กัมพูชาเป็นหนึ่งในประเทศเพื่อนบ้านของไทยที่เศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนเติบโตอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันแม้การค้าส่วนใหญ่
ยังอยู่ในรูปแบบดั้งเดิม แต่การค้าในรูปแบบของ e-Commerce ก็มีการเติบโตโดดเด่นและเริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจของ
กัมพูชา อีกทั้งยังได้แรงหนุนจากการที่รัฐบาลกัมพูชามุ่งสนับสนุน เนื่องจากเล็งเห็นถึงความสำคัญของ e-Commerce ที่จะช่วยพัฒนา
และยกระดับเศรษฐกิจภายในประเทศ และจากการขยายตัวของแพลตฟอร์มที่ให้บริการขายสินค้าทางออนไลน์ ดังนั้น การค้าขายสินค้า
ผ่านทางออนไลน์จึงเป็นอีกช่องทางสำหรับผู้ประกอบการไทยที่สนใจจะเข้าไปทำการค้ากับกัมพูชา นอกเหนือจากช่องทางการค้าขาย
สินค้าแบบปกติ

เกร็ดที่น่าสนใจของตลาดการค้าสินค้าออนไลน์ในกัมพูชา
          จำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ สถิติจาก We are Social บริษัทด้านสื่อโฆษณาชั้นนำของโลก
ณ เดือนมกราคม 2561 พบว่ากัมพูชามีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตราว 8 ล้านคนจากประชากรราว 16 ล้านคน หรือราว 50% ของจำนวน
ประชากรกัมพูชาทั้งหมด เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าเมื่อเทียบกับในเดือนพฤศจิกายน 2558 โดยส่วนใหญ่เป็นการใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่าน
โทรศัพท์มือถือถึง 6.3 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 39% ของจำนวนประชากรกัมพูชาทั้งหมด มากเป็นอันดับสามของกลุ่มประเทศ CLMVT
(ประกอบด้วยประเทศกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย) รองจากไทยและเวียดนาม ทั้งนี้ กัมพูชามีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ
สูงถึง 29.20 ล้านเลขหมาย มากกว่าจำนวนประชากรทั้งประเทศ ขณะที่จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการใช้ผ่านโทรศัพท์
มือถือ ซึ่งมีหลากหลายแอพพลิเคชันที่ชาวกัมพูชานิยม เช่น Facebook และ Instagram ส่งผลให้การค้าสินค้าออนไลน์ในกัมพูชา
เร่งตัวขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
  สัดส่วนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือใน CLMVT  
  หมายเหตุ : *
ที่มา :
% ของประชากรทั้งประเทศ
We are Social ณ มกราคม 2561
            Facebook และ Instagram เป็นแพลตฟอร์มที่นิยมใช้ในการซื้อขายสินค้าออนไลน์มากที่สุด ทั้งนี้ สถิติของ We are
Social ณ เดือนมกราคม 2561 พบว่า ผู้ใช้ Facebook ในกัมพูชามีจำนวนสูงถึง 7 ล้านคน เพิ่มขึ้น 43% เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม
2560 นอกจากนี้ ยังพบว่ารูปแบบการโพสต์บน Facebook ที่ชาวกัมพูชาชื่นชอบและได้รับการตอบสนองมากที่สุด คือ การโพสต์ที่เป็น
วิดีโอ รองลงมา คือ โพสต์ที่เป็นรูปภาพ และโพสต์ที่เป็นข้อความ ขณะที่ผู้ใช้งาน Instagram ในกัมพูชาก็เริ่มมีจำนวนเพิ่มขึ้น หาก
พิจารณาการใช้แพลตฟอร์มพบว่า ผู้ซื้อที่มีรายได้สูงส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มผู้ใช้ Instagram ขณะที่ผู้ซื้อที่มีรายได้ระดับปานกลางจะเป็น
กลุ่มผู้ใช้ Facebook นอกจากนี้ ยังมีแพลตฟอร์มอื่นๆ ของผู้ให้บริการท้องถิ่นให้บริการซื้อขายสินค้าออนไลน์ อาทิ Gladmarket,
Mall855, MyPhsar และ RoseRb.com โดยสินค้าที่จำหน่ายทางออนไลน์มีหลากหลายประเภท อาทิ เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์
บำรุงผิว อาหารเสริมเพื่อสุขภาพ สินค้าแฟชั่นและเครื่องประดับ เครื่องใช้และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์และรถจักรยานยนต์ เป็นต้น
  ตัวอย่างแพลตฟอร์มของผู้ให้บริการท้องถิ่นกัมพูชา
 
   
  ที่มา : http://www.accessify.com และ https://www.techinasia.com  
            ชาวกัมพูชานิยมจ่ายชำระค่าสินค้าออนไลน์ที่ปลายทางและชำระเป็นเงินสด ส่วนหนึ่งเนื่องจากปัจจุบันชาวกัมพูชา
ส่วนใหญ่ยังไม่มีบัตรเครดิตใช้ สะท้อนได้จากสถิติของ We are Social ณ เดือนมกราคม 2561 ที่ระบุว่าในจำนวนประชากรกัมพูชาซึ่งมี
อายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปมีเพียง 3% เท่านั้นที่มีบัตรเครดิต ทำให้ปัจจุบันการซื้อขายสินค้าออนไลน์ยังเป็นเพียงการเลือกดูสินค้าจาก
Facebook และ Instagram อาจมีสั่งซื้อทาง Messenger ใน Facebook หรือใช้การโทรศัพท์ยืนยันการซื้อขาย แต่การชำระค่าสินค้า
ยังนิยมวิธีการชำระด้วยเงินสดเมื่อได้รับสินค้า (Cash on Delivery : COD) มากกว่าการชำระค่าสินค้าด้วยช่องทางอื่นๆ อาทิ การโอน
ผ่าน Wing (Wing Cambodia Limited Specialized Bank) ผู้ให้บริการโอนเงินรายใหญ่ในกัมพูชา True Money บริษัทย่อยของค่าย
มือถือยักษ์ใหญ่จากไทยและ Pi Pay ซึ่งเป็นแอพพลิเคชันสำหรับการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่การโอนเงินผ่านธนาคารยัง
ไม่เป็นที่นิยมมากนัก ซึ่งจากสถิติพบว่าชาวกัมพูชาซึ่งมีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป มีบัญชีธนาคารเพียง 22 %
  ผู้ให้บริการการชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือในกัมพูชา  
  ที่มา: http://www.cryptoasia.co/top-mobile-payment-systems-cambodia  
            วิธีการจัดส่งสินค้าออนไลน์ เนื่องจากชาวกัมพูชาไม่ชอบการรอคอย หากสั่งซื้อสินค้าวันนี้ก็มักต้องการได้รับสินค้าอย่างรวดเร็ว
ยิ่งได้รับทันทีหลังจากที่สั่งซื้อเลยยิ่งดี บางครั้งแค่เพียงแจ้งว่าจะต้องส่งสินค้าวันถัดไป ลูกค้าก็อาจขอยกเลิกคำสั่งซื้อทันที อีกทั้ง
ชาวกัมพูชาไม่นิยมชำระเงินค่าสินค้าก่อนได้รับสินค้า ผู้จำหน่ายสินค้าผ่านระบบออนไลน์จึงอาจใช้วิธีว่าจ้างผู้ให้บริการขนส่งสินค้าจัดส่ง
สินค้าให้กับลูกค้า หรือเลือกใช้รถจักรยานยนต์รับจ้างขนส่งสินค้า ซึ่งวิธีดังกล่าวมีความสะดวกและรวดเร็วกว่าวิธีอื่นๆ เพราะกรุงพนมเปญ
มักประสบปัญหารถติดเช่นเดียวกับเมืองใหญ่ๆ หลายเมือง ขณะที่ระบบการจัดส่งสินค้าผ่านไปรษณีย์ของกัมพูชายังค่อนข้างล่าช้าและ
สินค้าอาจได้รับความเสียหายจึงไม่เป็นที่นิยม ทั้งนี้ ปัจจุบันผู้ให้บริการสินค้าออนไลน์ส่วนใหญ่ในกัมพูชาไม่คิดค่าจัดส่งสินค้า
  ตัวอย่างผู้ให้บริการสินค้าออนไลน์กัมพูชาที่ไม่คิดค่าจัดส่งสินค้า  
  ที่มา : http://www.eshoppingcambodia.com  
            กระแสการค้าผ่านระบบออนไลน์ซึ่งเป็นที่นิยมมากขึ้นในกัมพูชา โดยเฉพาะบนแพลตฟอร์มสำคัญอย่าง Facebook หรือ
Instagram คาดว่าจะเพิ่มโอกาสให้กับผู้ประกอบการไทยในการเข้าสู่ตลาดการค้าออนไลน์ในกัมพูชา โดยเฉพาะสินค้าใน
กลุ่มเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์บำรุงผิว อาหารเสริมเพื่อสุขภาพ และสินค้าแฟชั่น อย่างไรก็ตาม การที่ชาวกัมพูชายังไม่นิยมใช้
บัตรเครดิตรวมถึงระบบการขนส่งในประเทศที่ยังไม่เอื้อต่อการค้าขายผ่านทางออนไลน์ ตลอดจนภาวะการแข่งขันที่เริ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะ
ผู้ค้าสินค้าออนไลน์จากจีน ซึ่งได้เปรียบด้านต้นทุน ปัจจัยเหล่านี้ยังคงเป็นความท้าทายสำหรับผู้ประกอบการไทยที่จะก้าวเข้าสู่การค้า
ออนไลน์ในตลาดกัมพูชา
  Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์
ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ
ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
 
  หน้าหลัก   I   Share โลกเศรษฐกิจ   I   เปิดประตูสู่ตลาดใหม่   I   ส่องเทรนด์โลก
เกร็ดการเงินระหว่างประเทศ   I   CEO Talk   I   แวดวงคู่ค้า   I   แนะนำบริการ   I   สรุปข่าว