IUU นั้นสำคัญไฉน…เหตุใดไทยต้องปฏิบัติตาม  
   
            ประเด็นหนึ่งที่ตกเป็นข่าวใหญ่ตามสื่อต่างๆ ของไทยในช่วงที่ผ่านมา คือ การที่เรือประมงหลายลำของไทยพร้อมใจกัน
หยุดทำการประมง หลังจากพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2558 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา เนื่องจาก
ไม่สามารถปฏิบัติตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ขณะที่รัฐบาลประกาศเดินหน้าบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ซึ่งการ
ดำเนินการดังกล่าวของรัฐบาลถือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการแก้ไขปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน
และไร้การควบคุม (Illegal Unreported and Unregulated Fishing หรือ IUU Fishing) ที่ทางสหภาพยุโรป (European
Union : EU) ได้ประกาศให้ใบเหลืองแก่ไทยตั้งแต่เดือนเมษายน 2558 "Share โลกเศรษฐกิจ" ฉบับนี้จึงขอนำเสนอประเด็น
เกี่ยวกับ IUU ที่น่าสนใจ ดังนี้
          ความเป็นมาของ IUU : ไม่ใช่แค่มาตรฐานของ EU แต่เป็นมาตรฐานสากล
             ความจริงแล้วประเด็น IUU ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่ริเริ่มโดยองค์การสหประชาชาติตั้งแต่ปี 2525 และ EU
ได้ให้ความสำคัญและพยายามผลักดันมาโดยตลอด เพราะการทำประมงแบบ IUU อาทิ การทำประมงในเขตหวงห้าม
การทำประมงในช่วงที่ห้ามทำประมง การใช้อุปกรณ์ที่ไม่ได้รับอนุญาต รวมถึงการไม่รายงานข้อมูลการทำประมงหรือรายงาน
ข้อมูลเท็จถือเป็นปัญหาสำคัญของโลก เพราะนอกจากจะทำลายความยั่งยืนของทรัพยากรสัตว์น้ำทางทะเลแล้ว ยังทำลาย
ระบบนิเวศทางทะเล รวมถึงความหลากหลายทางชีวภาพในทะเล ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประชากรโลกทั้งทางตรงและ
ทางอ้อม ที่ผ่านมามีรายงานว่า สินค้าที่ได้จากการทำประมงแบบ IUU ทั่วโลกมีมูลค่าสูงถึงปีละราว 1 หมื่นล้านยูโร EU
ในฐานะผู้นำเข้าสินค้าประมงรายใหญ่ที่สุดของโลกจึงออกระเบียบว่าด้วยการป้องกัน ต่อต้าน และขจัดการ
ทำประมงแบบ IUU อย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี 2551 และกำหนดให้มีผลบังคับใช้กับสินค้าประมงที่ EU นำเข้า
ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553

          สาระสำคัญของระเบียบ IUU ของ EU : ถูกต้อง โปร่งใส เพื่อการประมงอย่างยั่งยืน
             - สินค้าประมงที่ได้จากการจับ (ยกเว้นสัตว์น้ำจืด ปลาสวยงาม สัตว์น้ำที่ได้จากการเพาะเลี้ยง และหอยสองฝา
บางชนิด) ทั้งที่แปรรูปและไม่ได้แปรรูป ที่จะนำเข้ามาหรือส่งออกจาก EU ต้องมีใบรับรองการจับสัตว์น้ำที่ออกโดยหน่วยงาน
ที่รับผิดชอบของประเทศเจ้าของเรือธง (สำหรับไทย คือ กรมประมง) เพื่อรับรองว่า การจับสัตว์น้ำนั้นเป็นไปตามกฎหมาย
ข้อบังคับ ตลอดจนมาตรการอนุรักษ์และบริหารจัดการระดับนานาชาติ
             - เรือที่ต้องสงสัยว่าทำประมงแบบ IUU จะถูกใส่ชื่อไว้ในรายชื่อของเรือประมงที่ทำประมงแบบ IUU และมีมาตรการ
ลงโทษ อาทิ เพิกถอนใบอนุญาตจับสัตว์น้ำ ห้ามค้าสินค้าจากเรือประมงนั้นใน EU ตลอดจนการห้ามไม่ให้เรือนั้นเข้าสู่ท่าเรือ
ของประเทศสมาชิก EU
             - ประเทศที่ไม่ให้ความร่วมมือหรือไม่สามารถปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าวได้ จะถูกห้ามค้าสินค้าประมงทั้งทางตรง
และทางอ้อมกับ EU ตลอดจนห้ามทำการประมงร่วมกับกองเรือของ EU รวมทั้งห้ามซื้อขายกับผู้ประกอบการใน EU
          การให้ใบเหลือง-ใบแดงของ EU : บ่งบอกระดับการตอบโต้จากตักเตือนถึงขั้นระงับการนำเข้า
             ที่ผ่านมาตั้งแต่ระเบียบว่าด้วยการป้องกัน ต่อต้าน และขจัดการทำประมงแบบ IUU ของ EU มีผลบังคับใช้ EU ได้
ให้ใบแดงหรือ “ระงับการนำเข้า” สินค้าประมงจากประเทศที่ไม่ให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหา IUU ไปแล้วทั้งสิ้น 4
ประเทศ ได้แก่ เบลีซ กินี กัมพูชา และศรีลังกา ขณะที่ประกาศให้ใบเหลือง หรือ “ประกาศเตือนอย่างเป็นทางการ” แก่
ประเทศที่ยังดำเนินการไม่เพียงพอในการป้องกัน ขจัด และยับยั้งการทำประมงแบบ IUU อีกหลายประเทศ อาทิ เกาหลีใต้
ฟิลิปปินส์ ปาปัวนิวกินี กานา ตูวาลู รวมถึงไทย อย่างไรก็ตาม เมื่อ EU ประกาศให้ใบเหลืองแก่ประเทศใดแล้ว EU จะ
ให้เวลาแก่ประเทศเหล่านั้นไม่น้อยกว่า 6 เดือน เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว
และ EU จะร่วมมืออย่างเป็นทางการ
กับประเทศนั้นๆ ในการแก้ไขปัญหา IUU ผ่านการเจรจา การเสนอแผนปฏิบัติการ (Action Plan) และประเมินความก้าวหน้า
ในการแก้ปัญหาจากตัวชี้วัดต่างๆ ซึ่ง EU จะส่งผู้แทนมาติดตามและตรวจสอบอย่างใกล้ชิด ก่อนจะมีการประเมินอีกครั้งว่า
ประเทศนั้นสามารถแก้ไขปัญหาได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งหากประเทศที่ได้รับใบเหลืองไม่ให้ความร่วมมือในการ
แก้ปัญหา EU ก็จะพิจารณาให้ใบแดงประเทศนั้น แต่หากสามารถแก้ไขปัญหาได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด EU ก็จะ
ยกเลิกการให้ใบเหลือง
ซึ่งที่ผ่านมา มีประเทศที่ EU ประกาศยกเลิกการให้ใบเหลืองแล้ว อาทิ เกาหลีใต้และฟิลิปปินส์
สำหรับประเทศไทยยังอยู่ระหว่างการแก้ปัญหา ก่อนที่ EU จะพิจารณาอีกครั้งในเดือนตุลาคม 2558 ส่วนประเทศที่ได้รับ
ใบแดงไปแล้ว หากมีการแก้ไขปัญหาได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด EU ก็จะประกาศยกเลิกสถานะใบแดง (กลับมามีสถานะปกติ)
ให้ได้เช่นกัน เช่น เบลีซ
          กระแส IUU : ขยายวงจาก EU สู่สหรัฐฯ
             นอกเหนือจาก EU ที่มีกฎหมายเกี่ยวกับ IUU บังคับใช้อย่างเป็นทางการแล้ว ยังมีรายงานว่าสหรัฐฯ ก็อยู่ระหว่าง
ดำเนินการเพื่อต่อสู้กับปัญหาการทำประมงแบบ IUU เช่นกัน โดยประธานาธิบดี Barack Obama ได้สั่งให้จัดตั้งหน่วยงาน
เฉพาะกิจที่เป็นของประธานาธิบดีที่เรียกว่า Presidential Task Force on Combating Illegal, Unreported, and
Unregulated Fishing and Seafood Fraud ขึ้น เพื่อดำเนินนโยบายร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีก 12 หน่วยงาน
และหนึ่งในเครื่องมือที่จะใช้ คือ การพัฒนามาตรการใหม่ๆ หรือนำมาตรการที่มีอยู่แล้วมาใช้ในการต่อสู้กับการทำประมงแบบ
IUU เพื่อเป็นหลักประกันว่าอาหารทะเลที่จำหน่ายในสหรัฐฯ เป็นอาหารทะเลที่จับมาอย่างถูกกฎหมายและมีการปิดฉลาก
อย่างถูกต้อง นอกจากนี้ ในส่วนของภาคเอกชนก็มีแนวโน้มจะให้ความสำคัญกับประเด็น IUU มากขึ้น ตัวอย่าง Walmart
ที่มีนโยบายว่าในอนาคตกุ้งที่ส่งออกไปสหรัฐฯ ต้องเป็นกุ้งที่เพาะเลี้ยงโดยใช้อาหารกุ้ง (ปลาป่น) ซึ่งมาจากการใช้วัตถุดิบ
ที่จับจากเรือประมงที่ถูกกฎหมาย และปราศจากการทำประมงแบบ IUU เท่านั้น
          ดังนั้น เมื่อผู้นำเข้าอาหารทะเลรายใหญ่ของโลกทั้ง EU และสหรัฐฯ ต่างมีท่าทีชัดเจนในการต่อสู้กับปัญหาการทำ
ประมงแบบ IUU เช่นนี้แล้ว ประเทศไทยในฐานะผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์ประมงย่อมไม่สามารถหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตาม
กฎเกณฑ์ดังกล่าวได้ อีกทั้งการปรับตัวและดำเนินการให้สอดคล้องกับกติกาสากล ไม่เพียงช่วยให้ไทยรักษาตลาดส่งออก
สินค้าประมงที่มีมูลค่ากว่าปีละ 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเอาไว้ แต่ยังมีส่วนช่วยให้ทรัพยากรทางทะเลของไทยถูกใช้อย่าง
มีประสิทธิภาพ และไม่หมดสิ้นไปก่อนเวลาอันควร ซึ่งจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมประมงของไทยให้สามารถพัฒนาไปได้
อย่างยั่งยืน