่มีส่วนประกอบที่ขัดต่อ
บัญญัติของศาสนา อาทิ ส่วนประกอบของสุกร เลือดของสัตว์
ทุกชนิดหรือส่วนประกอบของสัตว์ที่ไม่ได้ถูกเชือดตามหลัก
ศาสนาอิสลาม รวมทั้งไม่มีสุราหรือแอลกอฮอล์ ในกรณีที่ใช้
บริโภคหรือใช้ภายในช่องปาก
 
  ที่มา : รวบรวมจาก www.halinst.psu.ac.th และ http://www.
vietbeautyshow.com/Portals/6/iHalal cosmetics and personal
care A market with future potential.pdf
 
           นอกจากนี้ ยังมีผลิตภัณฑ์ประเภทหนึ่งที่ช่วยปลดล็อกข้อจำกัดของผู้หญิงชาวมุสลิม นั่นคือ ยาทาเล็บ INGLOT รุ่น
O2M จากประเทศโปแลนด์ ที่มีคุณสมบัติพิเศษคือ ล้างออกง่าย และเมื่อทาลงไปแล้วน้ำสามารถซึมผ่านชั้นของสีลงไปที่
เล็บได้ เนื่องจากชาวมุสลิมจะต้องทำละหมาดวันละ 5 ครั้ง และผู้ที่จะละหมาดต้องชำระล้างร่างกายให้สะอาดก่อนทำละหมาด
ทุกครั้ง ซึ่งตามบทบัญญัติของศาสนาอิสลามนั้น ผู้ละหมาดจะต้องล้างมือทั้งสองข้างจนถึงข้อศอกให้สะอาด โดยจำเป็นจะ
ต้องล้างให้ทั่วเส้นขนและผิวหนัง รวมถึงซอกเล็บ หากน้ำไปไม่ถึงส่วนของร่างกายที่ต้องชำระล้างจะถือว่าการชำระล้างนั้น
ไม่ถูกต้อง ซึ่งการทายาทาเล็บโดยทั่วไปจะมีผลให้เล็บไม่ได้สัมผัสน้ำ (เพราะถูกยาทาเล็บเคลือบอยู่) ซึ่งไม่ถูกต้องตาม
หลักปฏิบัติ ผู้หญิงชาวมุสลิมจึงต้องล้างยาทาเล็บออกให้สะอาดทุกครั้งก่อนทำละหมาด ซึ่งไม่สะดวกในทางปฏิบัติ ยาทาเล็บ
ที่น้ำสามารถซึมผ่านได้จึงตอบโจทย์ของผู้หญิงชาวมุสลิมได้เป็นอย่างดี
         ที่ผ่านมาทั้งชุดกีฬาและเครื่องสำอางต่างก็เป็นสินค้าที่ไทยมีศักยภาพและสามารถส่งออกไปจำหน่ายในหลายประเทศ โดยเฉพาะเครื่องสำอาง ที่ไทยมีจุดเด่นจากการใช้สมุนไพรและสารสกัดจากธรรมชาติ เพราะนอกจากจะตอบโจทย์ผู้บริโภค
ชาวมุสลิมที่ต้องหลีกเลี่ยงการใช้สารสกัดจากสัตว์บางชนิดแล้ว ยังตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ไม่ใช่ชาวมุสลิมกลุ่มที่นิยมใช้สินค้า
อินทรีย์ (Organics) หรือผู้บริโภคที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
         แม้การเข้าสู่ตลาดสินค้าสำหรับชาวมุสลิมจะค่อนข้างยาก เพราะมาตรฐานของแต่ละประเทศแตกต่างกันในรายละเอียด
และสินค้าหลายชนิดที่ไม่ใช่อาหารก็ยังขาดหลักปฏิบัติที่ชัดเจนในระดับสากล แต่ตลาดสินค้าสำหรับชาวมุสลิมก็จัดเป็นตลาด
ศักยภาพที่ไม่ควรมองข้าม ซึ่งความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับหลักปฏิบัติและข้อห้ามต่างๆ ของศาสนาอิสลามถือเป็นพื้นฐาน
สำคัญที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการออกแบบ หรือผลิตสินค้าได้อย่างเหมาะสมและสามารถครองใจผู้บริโภคชาวมุสลิมได้เป็น
อย่างดี
 
  Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์
ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ
ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด