EXIM BANK จัดพิธีถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในวันฉัตรมงคล พุทธศักราช 2563
 
            นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK นําคณะผู้บริหาร EXIM BANK ร่วมถวายพระพรชัยมงคลเบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และลงนามถวายพระพร เนื่องในโอกาสมหามงคลวันฉัตรมงคล พุทธศักราช 2563 เพื่อแสดงความจงรักภักดีและน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ ณ EXIM BANK สํานักงานใหญ่ เมื่อเร็ว ๆ นี้  
  EXIM BANK บันทึกเทปถวายพระพรชัยมงคล สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี  
 

          นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK นำคณะผู้บริหารและพนักงาน EXIM BANK บันทึกเทปถวายพระพรชัยมงคล สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 3 มิถุนายน 2563 ณ สถานีโทรทัศน์ ช่อง 9 MCOT HD เมื่อเร็ว ๆ นี้

 
  EXIM BANK ต่อวาระ "พิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา" ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ สมัยที่ 2  
            คณะกรรมการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) มีมติเป็นเอกฉันท์ต่อวาระให้นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ EXIM BANK อีก 1 สมัย มีระยะเวลา 8 เดือน จนกว่านายพิศิษฐ์จะมีอายุครบ 60 ปี โดยได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ทั้งนี้ นายพิศิษฐ์ครบวาระ 4 ปีแรกสิ้นเดือนพฤษภาคม 2563 และครบวาระที่ 2 สิ้นเดือนมกราคม 2564  
            นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานกรรมการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า คณะกรรมการธนาคาร EXIM BANK มีมติเอกฉันท์ให้ต่อวาระนายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา ซึ่งจะครบวาระ 4 ปีในการดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ EXIM BANK เป็นกรรมการผู้จัดการ EXIM BANK สมัยที่ 2 โดยความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตามพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2536 เนื่องจากการบริหารงานของนายพิศิษฐ์ตลอด 4 ปีที่ผ่านมาทำให้ EXIM BANK มีผลการดำเนินงานที่ดี มีการเติบโตทั้งด้านสินเชื่อและการรับประกัน รวมทั้งการพัฒนาธุรกิจและบริการสนับสนุนและอยู่เคียงข้างผู้ส่งออกไทยและนักลงทุนไทยแม้ในภาวะวิกฤตต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการดำเนินภารกิจเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะ SMEs ในช่วงวิกฤตโควิด-19 รวมทั้งการทำงานร่วมกับภาครัฐและเอกชนเพื่อฟื้นฟูและเยียวยาเศรษฐกิจและสังคมไทยหลังวิกฤตโควิด-19 ตามพันธกิจและวัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง EXIM BANK โดยสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงการคลัง  

 

EXIM BANK แถลงผลการดำเนินงานพักชำระหนี้ พร้อมขยายสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ
ช่วยเหลือลูกค้าและผู้ส่งออก โดยเฉพาะ SMEs ในภาวะโควิด-19
 
            นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า EXIM BANK ได้ช่วยเหลือและเยียวยาลูกค้าและผู้ประกอบธุรกิจส่งออก นำเข้า และนักลงทุนไทยจากผลกระทบของโควิด-19 ด้วยมาตรการต่าง ๆ โดยติดต่อไปยังลูกค้าทุกรายเพื่อสอบถามความเดือดร้อนและจัดแพ็กเกจทางการเงินที่เหมาะสมให้ตามความต้องการของธุรกิจ ณ 15 พฤษภาคม 2563 EXIM BANK ได้ให้ความช่วยเหลือแก่ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบของโควิด-19 เป็นจำนวนกว่า 4,100 ราย หรือประมาณ 13% ของผู้ส่งออกทั้งประเทศ วงเงินรวมประมาณ 50,000 ล้านบาท ทำให้เกิดปริมาณธุรกิจด้านการค้าระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นกว่า 200,000 ล้านบาท มีผู้ประกอบการขอรับคำปรึกษาด้านการส่งออกและเข้าร่วมโครงการอบรมหรือสัมมนาออนไลน์กับศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้าของ EXIM BANK จำนวนกว่า 1,100 ราย

          ทั้งนี้ มาตรการของ EXIM BANK เพื่อสนับสนุนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ประกอบด้วย
          1. การพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 6 เดือน ให้แก่ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม
          2. การขยายเงื่อนไขบริการประกันการส่งออก เพื่อคุ้มครองความเสี่ยงจากการไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้าจากผู้ซื้อในต่างประเทศ โดยขยายระยะเวลาการชำระเงินที่ให้ความคุ้มครองสูงสุด 270 วันแก่ผู้ส่งออกที่ถือกรมธรรม์ประกันการส่งออกของ EXIM BANK และส่งออกไปยังประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ตามประกาศขององค์การอนามัยโลก
          3. สินเชื่อ Soft Loan ดอกเบี้ย 2% ต่อปี เพื่อเพิ่มสภาพคล่องทางธุรกิจให้แก่ลูกค้าและผู้ส่งออก
              • สินเชื่อระยะยาว 7 ปี สำหรับลูกค้าและผู้ประกอบการทั่วไป วงเงินสูงสุด 20 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยพิเศษ 2% ต่อปีในปีที่ 1-2
              • สินเชื่อระยะสั้น 2 ปี สำหรับลูกค้าที่มีวงเงินรวมกลุ่มไม่เกิน 500 ล้านบาท วงเงินสูงสุด 20% ของยอดหนี้คงค้าง ณ 31 ธันวาคม 2562 อัตราดอกเบี้ยพิเศษ 2% ต่อปี ฟรี! ดอกเบี้ย 6 เดือน และ ฟรี! ค่าธรรมเนียมการใช้สินเชื่อ
          4. สินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน ให้แก่กิจการที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออกและลงทุนระหว่างประเทศ ดอกเบี้ยต่ำสุด 3% ต่อปี วงเงินสูงสุด 15 ล้านบาทต่อราย ระยะเวลากู้สูงสุด 7 ปี
          5. สินเชื่อเพื่อการลงทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ดอกเบี้ย 2% ต่อปี วงเงินสูงสุด 100 ล้านบาทต่อราย ระยะเวลากู้สูงสุด 7 ปี
          6. สินเชื่อสนับสนุนสินค้าเกษตร อาทิ ผลไม้ และยาง
          7. การให้คำปรึกษาแนะนำทางโทรศัพท์ 0 2617 2111 ต่อ 3510-2 และจัดอบรมออนไลน์ เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยสามารถส่งออกได้มากขึ้น โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

          EXIM BANK ทำงานอย่างใกล้ชิดกับกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อเยียวยาลูกค้าและผู้ส่งออก ในรูปแบบการพักชำระหนี้และให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อเสริมสภาพคล่องด้วยต้นทุนทางการเงินที่ต่ำกว่าปกติ การขยายบริการประกันการส่งออก เพื่อช่วยให้ผู้ส่งออกไทยกล้าเสนอเทอมการชำระเงินที่ผ่อนปรนขึ้น โดยไม่ต้องกังวลว่าจะไม่ได้รับชำระเงินจากผู้ซื้อในต่างประเทศ ตลอดจนการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง อาทิ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการต่างประเทศ รวมถึงสำนักงานผู้แทน EXIM BANK ในย่างกุ้ง เวียงจันทน์ และพนมเปญ เพื่อให้ข้อมูลเศรษฐกิจและบทวิเคราะห์ธุรกิจ ชี้ช่องทางและโอกาสของผู้ประกอบการไทยในต่างประเทศ โดยเฉพาะ CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่ยังมีความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคจำนวนมาก แม้ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19

          “EXIM BANK ได้ติดตามสถานการณ์และความเดือดร้อนของลูกค้าและผู้ประกอบการไทยในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออกและลงทุน และออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อเยียวยาความเดือดร้อนอย่างต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่การลดดอกเบี้ย MLR MOR และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง MRR ให้อยู่ระดับ 5.75% ต่ำสุดในระบบธนาคาร ตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม 2563 เพื่อช่วยผู้ประกอบธุรกิจส่งออก โดยเฉพาะ SMEs การจัดให้มีแพ็กเกจทางการเงินและข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์แก่ลูกค้าและผู้ส่งออกที่สนใจ เพื่อเตรียมความพร้อมด้านเงินทุนและความรู้ ควบคู่กับการขยายเครือข่ายธุรกิจให้พร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น รวมทั้งพฤติกรรมของตลาดผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมสู่ฐานวิถีชีวิตใหม่หรือ New Normal พร้อมกับโอกาสใหม่ ๆ ทางธุรกิจที่จะเกิดขึ้นต่อไป” นายพิศิษฐ์กล่าว

 
  EXIM BANK เผยผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2563
มุ่งขยายสินเชื่อและพักชำระหนี้ให้แก่ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEs ในภาวะโควิด-19
 
            นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยผลการดำเนินงานในไตรมาส 1 (มกราคม-มีนาคม) ของปี 2563 ว่า ถึงแม้เศรษฐกิจไทยหดตัวลงในไตรมาสดังกล่าว แต่ EXIM BANK ยืนหยัดเป็นที่พึ่งให้กับผู้ประกอบการไทยผ่านการสนับสนุนสินเชื่อและบริการประกันที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย EXIM BANK มีสินเชื่อคงค้าง 126,137 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19,794 ล้านบาท หรือ 18.61% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นสินเชื่อเพื่อการค้า 37,028 ล้านบาท และสินเชื่อเพื่อการลงทุน 89,109 ล้านบาท ทำให้เกิดปริมาณธุรกิจ (Business Turnover) 46,759 ล้านบาท ซึ่งจากจำนวน 126,137 ล้านบาท เป็นเงินสินเชื่อคงค้างแก่ SMEs เท่ากับ 28,567 ล้านบาท เป็นปริมาณธุรกิจของ SMEs เท่ากับ 26,669 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 57.04%

          กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK เปิดเผยต่อไปว่า EXIM BANK มีอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPLs Ratio) ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2563 อยู่ที่ 4.86% โดยมีสินเชื่อด้อยคุณภาพจำนวน 6,132 ล้านบาท และมีเงินสำรองหนี้สงสัยจะสูญจำนวน 11,512 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,881 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นสำรองหนี้พึงกันตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย จำนวน 8,103 ล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินสำรองที่กันไว้แล้วต่อสำรองพึงกัน 142.06% ทำให้ EXIM BANK ยังคงดำรงฐานะการเงินที่มั่นคง

          ในการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยขยายการค้าและการลงทุนไปต่างประเทศ ในปี 2563 EXIM BANK มีวงเงินที่ให้การสนับสนุนแก่สินเชื่อโครงการระหว่างประเทศรวมทั้งสิ้น 83,880 ล้านบาท โดยเป็นสินเชื่อคงค้างจำนวน 51,541 ล้านบาท จากจำนวนนี้เป็นสินเชื่อคงค้างให้แก่โครงการขยายฐานการค้าและการลงทุนไปยังกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ซึ่งแม้ว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัวแต่ยังคงเป็นประเทศเป้าหมายหลักของการขยายธุรกิจของผู้ประกอบการไทย จำนวน 34,242 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4,870 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

          นอกจากนี้ EXIM BANK เป็นสถาบันการเงินไทยรายเดียวในประเทศที่มีบริการประกันการส่งออกและประกันความเสี่ยงการลงทุน ซึ่งภายใต้สถานการณ์ที่การค้าการลงทุนชะงักงันทั่วโลก ยิ่งมีบทบาทสำคัญในการช่วยเพิ่มความมั่นใจและความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกในตลาดการค้าเดิมและตลาดใหม่ รวมทั้งนักลงทุนไทย ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2563 EXIM BANK มีปริมาณธุรกิจด้านการรับประกันการส่งออกและการลงทุนเท่ากับ 36,690 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10,965 ล้านบาท หรือ 42.62% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นปริมาณธุรกิจของ SMEs จำนวน 1,356 ล้านบาท หรือ 3.70% ของปริมาณธุรกิจสะสมรวม

          จากผลการดำเนินงานด้านสินเชื่อและประกันข้างต้น แม้ว่า ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2563 EXIM BANK มีกำไรสุทธิ 107 ล้านบาท ลดลง 67.98% เมื่อเทียบกับกำไรสุทธิ 334 ล้านบาทในไตรมาสที่ 1 ปี 2562 เนื่องจากการปรับลดดอกเบี้ยขั้นต่ำสำหรับเงินกู้สกุลบาท (Prime Rate) เพื่อช่วยผู้ประกอบการ แต่ EXIM BANK ได้มีส่วนสำคัญในการประคับประคองเศรษฐกิจไทยและช่วยเหลือประชาชนภายใต้วิกฤตการณ์ในปัจจุบัน ด้วยการสนับสนุนการจ้างงานของสถานประกอบการทุกขนาดรวมกว่า 340,000 คน

          “ช่วงไตรมาส 1 ที่ผ่านมา EXIM BANK เน้นให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วยมาตรการต่าง ๆ อาทิ ติดต่อไปยังลูกค้าทุกรายเพื่อสอบถามความต้องการความช่วยเหลือ พักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 6 เดือนให้แก่ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมอนุมัติสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อเพิ่มสภาพคล่องทางธุรกิจและรักษาการจ้างงานของ กิจการที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออกและลงทุนระหว่างประเทศตามภารกิจของ EXIM BANK เป็นจำนวนกว่า 3,600 ราย หรือประมาณ 10% ของผู้ส่งออก SMEs ทั้งประเทศ วงเงินรวม 48,300 ล้านบาท รวมทั้งเปิดคลินิกให้คำปรึกษาและจัดโครงการอบรมออนไลน์ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เพื่อช่วยให้ทุกภาคส่วนในซัพพลายเชนการส่งออกสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้และผ่านพ้นความยากลำบากนี้ไปด้วยกัน” นายพิศิษฐ์กล่าว
 
 

EXIM BANK ร่วมกับ ITD และ วสท. ส่งมอบตู้ความดันลบ
สนับสนุนโรงพยาบาลชุมชนดูแลผู้ป่วยโควิด-19

 
            นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ ประธานกรรมการกำกับดูแลกิจการที่ดีและความรับผิดชอบต่อสังคม EXIM BANK นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK นายสุเมธ สุรบถโสภณ รองประธานบริหารอาวุโส บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) (ITD) นายชาติชาย ชุติมา รองประธานบริหารอาวุโส ITD และ ดร.ธเนศ วีระศิริ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ร่วมส่งมอบนวัตกรรมตู้ความดันลบ (Negative Pressure Cabinet) จำนวน 10 ชุด ให้แก่ พลโท ชาญชัย ติกขะปัญโญ เจ้ากรมแพทย์ทหารบก เพื่อนำไปใช้ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อในโรงพยาบาลชุมชนในต่างจังหวัด ณ อาคารกรมแพทย์ทหารบก เมื่อเร็ว ๆ นี้  
  EXIM BANK ร่วมกับมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย
จัดทำถุงยังชีพ 1,400 ชุด ช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19
 
            นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK และศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ รองประธานกรรมการ มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย จัดเตรียมถุงยังชีพ 1,400 ชุด ประกอบด้วย ข้าวสาร อาหารแห้ง อุปกรณ์ป้องกันการแพร่เชื้อโควิด-19 โดย EXIM BANK ร่วมกับมูลนิธิฯ เพื่อนำไปช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในชุมชนต่าง ๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เมื่อเร็ว ๆ นี้  
  EXIM BANK แต่งตั้งผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาความยั่งยืนและสื่อสารองค์กร
และฝ่ายกลุ่มอุตสาหกรรม 5
 
            EXIM BANK แต่งตั้งนางสาวพรธิกา กัญจนบุศย์ เป็นผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาความยั่งยืนและสื่อสารองค์กร และนายปริญญา งามวัฒนา เป็นผู้อำนวยการฝ่ายกลุ่มอุตสาหกรรม 5 มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป

          
ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) แต่งตั้งนางสาวพรธิกา กัญจนบุศย์ เป็นผู้อำนวยการฝ่าย
พัฒนาความยั่งยืนและสื่อสารองค์กร
 ดูแลงานจัดทำนโยบายและกลยุทธ์ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน นโยบายและกลยุทธ์ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการวางแผนและกำหนดแนวทางบริหารงานสื่อสารองค์กรและสื่อสารการตลาด  และนายปริญญา งามวัฒนา เป็นผู้อำนวยการฝ่ายกลุ่มอุตสาหกรรม 5 ดูแลงานสนับสนุนผู้ประกอบการรายใหญ่ด้านการส่งออกและการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ การสร้างเครือข่ายของผู้ประกอบการ การสร้างความเชี่ยวชาญในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมทั้งนำเสนอบริการแบบครบวงจรเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป
 
        นางสาวพรธิกาจบการศึกษาปริญญาโท ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการระหว่างประเทศและการทูต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปริญญาตรี อักษรศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าร่วมงานกับ EXIM BANK ตั้งแต่ปี 2546 เคยดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการ สำนักบริหาร เมื่อปี 2558 และ 2560 ตามลำดับ  
        นายปริญญาจบการศึกษาปริญญาโท ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเศรษฐศาสตร์ธุรกิจและการจัดการ (หลักสูตรภาษาอังกฤษ) และปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าร่วมงานกับ EXIM BANK ตั้งแต่ปี 2548 เคยดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายโครงการระหว่างประเทศ และรองผู้อำนวยการฝ่ายกลุ่มอุตสาหกรรม 3 เมื่อปี 2560 และ 2562 ตามลำดับ  
  หน้าหลัก   I   Share โลกเศรษฐกิจ   I   เปิดประตูสู่ตลาดใหม่   I   ส่องเทรนด์โลก
เกร็ดการเงินระหว่างประเทศ   I   CEO Talk   I   แวดวงคู่ค้า   I   แนะนำบริการ   I   สรุปข่าว