|
“ซาลามัตดาตัง” (Selamat Datang) แปลว่าสวัสดี เป็นคำทักทายของชาวบรูไน หนึ่งในประเทศสมาชิกอาเซียนที่
ไม่ค่อยมีใครกล่าวถึงมากนัก ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับบรูไนยังค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับประเทศ
สมาชิกอื่นๆ ในอาเซียน หรือเพียง 796 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2557 แต่แท้จริงแล้วบรูไนมีศักยภาพด้านการค้าที่ไม่ควร
มองข้ามด้วยฐานะทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งจากความร่ำรวยด้านทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ
ทำให้ชาวบรูไนเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูงเป็นอันดับ 2 ของอาเซียนหรือราว 5 เท่าของไทย ขณะเดียวกันวิสัยทัศน์
การพัฒนาประเทศในระยะยาวภายใต้ Wawasan Brunei 2035 ซึ่งเน้นให้ความสำคัญกับภาคเศรษฐกิจอื่นๆ เพื่อลด
การพึ่งพารายได้จากน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ รวมถึงส่งเสริมให้นักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในบรูไนมากขึ้น คาดว่า
จะมีส่วนกระตุ้นให้เศรษฐกิจบรูไนเติบโตอย่างยั่งยืนและสร้างโอกาสทางการค้าใหม่ๆ ระหว่างไทยกับบรูไนให้เกิดขึ้นตามมา
|
|
|
 |
 |
|
เปรียบเทียบคาดการณ์รายได้ต่อหัวของประเทศสมาชิกอาเซียน ปี 2558 |
|
|
 |
|
 |
 |
 |
|
“เก็บตกจากต่างแดน” ฉบับนี้จึงรวบรวมลักษณะเด่นและพฤติกรรมที่น่าสนใจของผู้บริโภคชาวบรูไน รวมถึงเกร็ดน่ารู้
ในการติดต่อธุรกิจกับชาวบรูไน พร้อมทั้งยกตัวอย่างสินค้าไทยที่มีโอกาสส่งออกไปบรูไน เพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ
ที่สนใจจะทำการค้ากับบรูไน มีรายละเอียดที่น่าสนใจดังนี้
ลักษณะเด่นและพฤติกรรมผู้บริโภคชาวบรูไน
• ผู้บริโภคสำคัญ คือ กลุ่มวัยทำงาน (อายุ 15-64 ปี) ที่อาศัยในเมืองใหญ่ ผู้บริโภคกลุ่มนี้มีกำลังซื้อสูงและมี
จำนวนมากถึงร้อยละ 72 ของประชากรทั้งหมด โดยกลุ่มวัยรุ่นที่เริ่มเข้าสู่วัยทำงาน (อายุ 15-24 ปี) มีมากถึง 1 ใน 4 ของ
ประชากรวัยทำงานทั้งหมด ซึ่งผู้บริโภคกลุ่มนี้นิยมติดตามกระแสการบริโภคจากตะวันตกผ่านสื่อโทรทัศน์ สิ่งพิมพ์ และ
สื่อออนไลน์ คล้ายกับวัยรุ่นในประเทศอื่นๆ และมักตอบสนองต่อกลยุทธ์การตลาดอย่างรวดเร็ว และพร้อมหันไปใช้สินค้า
ใหม่ๆ ที่เพิ่งออกสู่ตลาด ทั้งนี้ กลุ่มคนวัยทำงานมักอาศัยในเขตเมือง โดยเฉพาะ Bandar Seri Begawan (เมืองหลวง)
และเมืองสำคัญอื่นๆ อาทิ Kuala Belait และ Seria ดังนั้น การเลือกพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่เป้าหมายในการวางจำหน่าย
สินค้าหรือจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายจึงน่าจะเป็นทางเลือกลำดับต้นๆ ของการทำตลาดสินค้าในบรูไน
• ชาวบรูไนนิยมเลือกซื้อสินค้าในตลาดสด ตลาดสำคัญ อาทิ Tamu Kianggeh (เปิดจำหน่ายในช่วงเช้าถึงบ่าย)
และ The Pasar Gadong Night Market (เปิดจำหน่ายในช่วงหัวค่ำถึงกลางคืน) ซึ่งเป็นตลาดที่อยู่ใกล้แหล่งชุมชน ทำให้
สะดวกในการซื้อหาสินค้า อีกทั้งเป็นศูนย์รวมสินค้าอาหารหลากหลายประเภท ทั้งอาหารสด อาหารแห้ง นอกจากนี้ ยังเป็น
ที่ตั้งแผงจำหน่ายอาหารปรุงสุก โดยเฉพาะอาหารประเภทปิ้งหรือย่าง ทั้งปลาย่าง เนื้อวัวย่าง เนื้อไก่ย่างและไก่สะเต๊ะ ซึ่ง
ได้รับความนิยมในหมู่ผู้บริโภคชาวบรูไน ทั้งนี้ ชาวบรูไนนิยมซื้ออาหารมารับประทานร่วมกับครอบครัวที่บ้านมากกว่า
รับประทานที่แผงจำหน่ายอาหาร
• การโฆษณาสินค้าผ่านอินเทอร์เน็ตเป็นอีกช่องทางสำคัญในการเข้าถึงผู้บริโภคชาวบรูไน เนื่องจาก
ชาวบรูไนใช้อินเทอร์เน็ตกันอย่างแพร่หลาย ทั้งนี้ Internet Society เปิดเผยว่าปี 2557 อัตราการใช้อินเทอร์เน็ตต่อจำนวน
ประชากรชาวบรูไนอยู่ที่ร้อยละ 65 สูงเป็นอันดับ 3 ของอาเซียน (ไทยอยู่ที่อันดับ 6) โดยชาวบรูไนนิยมสั่งซื้อสินค้า
ประเภท IT จำพวกโทรศัพท์มือถือ Tablet และกล้องถ่ายรูปผ่านทางอินเทอร์เน็ต และนิยมค้นหาข้อมูลประกอบการ
ตัดสินใจซื้อสินค้าจากเว็บไซต์ อาทิ www.shopping.com.bn และ www.qqestore.com
เกร็ดน่ารู้เกี่ยวกับการติดต่อธุรกิจกับชาวบรูไน
เพื่อให้การดำเนินธุรกิจกับชาวบรูไนเป็นไปอย่างราบรื่น นอกเหนือจากการเรียนรู้ลักษณะเด่นและพฤติกรรมผู้บริโภค
ของชาวบรูไนแล้ว ผู้ประกอบการควรทราบถึงเกร็ดน่ารู้ในการติดต่อธุรกิจกับชาวบรูไนไปพร้อมๆ กัน ดังนี้
• การทักทายและมารยาทการเจรจาธุรกิจ เมื่อพบปะคู่สนทนาชาวบรูไน การจับมือทักทายตามธรรมเนียมสากล
ถือเป็นหลักปฏิบัติทั่วไป อย่างไรก็ตาม ควรระมัดระวังในกรณีที่สุภาพบุรุษจะทักทายคู่สนทนาที่เป็นสุภาพสตรี โดยเฉพาะ
สุภาพสตรีชาวมุสลิม ควรหลีกเลี่ยงการทักทายด้วยการจับมือ สำหรับการเจรจาธุรกิจ วัฒนธรรมของชาวบรูไนเน้นการพบปะ
เพื่อให้เกิดมิตรภาพและความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลมากกว่ามุ่งเน้นให้เกิดธุรกิจเพียงอย่างเดียว จึงไม่ควรเร่งรัดการเจรจา
ให้เกิดธุรกิจตั้งแต่การพบกันครั้งแรก
• ภาษาที่ใช้ในการสื่อสาร ชาวบรูไนใช้ภาษามาเลย์เป็นภาษาราชการ เนื่องจากชาวบรูไนที่มีเชื้อสายมาเลย์มี
จำนวนสูงถึงร้อยละ 66 ดังนั้น การเรียนรู้ภาษามาเลย์เบื้องต้นที่มักใช้บ่อยๆ ในชีวิตประจำวันจะช่วยสร้างความประทับใจ
ให้กับคู่เจรจาชาวบรูไนได้ อย่างไรก็ตาม ชาวบรูไนส่วนใหญ่สามารถพูดภาษาอังกฤษและใช้ภาษาอังกฤษในการติดต่อ
ธุรกิจได้
|
|
|
 |
 |
|
 |
|
ที่มา : รวบรวมโดยฝ่ายวิจัยธุรกิจ EXIM BANK |
|
|
 |
 |
|
• การแต่งกาย สุภาพบุรุษควรแต่งกายด้วยชุดสุภาพเรียบร้อย ขณะที่สุภาพสตรีควรแต่งกายมิดชิด สวมกระโปรงยาว
เสื้อแขนยาวและสวมผ้าคลุมศีรษะ หลีกเลี่ยงการใส่ชุดเข้ารูปพอดีตัว และหากได้รับเชิญไปมัสยิดต้องถอดรองเท้าทุกครั้ง
ก่อนเข้ามัสยิดเพื่อแสดงความเคารพต่อสถานที่ นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการสวมเสื้อผ้าสีเหลืองเพราะถือเป็นสีของสถาบัน
กษัตริย์ของบรูไน และไม่ควรสวมเสื้อที่มีลวดลายเป็นรูปสัตว์เพราะขัดกับหลักปฏิบัติตามศาสนาอิสลาม
• การนัดหมาย ตามปกติเวลาทำการของหน่วยงานภาครัฐของบรูไน คือ วันจันทร์-พฤหัสบดี และวันเสาร์ ระหว่าง
เวลา 7.45-16.30 น. (ปิดทำการวันศุกร์และวันอาทิตย์) ขณะที่ธนาคารเปิดทำการวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.00-15.00 น. และ
วันเสาร์ เวลา 9.00-11.00 น. ทั้งนี้ ผู้ประกอบการควรหลีกเลี่ยงการนัดหมายในวันหยุดสำคัญของชาวบรูไน อาทิ วันชาติ
(23 กุมภาพันธ์ของทุกปี) และวันสำคัญทางศาสนา อาทิ Hari Raya Aidilfitri และวัน Hari Raya Aidiladha
สินค้าเกษตรและอาหารของไทยมีศักยภาพในตลาดบรูไน
ชาวบรูไนมีความต้องการนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารจำนวนมาก เนื่องจากผลผลิตทางการเกษตรและอาหารยังมี
ไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคในประเทศทั้งในแง่ปริมาณและคุณภาพ ส่งผลให้บรูไนยังต้องพึ่งพาการนำเข้า ทั้งนี้
สินค้าเกษตรและอาหารของไทยที่มีโอกาสส่งออกไปบรูไน อาทิ
• ข้าว ชาวบรูไนมีวัฒนธรรมการบริโภคข้าวคล้ายคลึงกับประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ติดกัน คือ มาเลเซีย สังเกตได้จาก
อาหารยอดนิยมของชาวบรูไน โดยเฉพาะ Udang Sambal Serai Bersantan ที่ประกอบด้วยกุ้ง ตะไคร้ พริกแกง และ
กะทิ รับประทานคู่กับข้าวสวยร้อนๆ กับไข่ต้มและแตงกวา จึงเป็นโอกาสดีของข้าวหอมมะลิคุณภาพดีของไทยในการส่งออก
ไปตลาดบรูไน
• ผลไม้สดและผลไม้แปรรูปบรรจุกระป๋อง แม้ว่าบรูไนปลูกผลไม้บางชนิดได้เองในประเทศ แต่ผลผลิตผลไม้
หลายชนิดยังมีคุณภาพไม่ดี เทียบกับผลไม้ส่งออกของไทยที่มีคุณภาพสูง โดยเฉพาะทุเรียน มังคุด และมะม่วงน้ำดอกไม้
ที่ได้รับความนิยมในหมู่ผู้บริโภคชาวบรูไน และมักพบว่าชาวบรูไนนิยมนำผลไม้ของไทยมาจัดเป็นกระเช้าของขวัญเพื่อเป็น
ของฝาก นอกจากนี้ ชาวบรูไนยังนิยมรับประทานลำไยทั้งแบบสดและแห้ง ขณะที่ผลไม้บรรจุกระป๋องทั้งเงาะ ลำไย ลิ้นจี่
สับปะรด และลูกตาลบรรจุกระป๋องก็ได้รับความนิยมเช่นเดียวกัน เพราะมีรสชาติต่างจากผลไม้ที่ปลูกในบรูไน และยังสามารถ
เก็บไว้รับประทานได้นาน
• ผงปรุงรส โดยเฉพาะผงปรุงรสสำหรับทำอาหารไทยยอดนิยม คือ ต้มยำกุ้ง แกงเขียวหวาน และสะเต๊ะ ได้รับ
การตอบรับเป็นอย่างดีสำหรับชาวบรูไนที่ต้องการปรุงอาหารไทยรับประทานเองที่บ้าน
|
|
|
 |
 |
|
ข้อสังเกต : สินค้าอาหารและผลิตภัณฑ์ที่วางจำหน่ายในบรูไนควร
ได้รับการรับรองตราสัญลักษณ์ฮาลาลจาก Ministry of Religious
Affairs ของบรูไน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและการยอมรับในตลาดบรูไน
ซึ่งประชากรส่วนใหญ่ราวร้อยละ 80 เป็นชาวมุสลิม รวมถึงควรแสดง
เครื่องหมายฮาลาลให้เห็นชัดเจนบนฉลากสินค้าด้วย
|
|
|
 |
 |
 |
|
อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตสำหรับการทำตลาดบรูไน คือ การขนส่งสินค้าทางเรือไปบรูไนยังมีข้อจำกัดและต้นทุน
ค่อนข้างสูง เนื่องจากเรือบรรทุกสินค้าไปบรูไนมีสินค้าให้บรรทุกเฉพาะขาไป แต่ไม่มีสินค้าบรรทุกขากลับ นอกจากนี้ บรูไน
ค่อนข้างเข้มงวดในการตรวจสอบสินค้านำเข้า โดยเฉพาะสินค้าอาหาร ผู้ประกอบการจึงควรศึกษากฎระเบียบการค้า
การลงทุนที่เกี่ยวข้องให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ก่อนส่งออกไปตลาดบรูไน |
|
|
|
|