นวัตกรรมไทยกับการระดมทุนผ่าน Crowdfunding  
   
            เมื่อประเทศใหม่ๆ ที่มีต้นทุนการผลิตต่ำเข้าสู่สนามแข่งขันทางการค้า ผู้เล่นรายเดิมในตลาดอย่างไทยจึงต้องปรับตัว
รับความท้าทายด้วยการพยายามลดต้นทุน เพื่อรักษาสถานะของการเป็นฐานการผลิตสินค้าของอาเซียน ซึ่งที่ผ่านมาการให้
ความสำคัญกับการพัฒนาสินค้าและกระบวนการผลิตเล็กๆ น้อยๆ เพื่อลดต้นทุนการผลิตสินค้าชนิดเดิม ทำให้ผู้ประกอบการ
ไทยละเลยความสำคัญของการลงทุนค้นคว้านวัตกรรมอย่างจริงจัง และกลายเป็นข้อจำกัดของการยกระดับการผลิตสินค้าไทย
สู่อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูง สะท้อนให้เห็นได้จากการส่งออกสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญ
ของไทย ที่มีมูลค่าราว 1.2 ล้านล้านบาทในปี 2557 คิดเป็นเพียง 1 ใน 5 ของรายได้ของหนึ่งบริษัทนวัตกรรมชั้นนำของโลก
อย่าง Apple ที่สูงราว 6 ล้านล้านบาทในปีเดียวกัน
          แม้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนต่างเห็นความสำคัญของการสร้างนวัตกรรม แต่อุปสรรคหลายด้านกดดันให้การพัฒนา
เป็นไปค่อนข้างช้า และเน้นแก้ปัญหาเดิมๆ จึงไม่ก่อให้เกิดนวัตกรรมที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสำคัญ หนึ่งในข้อจำกัดสำคัญ
ของการทำนวัตกรรมในเชิงพาณิชย์คือ การขาดแคลนเงินทุน เนื่องจากของใหม่หรือการเปลี่ยนแปลงมักขัดแย้งกับความรู้สึก
ของคนทั่วไป ทำให้การยอมรับในสังคมมีน้อย ในช่วงเริ่มต้นเปิดตัวสินค้านวัตกรรม คนทั่วไปมักคิดว่าสิ่งที่คุ้นเคยคือสิ่งที่ดี
อยู่แล้ว ประกอบกับเจ้าของนวัตกรรมส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ไม่มีประสบการณ์ในการทำธุรกิจ ซึ่งข้อจำกัดดังกล่าวส่งผลให้การ
ทำตลาดสินค้านวัตกรรมเชิงพาณิชย์มีโอกาสประสบความสำเร็จค่อนข้างต่ำ นอกจากนั้น ธุรกิจที่เพิ่งเริ่มต้นมักหาผู้สนับสนุน
ด้านเงินทุนได้ยาก ไม่ว่าจะเป็นเงินกู้จากสถาบันการเงินหรือการระดมทุนจากผู้ร่วมทุนผ่าน Venture Capital เนื่องจากขาด
สินทรัพย์ค้ำประกันการกู้ยืม จนกลายเป็นข้อจำกัดที่ทำให้ตลาดสินค้านวัตกรรมในหลายๆ ประเทศเติบโตช้า
          Crowdfunding เป็นทางออกล่าสุดของการหาแหล่งเงินทุนสำหรับผู้ประกอบการที่มั่นใจว่าสินค้านวัตกรรมของตน
สามารถดึงดูดความสนใจของสังคมได้ "Crowdfunding" หรือการระดมทุนของกิจการ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจ
เกิดใหม่ (Startup) จากบุคคลทั่วไปหรือนักลงทุนรายย่อยที่สนใจในสินค้านวัตกรรมนั้น และพร้อมสนับสนุน
เงินทุนเพื่อให้มีการผลิตสินค้าออกสู่ตลาด
โดยสินค้านวัตกรรมที่ประสบความสำเร็จในการระดมทุนผ่าน Crowdfunding
มักมีจุดเด่นที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้ชัดเจน ในขณะเดียวกัน ธุรกิจก็อาจใช้ Crowdfunding เป็นเครื่องมือ
ในการทดสอบความสนใจของตลาดต่อสิ่งประดิษฐ์ของตน ทั้งนี้ Crowdfunding มักสื่อสารและเปิดช่องทางการระดมทุนผ่าน
ทางอินเทอร์เน็ต เนื่องจากเป็นการระดมทุนในวงกว้าง โดยมี Crowdfunding Platform ซึ่งอาจจะอยู่ในรูปแบบของเว็บไซต์
หรือ Application เป็นประตูเชื่อมโยงระหว่างเจ้าของนวัตกรรม หรือบริษัทที่เข้ามาระดมทุนกับบุคคลทั่วไปที่สนใจในสินค้านั้น

          รูปแบบ Crowdfunding แบ่งออกเป็น 4 ลักษณะ คือ
           Donation-Based Crowdfunding เป็นการบริจาคเงิน โดยผู้บริจาคไม่ได้รับผลตอบแทนโดยตรงจากเจ้าของ
นวัตกรรม
          Reward-Based Crowdfunding เป็นรูปแบบการระดมทุนผ่าน Crowdfunding ที่รู้จักกันมากที่สุด โดยผู้ลงทุน
จะได้รับสินค้าหรือสิทธิประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับสินค้าที่กิจการจะผลิตในอนาคต ซึ่งอาจเปรียบเทียบได้กับการชำระเงิน
ล่วงหน้าเพื่อซื้อสินค้า ทั้งนี้ Crowdfunding Platform ที่เป็นตัวกลางในการระดมทุนในรูปแบบนี้ที่สำคัญคือเว็บไซต์
Kickstarter และเว็บไซต์ Indiegogo ตัวอย่างสินค้าที่ประสบความสำเร็จในการระดมทุนผ่านช่องทางนี้ อาทิ Coolest Cooler
(กระติกน้ำแข็งสารพัดประโยชน์ ประกอบด้วยอุปกรณ์อำนวยความสะดวกในการปิกนิก ทั้งเครื่องปั่นน้ำผลไม้ ลำโพงกันน้ำ
ที่เชื่อมต่อกับ Bluetooth ไฟส่องสว่างแบบ LED ช่องเสียบ USB สำหรับชาร์จอุปกรณ์ไฟฟ้า ช่องเก็บจานและมีดปิกนิก) โดย
บริษัทสามารถระดมทุนผ่านเว็บไซต์ Kickstarter ได้สูงถึง 13.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 430 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าที่
บริษัทตั้งเป้าหมายไว้ตอนเริ่มต้นกว่า 250 เท่า ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสินค้านวัตกรรมที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคเป็นปัจจัยสำคัญที่
กำหนดความสำเร็จในการระดมทุนในรูปแบบนี้ สำหรับเว็บไซต์ตัวกลางที่เป็นของไทยในปัจจุบันอาทิ เว็บไซต์ Perdmurk
และเว็บไซต์ DreamDriveProject นับว่ายังได้รับความสนใจเฉพาะกลุ่ม ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะสินค้านวัตกรรมของไทย
ยังมีอยู่น้อยมาก ประกอบกับบุคคลทั่วไปยังไม่ค่อยคุ้นเคยกับการระดมทุนในรูปแบบนี้
          Peer-to-Peer Lending Crowdfunding หรือการที่ธุรกิจกู้ยืมจากผู้ลงทุนรายย่อย และจะคืนเงินพร้อมดอกเบี้ย
ตามกำหนดเวลาที่ตกลงกันไว้ เป็นรูปแบบที่สามารถระดมทุนได้มากที่สุดราวร้อยละ 70 ของเงินที่ระดมผ่าน Crowdfunding
ทั้งหมดในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดหลักของการระดมทุนผ่าน Crowdfunding ของโลก อย่างไรก็ตาม ธุรกิจที่จะระดมทุนใน
รูปแบบนี้ต้องมีสินทรัพย์และความน่าเชื่อถือที่สามารถอ้างอิงได้ จึงเหมาะกับธุรกิจที่ดำเนินกิจการมาระยะหนึ่งแล้ว
          Equity Crowdfunding คือ การระดมทุนโดยการเสนอหุ้นตอบแทนแก่ผู้ลงทุน และผู้ลงทุนรับผลตอบแทนใน
รูปของเงินปันผลและส่วนแบ่งกำไร โดยรูปแบบการระดมทุนนี้เหมาะสำหรับธุรกิจที่ดำเนินกิจการมาแล้วเช่นเดียวกับการ
ระดมทุนแบบ Peer-to-Peer Lending ทั้งนี้ ล่าสุดคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ได้ประกาศข้อกำหนด
เกี่ยวกับการเสนอขายหลักทรัพย์ที่ผ่านระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ อาทิ หลักเกณฑ์การเสนอขายหลักทรัพย์ ช่องทาง
การเสนอขาย คุณสมบัติและหน้าที่ของตัวกลางระหว่างกิจการกับผู้ลงทุน มูลค่าลงทุน เพื่อให้เหมาะสมสำหรับการทำ Equity
Crowdfunding ในประเทศไทย โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2558 อย่างไรก็ตาม จนถึงเดือนกรกฎาคม
ที่ผ่านมา ยังไม่มีบริษัทใดแสดงความต้องการที่จะระดมทุนผ่านรูปแบบนี้
          การเติบโตของ Crowdfunding ช่วยเพิ่มโอกาสการหาเงินทุนในการพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ของผู้ประกอบการไทย แต่ใน
โลกไร้พรมแดนเช่นในปัจจุบัน ผู้สนใจมีโอกาสลงทุนในนวัตกรรมของโลก ไม่ใช่เพียงของไทย สินค้านวัตกรรมที่ต้องการ
เงินทุนจึงต้องแข่งขันกันในระดับโลกเพื่อดึงดูดความสนใจของสังคม เพื่อสร้างโอกาสรับเงินสนับสนุนก้อนโต อย่างไรก็ตาม
แม้การมี Crowdfunding จะสามารถตอบโจทย์ด้านเงินทุนของการเริ่มต้นการสร้างสินค้านวัตกรรม แต่ยังไม่เพียงพอในการ
ตอบโจทย์ใหญ่ของการพัฒนานวัตกรรมของชาติ Crowdfunding จึงยังไม่ใช่คำตอบสุดท้าย เพราะนวัตกรรมดีๆ ไม่ได้ขึ้นอยู่
กับงบประมาณของโครงการเท่านั้น แต่ต้องเริ่มต้นจากการค้นพบความลับของความต้องการของผู้บริโภค จนสามารถหาวิธี
ตอบโจทย์ได้ตรงใจสังคมเป็นสำคัญ