 |
|
นับตั้งแต่เมียนมาเริ่มเปิดประเทศราวปี 2553 นักลงทุนต่างชาติได้ทยอยเข้าลงทุนในเมียนมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจุดเด่นด้านแรงงาน
ในเมียนมาถือเป็นปัจจัยดึงดูดการลงทุนที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นค่าจ้างแรงงานที่ยังอยู่ในระดับต่ำและจำนวนแรงงานที่มีอยู่ค่อนข้างมาก
ดังนั้น ก่อนที่ผู้ประกอบการไทยจะเข้าไปลงทุนในเมียนมา จึงควรทำความเข้าใจกับกฎระเบียบ วิธีปฏิบัติ และเกร็ดวัฒนธรรม ที่เกี่ยวข้อง
กับการจ้างแรงงานในเมียนมาให้ดี
กฎหมายและวิธีปฏิบัติในการจ้างแรงงาน
กฎหมายการลงทุนของเมียนมา ฉบับปี 2559 กำหนดว่า สำหรับงานทั่วไป ผู้ประกอบการสามารถจ้างแรงงานได้เฉพาะชาวเมียนมา
เท่านั้น ขณะที่งานที่ต้องใช้ความรู้ ความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง หรืองานระดับตำแหน่งผู้จัดการ ผู้ประกอบการสามารถจ้างแรงงาน
ต่างชาติได้ แต่มีเงื่อนไขว่าจะต้องมีการถ่ายทอดความรู้ให้แก่แรงงานเมียนมา เพื่อที่แรงงานเมียนมาจะสามารถทำงานทดแทนได้ใน
อนาคต อย่างไรก็ตาม แม้กฎหมายการลงทุนฉบับปัจจุบันจะไม่มีการกำหนดสัดส่วนการจ้างแรงงานต่างชาติ (กฎหมายฉบับเก่ากำหนด
ให้มีสัดส่วนการจ้างแรงงานต่างชาติตั้งแต่ 25-75% ของแรงงานมีฝีมือทั้งหมด) แต่ในทางปฏิบัติแรงงานเมียนมาจะต้องได้รับการ
พิจารณาในการว่าจ้างงานก่อนเสมอ
สำหรับการว่าจ้างแรงงานต่างชาติ กฎหมายเมียนมาอนุญาตให้บริษัทที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจจากสำนักงานคณะกรรมการ
การลงทุนของเมียนมา (Myanmar Investment Commission : MIC) สามารถจ้างผู้เชี่ยวชาญหรือช่างเทคนิคชาวต่างชาติได้ โดยต้อง
ระบุจำนวนผู้เชี่ยวชาญหรือช่างเทคนิคชาวต่างชาติที่จะจ้างในแบบฟอร์มการขออนุมัติประกอบธุรกิจที่ยื่นให้ MIC ซึ่งเมื่อ MIC อนุมัติแล้ว
บริษัทต้องยื่นขอใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) จากกรมแรงงาน (Directorate of Labor) กระทรวงแรงงานของเมียนมา
สำหรับการเดินทางเข้าเมียนมา แรงงานต่างชาติต้องขอวีซ่าประเภทธุรกิจ (Business Visa) ซึ่งในช่วงแรกจะสามารถขอได้
เฉพาะแบบเข้า-ออกเพียงครั้งเดียว (Single-entry) โดยวีซ่ามีอายุไม่เกิน 10 สัปดาห์ ซึ่งเมื่อเดินทางเข้าออกด้วย Business Visa แบบ
Single-Entry ครบ 3 ครั้ง จะสามารถขอเป็นแบบ Multiple-entry ได้ โดยวีซ่ามีอายุ 6 เดือน หรือ 1 ปี และแต่ละครั้งจะสามารถเข้ามา
พำนักในเมียนมาได้ไม่เกิน 10 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม หากต้องการพำนักในเมียนมาเกินกว่าระยะเวลา 10 สัปดาห์ ลูกจ้างต่างชาติจะ
ต้องยื่นขอใบอนุญาตพำนักอาศัย (Stay Permit) เพิ่มเติม โดย Stay Permit มีอายุ 3 เดือน หรือ 1 ปี ทั้งนี้ ในทางปฏิบัติของลูกจ้าง
ชาวไทยที่เดินทางไปทำงานในเมียนมาส่วนใหญ่นิยมขอเพียง Business Visa เนื่องจากการเดินทางไปกลับระหว่างไทยและเมียนมา
ทำได้ค่อนข้างสะดวก ลูกจ้างชาวไทยส่วนมากจึงพำนักติดต่อกันไม่เกินระยะเวลาที่วีซ่ากำหนด มีเพียงส่วนน้อยที่ขอ Stay Permit
ซึ่งต้องใช้เอกสารค่อนข้างมากและมีขั้นตอนเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ลูกจ้างชาวไทยบางส่วนใช้วีซ่าท่องเที่ยวในการเดินทางไปทำงาน
ชั่วคราวที่เมียนมา เนื่องจากปัจจุบันเมียนมาได้ยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ที่ถือหนังสือเดินทางประเทศไทย โดยสามารถอยู่ได้
ชั่วคราวไม่เกิน 14 วัน วิธีดังกล่าวจึงเหมาะสำหรับลูกจ้างที่ต้องเดินทางไปเมียนมาเป็นครั้งคราวและใช้เวลาทำงานเพียงระยะสั้นๆ
|
|
 |
 |
 |
 |
|
ค่าจ้างแรงงานและสวัสดิการ
เมื่อเดือนพฤษภาคม 2561 รัฐบาลเมียนมาได้ปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำสำหรับแรงงานทุกประเภทอุตสาหกรรมเป็น 4,800 จ๊าต
ต่อวัน จากเดิมอยู่ที่ 3,600 จ๊าตต่อวัน นับเป็นการปรับขึ้นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2558 โดยมีผลบังคับใช้กับบริษัทที่มีการจ้างงานมากกว่า 10
คนขึ้นไป ทั้งนี้ ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำของเมียนมาถือได้ว่าเป็นอัตราต่ำที่สุดในอาเซียน จึงนับเป็นแรงดึงดูดสำคัญในการลงทุนใน
อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานมาก ซึ่งการจ่ายค่าจ้างในเมียนมานิยมจ่ายเป็นเงินสด ขณะที่เงินจ๊าตและเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นสกุลเงินหลัก
ที่ใช้ในการจ่ายค่าจ้างแรงงาน โดยจากการสำรวจของบริษัท Myanmar Survey Research พบว่า 86% ของบริษัทต่างชาติในเมียนมา
ที่ทำการสำรวจ จ่ายค่าจ้างแรงงานเป็นสกุลเงินจ๊าตเพียงอย่างเดียว อีก 11% จ่ายทั้งสกุลเงินจ๊าตและเงินดอลลาร์สหรัฐที่เหลือ 3%
จ่ายเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐเพียงอย่างเดียว
นอกเหนือจากค่าตอบแทนในรูปของค่าจ้างแรงงานแล้ว นายจ้างจะต้องจัดหาสวัสดิการขั้นพื้นฐานในที่ทำงานตามประเภทกิจการ
เพื่อสุขภาพและความปลอดภัยของลูกจ้างด้วย อาทิ กิจการประเภทโรงงานจะต้องมีการจัดหาสวัสดิการน้ำดื่มสะอาดและอุปกรณ์
ปฐมพยาบาลเบื้องต้น ขณะที่หากกิจการมีพนักงานมากกว่า 100 คน สถานประกอบการจะต้องมีโรงอาหารและห้องพักผ่อน และหากมี
พนักงานมากกว่า 250 คน จะต้องมีห้องพยาบาลและพยาบาลคอยดูแลประจำโรงงาน นอกจากนี้ หากมีพนักงานหญิงมากกว่า 50 คน
จะต้องมีห้องรับเลี้ยงเด็กที่อายุน้อยกว่า 6 ปี |
|
 |
|
อัตราเงินเดือนเฉลี่ยของพนักงานเมียนมา |
|
|
 |
|
ที่มา : Salary Survey Report 2018, Myanmar Survey Research Co., Ltd. |
|
|
 |
 |
|
วันหยุดราชการ
เมียนมามีศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติและมีขนบธรรมเนียมประเพณีคล้ายคลึงกับไทย จึงทำให้เมียนมามีวันหยุดราชการ
ที่ค่อนข้างตรงกับวันหยุดราชการของไทย โดยวันหยุดที่สำคัญที่สุดคือ วันหยุด 5 วัน ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ หรือที่ในภาษาเมียนมา
เรียกว่า “Thingyan” นับเป็นวันหยุดติดต่อกันนานที่สุดของเมียนมา ในช่วงนี้ชาวเมียนมานิยมเดินทางกลับภูมิลำเนาของตน เพื่อฉลอง
วันขึ้นปีใหม่กับครอบครัว ทั้งนี้ หากวันหยุดนักขัตฤกษ์ตรงกับวันเสาร์หรือวันอาทิตย์ จะไม่มีการหยุดชดเชยในวันทำการถัดไป |
|
 |
|
 |
|
 |
 |
|
เกร็ดน่ารู้ของแรงงานเมียนมา
การทำงานกับลูกจ้างชาวเมียนมา ผู้ประกอบการควรเข้าใจถึงลักษณะและอุปนิสัยส่วนใหญ่ของชาวเมียนมา เพื่อให้การสื่อสาร
ในการทำงานเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งลักษณะสำคัญของแรงงานเมียนมามีดังนี้
• แรงงานเมียนมาถนัดทำงานทีละอย่าง หากผู้ประกอบการจะมอบหมายงานให้พร้อมกันหลายงาน ควรจัดลำดับความสำคัญ
ของงานให้ชัดเจนว่าต้องทำงานไหนก่อนหลัง
• แรงงานเมียนมาจะไม่บอกถึงข้อจำกัดในการทำงานของตนเอง ผู้ประกอบการจึงควรสื่อสารกับแรงงานให้ชัดเจนและ
ซักถามสิ่งที่มอบหมายให้ทำว่าเข้าใจตรงกันหรือไม่ รวมถึงต้องหมั่นตรวจสอบความคืบหน้าในการทำงาน เพราะหากแรงงานไม่สามารถ
ทำงานที่ได้รับมอบหมาย จะได้แก้ไขสถานการณ์ได้ทันท่วงที
• แรงงานเมียนมาให้ความสำคัญกับการให้เกียรติกัน โดยเฉพาะผู้ที่อาวุโสกว่า ดังนั้น ผู้ประกอบการควรมีวิธีสื่อสารหรือ
วิธีปฏิบัติที่ให้เกียรติซึ่งกันและกัน ไม่ดูถูกความสามารถหรือตำหนิชาวเมียนมาในที่สาธารณะ
นอกจากนี้ อย่างที่ทราบกันดีว่าเมียนมาเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ซึ่งชาวเมียนมาแต่ละชาติพันธุ์มีวิถีการ
ดำรงชีวิต ภาษา วัฒนธรรม รวมถึงขนบธรรมเนียมประเพณีที่แตกต่างกัน ผู้ประกอบการจึงควรทราบว่าแรงงานของตนมาจากชาติพันธุ์ใด
และมีวัฒนธรรมเฉพาะอย่างไร ซึ่งการแสดงออกว่าเราเข้าใจวัฒนธรรมดังกล่าวจะช่วยสร้างบรรยากาศที่ดีในการทำงานร่วมกัน
|
|