หากพูดถึงสถานการณ์เศรษฐกิจโลกในตอนนี้ ดูเหมือนจะกำลังเผชิญกับมรสุมที่ถาโถมเข้ามาลูกแล้วลูกเล่า ไม่เพียงสถานการณ์ COVID-19 ที่ยังไม่คลี่คลาย แต่ยังถูกซ้ำเติมจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่จุดชนวนความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อและปัญหา Supply Chain Disruption ให้รุนแรงขึ้น จนทำให้หลายฝ่ายกังวลว่า เศรษฐกิจของหลายประเทศอาจกำลังเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในเร็ว ๆ นี้

          ท่ามกลางมรสุมดังกล่าว เวียดนามถือเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในโลกที่เศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่องทุกปีแม้จะมีการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา อีกทั้ง IMF ยังคาดว่า เศรษฐกิจเวียดนามปี 2565-2570 จะขยายตัวเฉลี่ยสูงถึง 6.8% ต่อปี สูงที่สุดในอาเซียน และสูงกว่าเศรษฐกิจโลกถึงกว่าเท่าตัว ทั้งนี้ ศักยภาพของเวียดนามโดดเด่นในหลาย ๆ ด้าน ดังนี้

          เศรษฐกิจเวียดนามยืดหยุ่นรองรับวิกฤตได้ดี แม้เวียดนามเป็นเศรษฐกิจเปิดขนาดเล็ก แต่การบริโภคภาคเอกชนกลับมีสัดส่วนสูงถึงราว 70% ต่อ GDP คล้ายกับประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยประชากรเกือบ 100 ล้านคน และกว่า 70% อยู่ในวัยหนุ่มสาว ทำให้การบริโภคกลายเป็น Buffer ที่ช่วยให้เวียดนามผ่านพ้นวิกฤต COVID-19 และสามารถรองรับวิกฤตในอนาคตได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ Economist Intelligence Unit คาดว่า การบริโภคของเวียดนามจะโตเฉลี่ยถึง 7% ต่อปีในอีก 5 ปีข้างหน้า ประเด็นที่น่าสนใจอีกอย่างคือแม้ปัจจุบันเงินเฟ้อในหลายประเทศจะพุ่งแตะ 7-9% สูงสุดในรอบหลายทศวรรษ แต่เงินเฟ้อเวียดนามกลับยังอยู่ระดับต่ำ ล่าสุดเงินเฟ้อเดือน มิ.ย. 2565 อยู่ที่ 3.4% ต่ำที่สุดในอาเซียน ด้วยภาคเกษตรกรรมของเวียดนามที่แข็งแกร่ง คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 15% ต่อ GDP ขณะเดียวกันเวียดนามก็มีน้ำมันดิบสำรองมากที่สุดในอาเซียนซึ่งอาจช่วยผ่อนหนักเป็นเบาในภาวะข้าวยากหมากแพงได้ระดับหนึ่ง นอกจากนี้ เวียดนามยังมีเสถียรภาพด้านต่างประเทศที่ค่อนข้างดี ด้วยเงินทุนสำรองฯ กว่า 1.1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (อันดับ 24 ของโลก) ไต่ระดับอย่างรวดเร็วจากเพียง 2.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2555 และดุลบัญชีเดินสะพัดที่ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) คาดว่าจะกลับมาเกินดุล 1.5% ต่อ GDP ในปีนี้ จะช่วยลดความเสี่ยงจากเงินทุนไหลออกที่ตลาดเกิดใหม่หลายแห่งกำลังเผชิญ สะท้อนได้จากเงินด่องที่อ่อนค่าไม่ถึง 2.5% ตั้งแต่ต้นปี น้อยที่สุดเป็นอันดับต้น ๆ ในภูมิภาค

          เวียดนามดึงดูด FDI จนขึ้นแท่นเป็น New Factory of the World สะท้อนจากเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสุทธิ (FDI Net Inflow) ที่ไหลเข้าเวียดนามขยายตัวเฉลี่ย 7% ต่อปีในปี 2554-2563 เทียบกับ FDI โลกที่ขยายตัวเพียง 1% ทั้งนี้ เสน่ห์ของเวียดนามในการดึงดูด FDI เรียกได้ว่าครบครัน ทั้งแรงงานราคาถูก โดยค่าจ้างขั้นต่ำในเวียดนามถูกกว่าจีนที่เคยได้รับสมญานาม Factory of the World ถึง 50% ที่ตั้งติดชายฝั่งมีท่าเรือขนาดใหญ่ (Major Port Class A) มากถึง 17 แห่ง ทำให้ได้เปรียบด้านการขนส่งระหว่างประเทศ นโยบายสนับสนุนการลงทุนทั้งภาษีและมิใช่ภาษีที่เรียกได้ว่า พรีเมี่ยมแห่งหนึ่งของโลก โดยเฉพาะการให้อำนาจแต่ละจังหวัดให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติม เพื่อแข่งขันกันดึงดูดการลงทุนให้ตรงกับจุดแข็งของแต่ละพื้นที่ สิ่งเหล่านี้ทำให้ที่ผ่านมาเวียดนามมีเม็ดเงิน FDI เข้ามาตั้งฐานการผลิตเพื่อส่งออกกระจายตัวแทบทุกอุตสาหกรรม ไล่เรียงไปตั้งแต่อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นไปจนถึงอุตสาหกรรมไฮเทค อาทิ รองเท้า (เวียดนามส่งออกอันดับ 2 ของโลก) สิ่งทอ (อันดับ 4) โทรศัพท์และอุปกรณ์ (อันดับ 3) โดยปัจจุบันเวียดนามถือเป็นฐานการผลิตของหลายแบรนด์ IT ชั้นนำ อาทิ Samsung, LG, Intel และ Microsoft ขณะเดียวกันเวียดนามก็ยังมีแผนยกระดับอุตสาหกรรมสีเขียว โดยตั้งเป้าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างน้อย 15% ภายในปี 2573 ซึ่งจะช่วยเปลี่ยนผ่านจาก Dirty Industry ไปสู่ Green Industry ได้ในอนาคต

          เวียดนามมีความสัมพันธ์ที่ดีกับขั้วมหาอำนาจโลก ทั้งชาติตะวันตก จีนและรัสเซีย จากนโยบายด้านต่างประเทศที่สามารถสร้างสมดุลระหว่างการเมืองกับเศรษฐกิจได้อย่างลงตัว สะท้อนได้จากการที่เวียดนามได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพการประชุมสำคัญระดับโลกหลายเวที โดยเฉพาะการประชุมสันติภาพระหว่างอดีตประธานาธิบดีทรัมป์กับคิม จอง อึนผู้นำเกาหลีเหนือ ตลอดจนเคยเป็นเจ้าภาพการประชุม APEC 2 ครั้งในช่วงก่อนหน้านี้ นอกจากนี้ เวียดนามยังมีความสัมพันธ์ด้านการค้าการลงทุนที่แน่นแฟ้นกับทั้งชาติตะวันตกและชาติตะวันออก จากการที่เวียดนามมีข้อตกลง FTA มากที่สุดอันดับต้น ๆ ของโลก ครอบคลุมกว่า 50 ประเทศทั่วโลก และยังเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่มี FTA กับหลายประเทศคู่ขัดแย้งของสงครามในปัจจุบัน ทั้งฝั่งรัสเซีย จาก FTA Vietnam - Eurasian Economic Union (รัสเซีย อาร์เมเนีย เบลารุส คาซัคสถาน และคีร์กีซสถาน) และฝั่งชาติตะวันตก จากข้อตกลง FTA EU-Vietnam และ FTA UK-Vietnam ปัจจัยดังกล่าวสะท้อนถึงความโดดเด่นของเวียดนามในการสร้างสมดุลด้านนโยบายต่างประเทศ ซึ่งจะมีส่วนทำให้เวียดนามยังเป็น Spotlight ในการดึงดูดเม็ดเงินการค้าการลงทุนของโลกต่อไปอีกในอนาคต

          จากคุณสมบัติที่โดดเด่นของเวียดนามข้างต้น ถือเป็นโอกาสดีของผู้ประกอบการไทยในการส่งออกสินค้าเพื่อไปยึดหัวหาดจากกำลังซื้อของชาวเวียดนามที่อยู่ในช่วงขาขึ้น อีกทั้งยังเป็นโอกาสในการลงทุนเพื่อเชื่อมต่อ Supply Chain กับอุตสาหกรรมแห่งอนาคตและอุตสาหกรรมสีเขียวในเวียดนาม และยังสามารถใช้เวียดนามเป็น Springboard เพื่อส่งออกไปยังประเทศที่สามได้อีกด้วย

 
  Disclaimer : ข้อมูลต่าง ๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น
โดย EXIM BANK จะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
  หน้าหลัก  I  Share โลกเศรษฐกิจ  I  เปิดประตูสู่ตลาดใหม่  I  ส่องเทรนด์โลก  I  เกร็ดการเงินระหว่างประเทศ
CEO Talk  I  แนะนำบริการ  I  สรุปข่าว