EXIM BANK เตือนผู้ส่งออกบริหารความเสี่ยงการค้าระหว่างประเทศในวิกฤต COVID-19
ปรับตัวรับมือทิศทางเศรษฐกิจโลกและปัญหาผู้ซื้อในต่างประเทศไม่ชำระเงินค่าสินค้า
 
 

          นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK เปิดเผยว่า จากผลกระทบของการแพร่ระบาด COVID-19 ธนาคารโลก (World Bank) ได้คาดการณ์ว่า ในปี 2563 เศรษฐกิจโลกจะหดตัว 5.2% ต่ำสุดในรอบเกือบ 100 ปีนับตั้งแต่เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (The Great Depression) ในช่วงทศวรรษ 1930 ขณะที่การค้าโลกจะหดตัว 13.4% เป็นการหดตัวรุนแรงเกินเลข 2 หลัก (-10% ขึ้นไป) ครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดวิกฤตสินเชื่อซับไพรม์หรือวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2552 โดย EXIM BANK คาดว่า ในปี 2563 ภาคการส่งออกของไทยจะหดตัว 5-8% สินค้าที่มีโอกาส เช่น สินค้าจำเป็นประเภทอาหาร และสินค้าตามกระแสเมกะเทรนด์ เช่น อุปกรณ์สำนักงานสำหรับทำงานจากบ้าน (Work from Home) เครื่องมือแพทย์ เภสัชภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และรถจักรยานยนต์

          กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK เปิดเผยต่อไปว่า จากการคาดการณ์ของออยเลอร์เฮอร์เมส (Euler Hermes) บริษัทประกันสินเชื่อทางการค้าชั้นนำของโลก COVID-19 จะส่งผลกระทบให้ธุรกิจการค้าทั่วโลกขาดทุนคิดเป็นมูลค่า 3.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมทั้งจะมีธุรกิจล้มละลายเพิ่มสูงขึ้นกว่า 20% ผู้ส่งออกไทยจึงต้องบริหารความเสี่ยงทางการค้าระหว่างประเทศ โดยวิธีกระจายตลาดส่งออกสินค้าไปยังตลาดที่ยังเติบโตหรือมีคนรุ่นใหม่ที่ยังมีกำลังซื้ออยู่มาก เช่น ตลาดใหม่อย่าง CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) เอเชียใต้ และแอฟริกา ในขณะเดียวกันผู้ส่งออกไทย โดยเฉพาะ SMEs ซึ่งมีอำนาจการต่อรองต่ำและเงินทุนหมุนเวียนไม่มาก ต้องบริหารความเสี่ยงจากการไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้า เนื่องจาก COVID-19 อาจทำให้ผู้ซื้อในต่างประเทศไม่สามารถกระจายสินค้าได้ ชำระเงินล่าช้าหรือผิดนัดชำระเงิน ซึ่งผลการสำรวจผลกระทบของ COVID-19 ต่อธุรกิจในระยะสั้นของกลุ่มความร่วมมือองค์กรรับประกันชั้นนำของโลก Berne Union เมื่อเดือนเมษายน 2563 ที่ผ่านมา พบว่า องค์กรรับประกันในประเทศต่าง ๆ ทั้งสหรัฐอเมริกา ยุโรป และเอเชีย เริ่มพบสัญญาณการขอขยายระยะเวลาการชำระเงินและชำระเงินล่าช้าของผู้ซื้อในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา เป็นสัญญาณเตือนการผิดนัดชำระเงินค่าสินค้าที่อาจเกิดขึ้นในไตรมาสที่ 3-4 ปี 2563

          ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2563 (มกราคม-พฤษภาคม 2563) พบว่า ลูกค้าประกันการส่งออกของ EXIM BANK ยื่นเอกสารผู้ซื้อในต่างประเทศชำระเงินล่าช้าเป็นจำนวนเพิ่มขึ้น 195% คิดเป็นมูลค่าการส่งออกค้างชำระกว่า 617.33 ล้านบาท ทำให้มีลูกค้ายื่นขอรับค่าสินไหมทดแทนจานวน 24 ราย มูลค่า 284.97 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 226% จาก 12 ราย มูลค่า 87.50 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากผู้ซื้อไม่ชำระเงินค่าสินค้า (92%) รองลงมาคือ ผู้ซื้อล้มละลาย (8%) ประเทศที่มีมูลค่ายื่นขอรับค่าสินไหมทดแทนสูงสุดได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหรัฐอเมริกา และฝรั่งเศส ส่วนประเภทสินค้าที่มีการจ่ายค่าสินไหมทดแทนสูงสุดได้แก่ ข้าว อาหารกระป๋อง อัญมณีและเครื่องประดับ

          “EXIM BANK มีความเชี่ยวชาญในการช่วยผู้ส่งออกบริหารความเสี่ยงทางการค้าระหว่างประเทศ โดยพัฒนาบริการประกันการส่งออกเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ส่งออก โดยเฉพาะ SMEs มานานกว่า 26 ปี นับตั้งแต่ปี 2537 ได้ให้ความคุ้มครองธุรกิจส่งออกไทยเป็นมูลค่ากว่า 1.37 ล้านล้านบาท อย่างไรก็ตาม หัวใจสำคัญคือ ผู้ส่งออกต้องให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงทางการค้าระหว่างประเทศ เพื่อให้สามารถดำเนินกิจการผลิตและส่งออกสินค้าและบริการให้แก่ผู้ซื้อในต่างประเทศได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่สะดุด แม้ในภาวะวิกฤตที่ยังมีโอกาสใหม่ ๆ ทางธุรกิจอยู่เสมอ” นายพิศิษฐ์กล่าว

  EXIM BANK สนับสนุน ส.อ.ท. และสถาบันการเงินพันธมิตร
ให้คำปรึกษาและเงินทุนหมุนเวียนผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม
 
            นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และประธานกรรมการ EXIM BANK นางวรรธนา มงคลศรี รองกรรมการผู้จัดการ EXIM BANK และผู้บริหารสถาบันการเงิน เปิดตัวโครงการ “Advisory Clinic @ F.T.I. Connect” โดยความร่วมมือระหว่าง ส.อ.ท. กับสถาบันการเงินพันธมิตร รวมถึง EXIM BANK เพื่อให้คำปรึกษาและบริการทางการเงิน รวมถึงสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษและเงื่อนไขผ่อนปรน ที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยที่เป็นสมาชิก ส.อ.ท. มีสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจและรักษาการจ้างงานแม้ในภาวะวิกฤตจากผลกระทบของ COVID-19 ณ ส.อ.ท. เมื่อเร็ว ๆ นี้  
  EXIM BANK จัดกิจกรรมให้ผู้ประกอบการ SMEs ฝึกปฏิบัติด้านการวางแผนธุรกิจส่งออก  
            นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK ต้อนรับนายนพพร เทพสิทธา คณบดีกิตติคุณ วิทยาลัยโลจิสติกส์และซัพพลายเชน มหาวิทยาลัยศรีปทุม นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย และนายวิเชียร เจนตระกูลโรจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศรีฟ้าโฟรเซนฟู้ด จำกัด ซึ่งร่วมเป็นกรรมการให้ความคิดเห็นต่อการวางแผนธุรกิจและการเงินของผู้ประกอบการ SMEs ที่เข้าร่วมโครงการเสริมความเป็นเลิศด้านการค้าเพื่อผู้ประกอบการส่งออก หลักสูตรระดับต้น (Neo Exporter) รุ่น 2 จัดโดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้าของ EXIM BANK (EXIM Excellence Academy: EXAC) ณ EXIM BANK สำนักงานใหญ่ เมื่อเร็ว ๆ นี้  
  EXIM BANK จัดงานสัมมนาออนไลน์เสริมความรู้ผู้ประกอบการ SMEs
วางแผนการตลาด หลังสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลาย
 
            นางวรรธนา มงคลศรี รองกรรมการผู้จัดการ EXIM BANK ให้การต้อนรับนายยงยศ ผลธนาวัฒน์ กรรมการสภาธุรกิจไทย-อินโดนีเซีย และคุณรัชชุ์นภ พจนาวราพันธุ์ ผู้จัดการสาขา บริษัท เอสซีจี อินเตอร์เนชั่นแนล อินโดนีเซีย จำกัด ผู้จัดจำหน่ายสินค้าและบริการครบวงจรของไทยในประเทศอินโดนีเซีย วิทยากรในงานสัมมนาและให้คำปรึกษาออนไลน์ “อัปเดตตลาดอินโดนีเซีย หลังคลายล็อกดาวน์” จัดโดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้าของ EXIM BANK (EXIM Excellence Academy: EXAC) ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เสริมสร้างความรู้ให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ให้สามารถวางแผนการตลาดได้ทันท่วงทีหลังสถานการณ์วิกฤต COVID-19 คลี่คลาย ณ EXIM BANK สำนักงานใหญ่ เมื่อเร็ว ๆ นี้  
  EXIM BANK จัดงานสัมมนาออนไลน์ตรวจสุขภาพการเงิน SMEs เพื่อเตรียมขอสินเชื่อ  
            นางวรรธนา มงคลศรี รองกรรมการผู้จัดการ EXIM BANK ให้การต้อนรับนายอภิชิต ประสพรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และนางสาวพรรณี ชิตรัตฐา กรรมการผู้จัดการ บริษัท คัพเวอร์ เอิร์ท จำกัด ผู้ประกอบการธุรกิจส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภค วิทยากรในงานสัมมนาและให้คำปรึกษาออนไลน์ “ตรวจสุขภาพทางการเงินเตรียมขอสินเชื่อ” จัดโดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้าของ EXIM BANK (EXIM Excellence Academy: EXAC) ร่วมกับหน่วยงานจับคู่ธุรกิจ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับการเตรียมตัวเพื่อขอสินเชื่อในการดำเนินธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ณ EXIM BANK สำนักงานใหญ่ เมื่อเร็ว ๆ นี้  
  หน้าหลัก   I   Share โลกเศรษฐกิจ   I   เปิดประตูสู่ตลาดใหม่   I   ส่องเทรนด์โลก
เกร็ดการเงินระหว่างประเทศ   I   CEO Talk   I   แวดวงคู่ค้า   I   แนะนำบริการ   I   สรุปข่าว