 |
 |
 |
 |
|
เมียนมามีความพยายามในการปฏิรูปประเทศในหลายด้าน โดยเฉพาะด้านการค้าการลงทุน เพื่อผลักดันให้เศรษฐกิจของประเทศ
เติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน ดังจะเห็นได้จากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เมียนมาปรับปรุงกฎหมายหลายฉบับ อาทิ Investment Law,
Company Law, Retail and Wholesale Law, Condominium Law และ Financial Institutions Law สำหรับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ
สถาบันการเงินอย่าง Financial Institutions Law นั้น ได้รับการปรับปรุงมาตั้งแต่เดือนมกราคม 2559 ซึ่งต่อมาก็มีการออกกฎระเบียบ
ที่เกี่ยวข้องมาเป็นระยะ เพื่อทยอยปรับปรุงเงื่อนไขการดำเนินงานของสถาบันการเงินให้มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับสถานการณ์
ปัจจุบัน ไม่เว้นแม้แต่กฎระเบียบสำหรับสาขาธนาคารต่างชาติ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกสนับสนุนนักลงทุนต่างชาติที่สำคัญในเมียนมา
โดยในปี 2561 มีการปรับปรุงกฎระเบียบสำคัญสำหรับสาขาธนาคารต่างชาติ ดังนี้
• การอนุญาตให้สาขาของธนาคารต่างชาติในเมียนมาสามารถให้เงินกู้กับบริษัทท้องถิ่น ภายใต้ Directive No.6/2018
มีผลบังคับใช้เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2561 โดยธนาคารกลางเมียนมา (CBM) อนุญาตให้สาขาของธนาคารต่างชาติในเมียนมาให้บริการ
ทางการเงินในรูปแบบ Wholesale Banking ซึ่งรวมถึงการให้เงินกู้แก่บริษัทท้องถิ่นทั้งในสกุลเงินจ๊าตและสกุลเงินต่างประเทศ ตลอดจน
สามารถให้บริการทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับการค้า (Trade Financing) ไม่ว่าจะเป็นธุรกรรมส่งออกและนำเข้า เช่นเดียวกับธนาคาร
ท้องถิ่น จากเดิมที่สาขาของธนาคารต่างชาติในเมียนมาสามารถให้เงินกู้แก่บริษัทต่างชาติในสกุลเงินต่างประเทศได้เท่านั้น ทั้งนี้ เป็นที่
น่าสังเกตว่าการอนุญาตดังกล่าวไม่เพียงเพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้กับบริษัทท้องถิ่น แต่ยังทำให้บริการทางการเงินในตลาด
หลากหลายขึ้น เนื่องจากสาขาของธนาคารต่างชาติมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ครอบคลุมกว่าธนาคารท้องถิ่นเมียนมา โดยเฉพาะบริการ
ด้าน Trade Financing
• การอนุญาตให้สาขาของธนาคารต่างชาติในเมียนมาสามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สกุลเงินต่างประเทศได้เอง
นอกจากการอนุญาตให้สาขาของธนาคารต่างชาติให้เงินกู้สกุลเงินจ๊าตและสกุลเงินต่างประเทศกับบริษัทท้องถิ่นในประเทศแล้ว
ธนาคารกลางเมียนมายังอนุญาตให้สาขาของธนาคารต่างชาติสามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สกุลเงินต่างประเทศได้เอง แต่มีเงื่อนไข
ว่าอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวต้องสอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยในตลาด โดยธนาคารกลางเมียนมาไม่มีการกำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยเงินกู้
สกุลเงินต่างประเทศสูงสุดไว้ ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สกุลเงินจ๊าตต้องเป็นไปตามที่ธนาคารกลางเมียนมากำหนด กล่าวคือ สูงสุดไม่เกิน
13% ต่อปี ซึ่งเท่ากับอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์ท้องถิ่นปล่อยกู้
• การอนุญาตให้ธนาคารต่างชาติเปิดสาขาในเมียนมาเพิ่มขึ้น ภายใต้การปฏิรูปภาคธนาคาร ธนาคารกลางเมียนมาเตรียม
อนุญาตให้ธนาคารต่างชาติรายใหม่เข้ามาเปิดสาขาในเมียนมาได้เพิ่มขึ้นในปี 2562 รวมถึงเตรียมอนุญาตให้ธนาคารต่างชาติที่มีสาขา
อยู่ในเมืองย่างกุ้งแล้วสามารถยื่นขอเปิดสาขาเพิ่มเติมในเมียนมา จากเดิมที่ธนาคารต่างชาติที่ได้รับใบอนุญาตจากธนาคารกลางเมียนมา
สามารถเปิดสาขาได้เพียง 1 แห่งเท่านั้น ความเคลื่อนไหวของธนาคารกลางเมียนมาในครั้งนี้ถือเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
เนื่องจากที่ผ่านมาธนาคารกลางเมียนมาค่อนข้างเข้มงวดกับการเข้ามาเปิดสาขาของธนาคารต่างชาติ เนื่องจากต้องการปกป้อง
การดำเนินธุรกิจของธนาคารท้องถิ่น แต่ปัจจุบันธนาคารกลางเมียนมาเริ่มผ่อนคลายข้อจำกัดต่างๆ ลงตามแผนปฏิรูปภาคธนาคารเพื่อ
ยกระดับภาคธนาคารให้แข็งแกร่ง จึงเป็นโอกาสที่ธนาคารต่างชาติจะเข้ามาลงทุนในเมียนมามากขึ้น
ทั้งนี้ แม้ว่าสาขาของธนาคารต่างชาติจะให้บริการทางการเงินกับบริษัทท้องถิ่นได้ใกล้เคียงกับธนาคารท้องถิ่นมากขึ้น แต่
ธนาคารกลางเมียนมายังไม่อนุญาตให้สาขาของธนาคารต่างชาติให้บริการทางการเงินในรูปแบบ Retail Banking ในเมียนมา รวมทั้ง
ไม่อนุญาตให้สาขาของธนาคารต่างชาติรับอสังหาริมทรัพย์ เช่น ที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งเงื่อนไขในกรณี
หลังทำให้สาขาของธนาคารต่างชาติยังคงรุกขยายการให้บริการทางการเงินอย่างระมัดระวัง อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปภาคธนาคาร
ของเมียนมาที่กล่าวมาข้างต้นคาดว่าจะช่วยให้ภาคธุรกิจท้องถิ่นของเมียนมาเข้าถึงบริการทางการเงินและแหล่งเงินทุนในระบบสถาบัน
การเงินได้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจเติบโตได้เร็วยิ่งขึ้นและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคธุรกิจท้องถิ่นในระยะยาว ขณะเดียวกัน
การปฏิรูปภาคธนาคารจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นและดึงดูดให้ธนาคารต่างชาติเข้ามาลงทุนในเมียนมามากขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็น
แรงผลักดันให้เกิดการแข่งขันในภาคธนาคารของประเทศ ทำให้สถาบันการเงินท้องถิ่นมีการพัฒนาและปรับตัวเพื่อให้สามารถแข่งขัน
กับธนาคารต่างชาติได้ อันจะส่งผลดีต่อการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับภาคธนาคารของเมียนมาทั้งระบบ |
|
|
 |
 |
|
สาขาของธนาคารต่างชาติในเมียนมา |
|
|
 |
|
ปัจจุบันสาขาของธนาคารต่างชาติในเมียนมามีจำนวน 13 แห่ง ดังนี้
1. Bangkok Bank Public Company Limited (ไทย)
2. Oversea-Chinese Banking Corporation Ltd. (สิงคโปร์)
3. United Overseas Bank Limited (สิงคโปร์)
4. Bank of Tokyo-Mitsubishi UFJ, Ltd. (ญี่ปุ่น)
5. Sumitomo Mitsui Banking Corporation (ญี่ปุ่น)
6. Mizuho Bank Limited (ญี่ปุ่น)
7. Industrial and Commercial Bank of China (จีน)
8. Malayan Banking Berhad (มาเลเซีย)
9. Australia and New Zealand Banking Group Limited (ออสเตรเลีย)
10. The Joint Stock Commercial Bank for Investment and Development of Vietnam (เวียดนาม)
11. Shinhan Bank (เกาหลีใต้) 12. E.Sun Commercial Bank Limited (ไต้หวัน)
13. State Bank of India (อินเดีย) |
|
|
 |
 |
|
 |
|
Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น
โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด |
|
|
|
 |
 |
 |
|