ระบบธนาคารของ สปป.ลาว ในปัจจุบันถือว่ามีการพัฒนาและเติบโตขึ้นมาก เนื่องจากรัฐบาล สปป.ลาว เร่งปฏิรูปและปรับ
โครงสร้างระบบธนาคารอย่างจริงจังเพื่อยกระดับมาตรฐานเทียบเท่าสากล ส่งผลให้ในช่วงที่ผ่านมาขนาดสินทรัพย์ ปริมาณเงินฝาก และ
ยอดสินเชื่อในระบบธนาคารของ สปป.ลาว เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันธนาคารพาณิชย์ต่างชาติก็เข้ามาขยายการลงทุนใน
สปป.ลาว มากขึ้น จนปัจจุบัน สปป.ลาว มีธนาคารพาณิชย์ซึ่งประกอบด้วยธนาคารพาณิชย์ของรัฐ ธนาคารเฉพาะกิจ ธนาคารพาณิชย์
เอกชนธนาคารพาณิชย์ร่วมทุน ธนาคารพาณิชย์ที่เป็นบริษัทลูกของธนาคารต่างชาติ และสาขาของธนาคารพาณิชย์ต่างชาติ รวม 42 แห่ง
และมีสำนักงานตัวแทนของธนาคารพาณิชย์ต่างชาติอีก 1 แห่ง อย่างไรก็ตาม ระบบธนาคารใน สปป.ลาว ยังมีขนาดค่อนข้างเล็ก
สังเกตได้จากมูลค่าสินทรัพย์รวมของธนาคารทั้งหมดที่มีอยู่ราว 465 พันล้านบาท คิดเป็นไม่ถึง 2% ของมูลค่าสินทรัพย์รวมของธนาคาร
ทั้งหมดในไทย
ทั้งนี้ แม้ว่าปัจจุบันจำนวนผู้ประกอบการ SMEs ของไทยที่ทำการค้ากับ สปป.ลาว และใช้บริการทางการเงินระหว่างประเทศ
ผ่านระบบธนาคารในไทยกับธนาคารใน สปป.ลาว ยังมีค่อนข้างน้อย เนื่องจากการทำธุรกรรมส่วนใหญ่มีมูลค่าไม่สูงนัก และผู้ประกอบการ
มักใช้ระบบโพยก๊วน หรือเดินทางข้ามแดนไปหาคู่ค้าเพื่อชำระเงินค่าสินค้าด้วยตัวเอง อย่างไรก็ตาม ระบบธนาคารยังมีความสำคัญต่อ
กลุ่มผู้ประกอบการที่ทำธุรกรรมทางการเงินที่มีมูลค่าสูงและธุรกรรมที่เป็นทางการ หรือกลุ่มผู้ประกอบการที่ต้องการเปิดบัญชีธนาคาร
ใน สปป.ลาว เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมกับคู่ค้าชาวลาว นอกจากนี้ ระบบธนาคารยังช่วยผู้ประกอบการป้องกันความเสี่ยง
ที่อาจเกิดขึ้นในการทำการค้าระหว่างประเทศ ผู้ประกอบการที่สนใจทำธุรกิจกับชาวลาวจึงควรทำความรู้จักธนาคารใน สปป.ลาว
โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ของรัฐทั้ง 3 แห่ง ซึ่งประกอบด้วยธนาคารการค้าต่างประเทศลาว (Banque Pour Le Commerce Exterieur
Lao : BCEL) ธนาคารพัฒนาลาว (Lao Development Bank : LDB) และธนาคารส่งเสริมกสิกรรม (Agricultural Promotion Bank :
APB) รวมถึงธนาคารเฉพาะกิจอีก 1 แห่ง คือ ธนาคารนโยบาย (Nayoby Bank) ซึ่งธนาคารทั้ง 4 แห่งนี้เป็นธนาคารที่มีบทบาทสำคัญ
ต่อระบบการเงินและเศรษฐกิจของ สปป.ลาว อีกทั้งยังเป็นกลุ่มที่ครองส่วนแบ่งตลาดมากที่สุด โดยมีสัดส่วนมูลค่าสินทรัพย์รวมกัน
กว่าร้อยละ 44 ของสินทรัพย์ภาคธนาคารทั้งหมด รวมถึงมียอดเงินฝากและยอดสินเชื่อมากที่สุดในระบบธนาคาร สปป.ลาว คิดเป็น
สัดส่วนราว 57% และ 50% ตามลำดับ โดยรายละเอียดที่น่าสนใจของธนาคารทั้ง 4 แห่งมีดังนี้
• ธนาคารการค้าต่างประเทศลาว (BCEL) เป็นธนาคารพาณิชย์ของรัฐเพียงแห่งเดียวที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
สปป.ลาว โดยกระทรวงการคลังของ สปป.ลาว เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ คิดเป็นสัดส่วนราว 70% ทั้งนี้ BCEL เป็นธนาคารพาณิชย์
ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดใน สปป.ลาว เมื่อวัดจากมูลค่าสินทรัพย์ และเป็นธนาคารที่ให้บริการทางการเงินที่ครบวงจร โดยเฉพาะบริการทาง
การเงินด้านการค้าระหว่างประเทศ อาทิ สินเชื่อเพื่อการส่งออกและนำเข้า การเปิด L/C การออกหนังสือค้ำประกันเพื่อการออกสินค้า
การเรียกเก็บหรือชำระเงินค่าสินค้าตามตั๋วเรียกเก็บ และการโอนเงินระหว่างประเทศ ขณะเดียวกัน BCEL ยังเป็นผู้นำด้าน Internet
Banking และแอพพลิเคชั่น Mobile Banking ใน สปป.ลาว รวมถึง QR Code Payment (ปัจจุบันการจ่ายเงินด้วย QR Code ใน สปป.ลาว
ยังจำกัดพื้นที่อยู่ในย่านใจกลางเมืองใหญ่เท่านั้น) นอกจากนี้ BCEL ยังมีสาขาและหน่วยบริการต่างๆ รวมกันกว่า 117 แห่งทั่วประเทศ ทำให้ผู้ประกอบการไทยที่ทำธุรกิจใน สปป.ลาว ส่วนใหญ่เลือกใช้บริการธนาคารแห่งนี้ โดยเฉพาะการเปิดบัญชีเงินฝากเพื่อใช้ชำระเงิน
ค่าสินค้าด้วยวิธีการโอนเงินผ่านบัญชีธนาคารให้กับผู้ประกอบการชาวลาว
• ธนาคารพัฒนาลาว (LDB) เป็นธนาคารที่เกิดจากการควบรวมกิจการระหว่างธนาคารล้านช้างและธนาคารลาวใหม่ในปี
2546 มุ่งเน้นการให้บริการสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก รวมถึงให้บริการทางการเงินด้านการค้าระหว่างประเทศ เช่น
การเปิด L/C และการโอนเงินระหว่างประเทศ ทั้งนี้ LDB มีสาขาและหน่วยให้บริการทั้งหมด 53 แห่งทั่วประเทศ และยังมีเครือข่าย
Correspondent Bank กับอีกหลายประเทศ รวมถึงไทย
• ธนาคารส่งเสริมกสิกรรม (APB) เป็นธนาคารที่มุ่งเน้นให้การสนับสนุนทางการเงินในภาคเกษตรกรรมและการพัฒนาพื้นที่
ชนบท อาทิ สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับกลุ่มเกษตรกร และสินเชื่อธุรกิจขนาดเล็ก อย่างไรก็ตาม สำหรับบริการด้านการเงินระหว่างประเทศ
APB มีเพียงบริการโอนเงินระหว่างประเทศเท่านั้น โดยมีเครือข่าย Correspondent Bank กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์
การเกษตรของประเทศไทย
• ธนาคารนโยบาย (Nayoby Bank) เป็นธนาคารพาณิชย์เฉพาะกิจดำเนินงานโดยรัฐบาล สปป.ลาว ธนาคารนโยบายไม่มี
บริการรับฝากเงินเหมือนธนาคารพาณิชย์ทั่วไป แต่มีหน้าที่ระดมทุนและให้กู้ยืมแก่ครัวเรือน เกษตรกร และผู้ประกอบการรายย่อยที่ทำ
ธุรกิจในเขตพื้นที่ชนบท รวมถึงโครงการของรัฐที่ก่อให้เกิดการสร้างรายได้และการจ้างงาน เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนของประเทศ
ตามภารกิจหลักของรัฐบาล สปป.ลาว
แม้ว่า สปป.ลาว ยังมีธนาคารพาณิชย์ที่มีบทบาทสำคัญต่อระบบการเงินอีกหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นธนาคารพาณิชย์เอกชน หรือ
ธนาคารพาณิชย์ร่วมทุน แต่ธนาคารพาณิชย์ทั้ง 4 แห่งที่กล่าวมาข้างต้น นับว่าเป็นธนาคารที่มีความน่าเชื่อถือสูงและฐานะการเงินอยู่ใน
เกณฑ์ดี เนื่องจากเป็นธนาคารของรัฐบาล สปป.ลาว โดยตรง นอกจากนี้ ด้วยประสบการณ์ในการให้บริการทางการเงินเคียงคู่ชาวลาว
มายาวนาน ทำให้ธนาคารพาณิชย์ของรัฐเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ ของผู้ประกอบการไทยที่สนใจจะเริ่มใช้บริการทางการเงินผ่านระบบ
ธนาคารใน สปป.ลาว |