|
|
|
|
นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังยืดเยื้อและลุกลามไปทั่วโลกส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจแทบทุกภาคส่วนหยุดชะงักลง โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลกคาดการณ์ว่า GDP โลกปี 2563 จะหดตัว 4.9% และ 5.2% ตามลำดับ ซึ่งเป็นการหดตัวมากที่สุดในรอบกว่า 90 ปี สำหรับประเทศไทยเศรษฐกิจโลกที่หดตัวอย่างรุนแรงดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย โดยเฉพาะ SMEs ซึ่งอ่อนไหวต่อวิกฤตและความไม่แน่นอนสูง สะท้อนได้จากมูลค่าส่งออกของ SMEs ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2563 หดตัว 17.9% มากกว่ามูลค่าส่งออกรวมของประเทศไทยในช่วงเวลาเดียวกันที่หดตัว 7.1%
EXIM BANK จึงออก “มาตรการฟื้นฟูผู้ประกอบการหลังสถานการณ์โควิด-19” เพื่อเข้าไปดูแล ช่วยเหลือ สนับสนุนลูกค้าที่จำแนกได้เป็น 4 กลุ่ม ตามความต้องการของกิจการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ดังนี้
1. ผู้ประกอบการที่มีแนวโน้มเติบโตได้ EXIM BANK จะ “ส่งเสริม” ให้มีสภาพคล่องเพียงพอและมีความสามารถในการชำระหนี้ได้อย่างต่อเนื่อง
2. ผู้ประกอบการที่มีรายได้ลดลง แต่สามารถดำเนินกิจการได้อย่างต่อเนื่อง EXIM BANK จะ “ผ่อนปรน” เงื่อนไขต่าง ๆ เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการชำระเงินต้นได้หมด รวมทั้งสามารถขอสินเชื่อเพิ่มได้
3. ผู้ประกอบการที่ต้องการการ “ขยายระยะเวลา” การชำระคืนหนี้ เพื่อรอให้กิจการผ่านพ้นวิกฤตหรือต้องการการปรับปรุงโครงสร้างการผ่อนชำระเงินต้นและดอกเบี้ยบางส่วน
4. ผู้ประกอบการที่ขาดสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ EXIM BANK จะเข้าไปช่วยเหลือ “ประคับประคอง” เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าสู่กระบวนการปรับปรุงการชำระหนี้ ช่วยชะลอการเกิดหนี้ NPLs
ภายใต้ “มาตรการฟื้นฟูผู้ประกอบการหลังสถานการณ์โควิด-19” ลูกค้า EXIM BANK สามารถขอขยายระยะเวลา เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการชำระเงินกู้ให้สอดคล้องกับธุรกิจ และขอรับวงเงินสินเชื่อเพิ่มได้ ตั้งแต่บัดนี้จนถึง 31 ธันวาคม 2564
“EXIM BANK ได้ติดตามสถานการณ์ผลกระทบของโควิด-19 อย่างใกล้ชิดและพบว่า ลูกค้าที่ได้รับการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยสูงสุดนาน 6 เดือนตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 จำนวนกว่า 20% ยังไม่สามารถผ่อนชำระเงินต้นและดอกเบี้ยได้ และต้องการให้ธนาคารผ่อนปรนเงื่อนไขและขยายระยะเวลาการชำระคืนเงินกู้ ขณะที่บางกิจการสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้แต่ต้องการเงินทุนเพิ่ม และบางรายอาจยังขาดสภาพคล่อง EXIM BANK จึงพร้อมสนับสนุนสภาพคล่องและเข้าไปดูแลปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามความต้องการของลูกค้า เพื่อให้ธุรกิจส่งออกของไทย โดยเฉพาะ SMEs ค่อย ๆ กลับเข้าสู่ภาวะปกติและเติบโตต่อไปได้อย่างมั่นคง นำไปสู่การจ้างงานและการพัฒนาประเทศของไทย” นายพิศิษฐ์กล่าว |
|
|
|
|
|
EXIM BANK ออกบริการ “สินเชื่อเอ็กซิมเสริมทุนธุรกิจขนาดกลาง”
เสริมสภาพคล่องผู้ประกอบธุรกิจส่งออกไซส์ M |
|
|
|
|
|
|
EXIM BANK ออกบริการสินเชื่อเอ็กซิมเสริมทุนธุรกิจขนาดกลาง (EXIM Amazing M Credit) เป็นเงินทุนหมุนเวียนเพื่อเสริมสภาพคล่องทางธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางที่มีรายได้จากการขายตั้งแต่ 300-500 ล้านบาท วงเงินสินเชื่อสูงสุด 80 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยต่ำสุด 3.75% ต่อปี (Prime Rate -2.00% ต่อปี) แถมวงเงิน Forward Contract ป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน สูงสุด 3 เท่าของวงเงินสินเชื่อ ตั้งแต่บัดนี้ถึง 31 กรกฎาคม 2564 |
|
|
|
|
|
EXIM BANK พัฒนาบริการประกันการส่งออก
สนับสนุนผู้ประกอบการขนาดย่อมเริ่มต้นหรือขยายตลาดส่งออกอย่างมั่นใจ |
|
|
|
|
|
|
EXIM BANK ออกประกันส่งออก EXIM for Small Biz เป็นบริการประกันสำหรับผู้ประกอบการขนาดย่อมที่มีรายได้ไม่เกิน 100 ล้านบาทต่อปีหรือจ้างงานไม่เกิน 50 คน ที่เพิ่งเริ่มต้นส่งออก และไม่เคยใช้บริการประกันการส่งออก ให้มีความมั่นใจที่จะส่งออกโดยไม่ต้องกังวลว่าจะไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้าจากผู้ซื้อในต่างประเทศ อันเนื่องมาจากสาเหตุทางการค้าหรือการเมือง เบี้ยประกันเริ่มต้นเพียง 600 บาท อัตราความคุ้มครอง 80% ของมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้น วงเงินรับประกันสูงสุด 2 ล้านบาท ครอบคลุม 133 ประเทศทั่วโลก |
|
|
|
|
|
มอบทุนการศึกษาและปรับปรุงอาคารเรียน
สนับสนุนผู้พิการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาด้านคอมพิวเตอร์เพื่อประกอบอาชีพ |
|
|
|
|
|
|
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ ประธานกรรมการกำกับดูแลกิจการที่ดีและความรับผิดชอบต่อสังคม EXIM BANK นําคณะผู้บริหารและพนักงาน EXIM BANK มอบทุนการศึกษาจำนวน 10 ทุน พร้อมเงินสนับสนุนการปรับปรุงอาคารเรียน จำนวนทั้งสิ้น 500,000 บาท ให้แก่นายปกรณ์ ศังขวณิช รองประธานกรรมการมูลนิธิส่งเสริมและพัฒนาคนพิการ เพื่อสนับสนุนให้ผู้พิการได้เข้ารับการอบรมหลักสูตรคอมพิวเตอร์ สำหรับนำไปใช้ประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัว ณ มูลนิธิส่งเสริมและพัฒนาคนพิการ จังหวัดนนทบุรี เมื่อเร็ว ๆ นี้ ทั้งนี้ เป็นกิจกรรมภายใต้โครงการด้านความรับผิดชอบต่อสังคมของ EXIM BANK “ทุนชีวิต” ให้แก่ผู้พิการผ่านมูลนิธิส่งเสริมและพัฒนาคนพิการมาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 9 ปี ตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปัจจุบัน |
|
|
|
|
|
EXIM BANK จัดสัมมนาสร้างความรู้ความเข้าใจในความปลอดภัยด้านสารสนเทศ |
|
|
|
|
|
|
ดร.ดามพ์ สุคนธทรัพย์ ประธานกรรมการกำหนดกลยุทธ์และนโยบายด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ EXIM BANK ให้การต้อนรับนายจุมพล ริมสาคร รองปลัดกระทรวงการคลัง ประธานในพิธีเปิดงานสัมมนา “Security Awareness : Frontline Defense” เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยและการป้องกันภัยคุกคามด้านเทคโนโลยีสารสนเทศให้ผู้บริหารและพนักงาน EXIM BANK สามารถนำไปปรับใช้ในการทำงานได้อย่างมีประสิทธิผล ณ EXIM BANK สำนักงานใหญ่ เมื่อเร็ว ๆ นี้ |
|
|
|
|
|
EXIM BANK จับมือ บสย. และสถาบันการเงิน รวม 18 แห่ง
สนับสนุน SMEs เข้าถึงเงินทุนในการประกอบธุรกิจ |
|
|
|
|
|
|
นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK เข้าร่วมพิธีลงนามกับ ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และผู้บริหารสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐและธนาคารพาณิชย์ รวม 18 แห่ง ในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการค้ำประกันสินเชื่อ บสย. Soft Loan พลัส” ภายใต้มาตรการ บสย. SMEs ต้องชนะ โดยมีนายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานในพิธี และ ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นสักขีพยาน เพื่อช่วยผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เข้าถึงสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้มากขึ้น ณ กระทรวงการคลัง เมื่อเร็ว ๆ นี้ |
|
|
|
|
|
EXIM BANK จับมือภาครัฐและเอกชนส่งเสริมการผลิตเพื่อส่งออก
โดยใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC |
|
|
|
|
|
|
นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK ให้การต้อนรับ ดร.ประพิณ อภินรเศรษฐ์ นายกสมาคมผู้ประกอบการระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ไทย (TARA) ดร.ลัษมณ อรรถาพิช รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EECO) นางสาวศุธาศินี สมิตร ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และนายคง ลัคนาวิเชียร ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจใหม่ บริษัท โรงงานแม่รวย จำกัด วิทยากรในงานเสวนา “ตอบโจทย์อุตสาหกรรมและการส่งออกด้วย Automation” เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้ผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะ SMEs เห็นความสำคัญของการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีการผลิตโดยการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (Automation) เพื่อเพิ่มศักยภาพและประสิทธิภาพในการผลิตหลังวิกฤตโควิด-19 คลี่คลาย สอดรับกับนโยบายประเทศไทย 4.0 (Thailand 4.0) และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและภาคอุตสาหกรรมของประเทศ โดยเฉพาะโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ของรัฐบาล ทั้งนี้ EXIM BANK และ TARA ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการส่งเสริมศักยภาพและสนับสนุนผู้ประกอบการไทย ให้ยกระดับประสิทธิภาพการผลิตในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออกโดยใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ณ EXIM BANK สำนักงานใหญ่ เมื่อเร็ว ๆ นี้ |
|
|
|
|
|
EXIM BANK สนับสนุนกลุ่มบริษัท กรีน รับเบอร์ เอ็นเนอร์ยี่
ปรับปรุงประสิทธิภาพกระบวนการผลิตด้วยระบบไพโรไลซีส |
|
|
|
|
|
|
นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK และนายองอาจ เอื้ออภิญญกุล ประธานกรรมการ บริษัท กรีน รับเบอร์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด และบริษัท เซเว่นตี้ เอท แทรนซ์ฟอร์ม จำกัด ถ่ายภาพร่วมกันในพิธีลงนามสัญญาเงินกู้จำนวน 195 ล้านบาท เพื่อให้นำไปใช้ปรับปรุงประสิทธิภาพกระบวนการผลิตด้วยระบบไพโรไลซีส (Pyrolysis) ซึ่งเป็นระบบแปรรูปยางรถยนต์เก่าเป็นผงคาร์บอน (Carbon Black) สำหรับใช้ในอุตสาหกรรม เป็นการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดและส่งเสริมให้เกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ณ EXIM BANK สำนักงานใหญ่ เมื่อเร็ว ๆ นี้ |
|
|
|
|