กระแสนิยมออกกำลังกาย...สร้างโอกาสให้กับหลากหลายธุรกิจ
 
   
            ปัจจุบันการออกกำลังกายได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายมากในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นการวิ่ง การขี่จักรยาน
รวมถึงการเล่นฟิตเนสประเภทต่างๆ สะท้อนได้จากงานกิจกรรมเกี่ยวกับการออกกำลังกายที่มีขึ้นเกือบทุกสัปดาห์ อาทิ
การวิ่งมาราธอนและมินิมาราธอน การปั่นจักรยานทางไกล และการวิ่งและปั่นจักรยานเพื่อการกุศล กระแสดังกล่าวไม่เพียง
เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย แต่ได้เกิดขึ้นมาแล้วระยะหนึ่งในหลายประเทศ โดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯ
ซึ่งความนิยมออกกำลังกายด้วยการวิ่งขยายตัวอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลากว่า 10 ปี โดยพบว่าผู้ที่ออกกำลังกายด้วยการวิ่งใน
สหรัฐฯ มากกว่า 25 วันต่อปี อยู่ที่ราว 29 ล้านคนในปี 2556 ในจำนวนดังกล่าวส่วนหนึ่งเป็นนักวิ่งที่ตั้งเป้าหมายไว้มากกว่า
การวิ่งเพื่อออกกำลังกาย เช่น การตั้งเป้าพิชิตรายการวิ่งมาราธอนต่างๆ โดยสถิตินักวิ่งในสหรัฐฯ ที่สามารถวิ่งจนจบรายการ
มาราธอน (26.2 ไมล์) มีจำนวน 550,637 คนในปี 2557 ตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปีเป็นเวลากว่า 30 ปีมาแล้ว
ขณะที่ทางฝั่งของประเทศในยุโรปก็เกิดกระแสการปั่นจักรยานเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะการปั่นจักรยาน
เพื่อเป็นพาหนะเดินทางในชีวิตประจำวันซึ่งแพร่ขยายไปในหลายเมืองของยุโรป โดยมีกรุงอัมสเตอร์ดัมของเนเธอร์แลนด์
และกรุงโคเปนเฮเกนของเดนมาร์กเป็นเมืองต้นแบบ (สถิติการใช้จักรยานเป็นพาหนะของทั้งสองเมืองมีราว 1 ใน 3 ของ
การเดินทางด้วยพาหนะทั้งหมด) ขณะเดียวกันการปั่นจักรยานเพื่อออกกำลังกายหรือการกีฬาก็กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น
อย่างมากในปัจจุบัน

          กระแสรักการออกกำลังกายที่ขยายตัวทั่วทุกภูมิภาคของโลกส่งผลให้ธุรกิจที่เกี่ยวกับการออกกำลังกายมีศักยภาพ
ในการเติบโต โดยมีแนวโน้มที่น่าสนใจ ดังนี้
          • แบรนด์สินค้ากีฬาเฉพาะทางมีโอกาสเติบโตสูง กระแสการออกกำลังกายไม่เพียงแต่สนับสนุนยอดจำหน่าย
ให้กับสินค้ากีฬาแบรนด์ระดับโลกซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี อาทิ Nike Adidas และ Reebok แต่ยังทำให้แบรนด์สินค้ากีฬาเฉพาะทาง
เป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น เช่น แบรนด์ Rapha ของอังกฤษ ซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องแต่งกายสำหรับกีฬาจักรยาน
ได้รับความนิยมแพร่หลายในกลุ่มนักขี่จักรยานจำนวนมาก จนต้องมีการขยายสาขาไปยังประเทศอื่นนอกประเทศอังกฤษ
อาทิ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และสิงคโปร์ หรือตัวอย่างของรองเท้าวิ่งมาราธอน ก็มีแบรนด์รองเท้าใหม่ๆ ที่ผลิตขึ้นเพื่อ
เจาะกลุ่มนักกีฬาวิ่งโดยเฉพาะ อาทิ Altra, Hoka One One และ Telic ไม่เว้นแม้แต่แบรนด์ถุงเท้าสำหรับการวิ่ง เช่น
Feetures, Injinji และ Toesox ซึ่งแต่ละแบรนด์จะมีจุดขายจากนวัตกรรมใหม่ๆ สำหรับการวิ่งโดยเฉพาะ
          • อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับการกีฬามีแนวโน้มขยายตัวดี อาทิ นาฬิกาสำหรับออกกำลังกาย ซึ่งมีคุณสมบัติ
พื้นฐานหลักเน้นการวัดอัตราชีพจร และมีคุณสมบัติอื่นๆ แตกต่างกันตามประเภทกีฬาที่นาฬิการุ่นนั้นออกแบบมารองรับ เช่น
การวิ่ง การว่ายน้ำ การขี่จักรยาน และการเดินป่า เป็นต้น ซึ่งกลุ่มผู้ออกกำลังกายรุ่นใหม่นิยมใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อ
ช่วยฝึกและพัฒนาประสิทธิภาพการออกกำลังกายของตน นอกจากนี้ นาฬิกาดังกล่าวยังสามารถเชื่อมต่อเข้ากับโทรศัพท์
มือถือและคอมพิวเตอร์เพื่อส่งข้อมูลสถิติการออกกำลังกายไปยังเครือข่ายออนไลน์และเว็บไซต์บันทึกสถิติการออกกำลังกาย
โดยเฉพาะ เช่น Strava และ Movescout ซึ่งเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้อุปกรณ์ดังกล่าวได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นสอดคล้อง
ไปกับวิถีชีวิตสังคมออนไลน์ของคนรุ่นใหม่ ทั้งนี้ แนวโน้มความต้องการอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวยังพบได้ในกระแส
ความนิยมนาฬิการุ่นใหม่ประเภท Smart Watch ที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งหนึ่งในคุณสมบัติพิเศษของนาฬิกาประเภท
ดังกล่าว คือ การวัดอัตราชีพจรและการเคลื่อนไหวของร่างกาย
          • อาหารสำหรับนักกีฬากลายเป็นสินค้าจำเป็น กระแสการออกกำลังกายในปัจจุบันไม่เพียงขยายตัวในด้าน
จำนวนผู้นิยมออกกำลังกายเท่านั้น แต่ลักษณะของการเข้าร่วมกิจกรรมในแต่ละกีฬาก็มีความเข้มข้นมากขึ้น สะท้อนได้จาก
จำนวนนักวิ่งจนจบรายการมาราธอนในสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการปั่นจักรยานทางไกลที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น
ในต่างประเทศ รวมถึงในประเทศไทย ซึ่งการวิ่งมาราธอนและการปั่นจักรยานทางไกลถือเป็นกีฬาที่ต้องใช้พลังงานค่อนข้าง
มาก ทำให้จำเป็นต้องพึ่งพาอาหารเสริมพลังงาน เช่น Energy Bar และ Energy Gel ซึ่งอาหารดังกล่าวประกอบด้วย
สารอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตและเกลือแร่ที่ดูดซึมได้ง่าย ช่วยให้พลังงานและชดเชยการสูญเสียเกลือแร่ของนักกีฬา
          • เอเชียเป็นฐานการผลิตสินค้ากีฬาที่สำคัญ เป็นที่ทราบกันว่าหลายประเทศในเอเชีย อาทิ จีน เวียดนาม
ไทย และกัมพูชา เป็นฐานการผลิตเสื้อผ้ากีฬาและรองเท้ากีฬาที่สำคัญของโลก นอกจากนี้ เอเชียยังเป็นฐานการผลิต
อุปกรณ์กีฬาสำคัญประเภทอื่นด้วยเช่นกัน อาทิ จีนและไต้หวันเป็นผู้ส่งออกจักรยานและส่วนประกอบสำคัญอันดับ 1 และ
อันดับ 2 ของโลก มีมูลค่าส่งออกรวมกันราว 5.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2557 คิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 57 ของมูลค่า
ส่งออกจักรยานและส่วนประกอบของโลก ขณะที่อินโดนีเซีย (ผู้ส่งออกจักรยานและส่วนประกอบอันดับ 9 ของโลก) และ
ไทย (ผู้ส่งออกอันดับ 15 ของโลก) ถือเป็นผู้ผลิตจักรยานและส่วนประกอบสำคัญของอาเซียน ที่ได้ประโยชน์จากกระแส
ความนิยมขี่จักรยานด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับการกีฬาก็มีฐานการผลิตสำคัญอยู่ในเอเชีย
โดยเฉพาะจีน
          • โอกาสของ SMEs ท้องถิ่นในการสร้างแบรนด์สินค้ากีฬาของตนเอง ปัจจุบันผู้รับจ้างผลิตสินค้าในลักษณะ
OEM (Original Equipment Manufacturer) ไม่เพียงแต่รับจ้างผลิตสินค้าให้กับแบรนด์สินค้าชื่อดังรายใหญ่เท่านั้น แต่ยัง
รับจ้างผลิตสินค้าให้กับแบรนด์ขนาดเล็กหรือแบรนด์ใหม่ๆ ด้วยเช่นกัน ดังนั้น ผู้ประกอบการที่มองเห็นโอกาสทางธุรกิจและ
มีความสามารถด้านการตลาดก็สามารถที่จะพัฒนาแบรนด์สินค้าของตนขึ้นมาได้ ตัวอย่างใกล้ตัว คือ แบรนด์สินค้าของคนไทย
อาทิ จักรยาน “Nich” ซึ่งเป็นจักรยานแบรนด์ของ SMEs ไทย ที่ว่าจ้างผู้ผลิตในจีนทำการผลิต โดยเจ้าของแบรนด์ดูแลเรื่อง
การออกแบบ การตลาด และการจัดจำหน่าย รวมถึงนาฬิกา “Wellograph” ซึ่งเป็นนาฬิกาประเภท Smart Watch ของไทย
ซึ่งเป็นที่รู้จักในระดับสากล
          • ธุรกิจบริการได้ประโยชน์จากกระแสนิยมกีฬาขยายตัว โดยธุรกิจโรงแรมได้ประโยชน์จากกิจกรรมกีฬาที่มี
เพิ่มขึ้น อาทิ งานวิ่งมาราธอนที่มีผู้เข้าร่วมมากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการที่พักในบริเวณใกล้เคียงสถานที่จัดงานมีเพิ่มขึ้น
รวมถึงการแข่งขันกีฬาระดับโลกที่มีผู้เข้าร่วมชมมากขึ้นก็มีส่วนช่วยสนับสนุนการท่องเที่ยวและธุรกิจโรงแรมของประเทศ
ที่มีการจัดการแข่งขัน นอกจากนี้ ปัจจุบันยังเกิดธุรกิจใหม่ๆ เช่น ธุรกิจนำเที่ยวที่ใช้จักรยานเป็นพาหนะ และธุรกิจให้เช่า
จักรยาน เป็นต้น
 
  Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์
ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ
ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด