การที่ผู้ส่งออกขายสินค้าแล้วไม่ได้รับชำระเงินมีสาเหตุอยู่ด้วยกันหลายประการ ทั้งเนื่องจากคู่ค้าล้มละลาย คู่ค้าปฏิเสธการรับมอบ
สินค้า ประเทศคู่ค้าเกิดเหตุการณ์จลาจลหรือปัญหาอื่นๆ ที่ทำให้ไม่สามารถโอนเงินออกนอกประเทศได้ตามปกติ รวมถึงคู่ค้าตั้งใจ
หลอกลวงผู้ส่งออกมาตั้งแต่ต้น กรณีหลังนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง โดยเฉพาะการส่งออกไปยังตลาดใหม่ๆ ที่ผู้ประกอบการยังไม่คุ้นเคย ที่จะขอ
ยกตัวอย่างในครั้งนี้ คือ ประเทศในแถบแอฟริกา ซึ่งหลายฝ่ายให้ข้อมูลตรงกันว่าปัจจุบันมีผู้ซื้อในทวีปแอฟริกาจำนวนมากที่ตั้งบริษัท
เพื่อหลอกลวง และข้อมูลการจดทะเบียนบริษัทในแอฟริกาไม่น่าเชื่อถือเท่าที่ควร ส่วนหนึ่งเนื่องจากการจดทะเบียนเป็นบริษัทในแอฟริกา
ดำเนินการได้ไม่ยาก จึงมีนักฉวยโอกาสหัวใสที่อาศัยจุดนี้มาจดทะเบียนตั้งบริษัทให้ดูน่าเชื่อถือ และติดต่อทำการซื้อขายสินค้าด้วย
พฤติกรรมที่ไม่ชอบมาพากล

          ดังเช่นกรณีของผู้ส่งออกรายหนึ่งของไทยที่ได้ตัดสินใจทำการค้ากับคู่ค้ารายใหม่ซึ่งเป็นผู้นำเข้าสินค้าในยูกันดา โดยตกลงว่า
จะส่งออกสารเคมีไปให้คู่ค้าในยูกันดามูลค่าราว 3 ล้านบาท ด้วยวิธีชำระเงินแบบเปิดบัญชีขายเชื่อ (Open Account: O/A 40 days after
shipment date) หมายถึงผู้ส่งออกจะส่งมอบสินค้าให้ก่อนและให้คู่ค้าชำระเงินค่าสินค้าภายในระยะเวลา 40 วันนับจากวันที่ผู้ส่งออก
ได้จัดส่งสินค้าให้ และเมื่อใกล้ถึงกำหนดชำระเงินค่าสินค้า ปรากฏว่าคู่ค้าทางยูกันดาแจ้งมาว่า ไม่สามารถโอนเงินค่าสินค้ามาให้ได้
ตามกำหนดที่ตกลงกันไว้ เพราะทางการยูกันดาประกาศกฎหมายใหม่ออกมาว่าการโอนเงินมากกว่า 50,000 ดอลลาร์สหรัฐต้องทำเรื่อง
แจ้งธนาคารกลาง การโอนเงินค่าซื้อสินค้ามูลค่า 3 ล้านบาทในครั้งนี้ จึงอาจล่าช้าหรืออาจจะโอนไม่ได้ แม้จะฟังดูมีเหตุผลน่าเชื่อถือ
แต่ทางผู้ส่งออกก็ยังสงสัยว่าสิ่งที่คู่ค้าแจ้งมาเป็นเรื่องจริงหรือไม่ จึงได้ติดต่อหน่วยงานต่างๆ เพื่อตรวจสอบ และพบว่าข้อมูลที่คู่ค้าแจ้งมา
ไม่เป็นความจริง และยังพบอีกว่าคู่ค้ารายนี้เป็นบริษัทจดทะเบียนเพื่อทำการหลอกลวง เพราะข้อมูลต่างๆ ของคู่ค้าทั้งสถานที่ตั้งและ
งบการเงินล้วนเป็นข้อมูลเท็จ และมีรายงานว่ามีองค์กรรับประกันถึง 3 รายตรวจสอบและตามหนี้คู่ค้ารายนี้แล้วเช่นกัน ขณะที่องค์กร
รับประกันในแอฟริกาแจ้งว่าการตามคืนหนี้ครั้งนี้มีโอกาสสำเร็จน้อยมาก แต่เป็นโชคดีที่ผู้ส่งออกรายนี้ได้ทำประกันการส่งออกไว้ จึงได้
รับชดเชยความเสียหายจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

          ทั้งนี้ แม้ตลาดใหม่มักมีความเสี่ยงด้านคู่ค้าดังที่กล่าวมาข้างต้น อีกทั้งยังเป็นตลาดที่ผู้ประกอบการไทยไม่คุ้นเคย แต่ปัจจัย
ดังกล่าวก็มิควรเป็นสาเหตุให้ผู้ประกอบการละทิ้งโอกาสค้าขายในตลาดใหม่ เพราะหลายประเทศในตลาดนี้อยู่ในช่วงเศรษฐกิจกำลัง
เติบโตและมีความต้องการสินค้าอยู่อีกมาก เช่นหลายประเทศในแอฟริกาที่เศรษฐกิจขยายตัวสูง อาทิ เอธิโอเปียขยายตัว 8.2%
เซเนกัลขยายตัว 7.0% แทนซาเนียขยายตัว 6.6% และยูกันดาขยายตัว 6.2% นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยอาจจะไม่ทราบมาก่อน
ว่าหลายประเทศในแอฟริกาเป็นแหล่งผลิตสินค้าที่น่าสนใจหลายรายการด้วยเช่นกัน อาทิ เอธิโอเปียเป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบสิ่งทอ
ดอกไม้สด กาแฟ และผักไร้สารเคมี แทนซาเนียมีแหล่งทรัพยากรแร่มากมาย เช่น เพชร ทองคำ และรัตนชาติ แอฟริกาจึงไม่เพียงแต่
จะเป็นตลาดส่งออกที่ไม่ควรมองข้าม แต่ยังเป็นแหล่งวัตถุดิบที่น่าสนใจของผู้ประกอบการไทยด้วยเช่นกัน ดังนั้น แทนที่ผู้ประกอบการ
จะปิดความเสี่ยงด้วยการหลีกเลี่ยงการค้าขายกับตลาดใหม่อย่างแอฟริกา ทางที่ดีผู้ประกอบการควรปิดความเสี่ยงด้วยการเพิ่มความ
ระมัดระวังและใส่ใจกับการตรวจสอบความน่าเชื่อถือของคู่ค้าก่อนการส่งออก รวมถึงการทำประกันการส่งออกซึ่งจะช่วยบรรเทา
ความเสียหายให้ผู้ส่งออกหากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน ดังเช่นกรณีที่ยกมาข้างต้นว่า ถึงแม้ผู้ส่งออกจะได้รับความเสียหายจากการ
ค้าขายกับคู่ค้าในยูกันดาที่หลอกลวง แต่ก็ใช้บริการประกันการส่งออกเป็นเบาะรองรับความเสียหายจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ได้

          เพื่อสนับสนุนผู้ส่งออกที่ต้องการขยายตลาดส่งออกไปแอฟริกา EXIM BANK มอบสิทธิพิเศษให้แก่ลูกค้ารายใหม่ที่ต้องการทำ
ประกันการส่งออกกับ EXIM BANK ด้วยการลดเบี้ยประกันการส่งออก 50% จากอัตราเบี้ยประกันที่คำนวณได้ และฟรีค่าวิเคราะห์ข้อมูล
ผู้ซื้อในต่างประเทศ 2 ราย พร้อมลดค่าข้อมูล 50% สำหรับผู้ซื้อรายที่ 3-5 โดย EXIM BANK จะชดเชยความเสียหายจากการไม่ได้
รับชำระเงินค่าสินค้าให้แก่ผู้เอาประกันในอัตรา 80% ของความเสียหายที่เกิดขึ้นจากความเสี่ยงทางการค้าและทางการเมืองตั้งแต่วันนี้
จนถึงสิ้นปี 2561

  หน้าหลัก   I   Share โลกเศรษฐกิจ   I   เปิดประตูสู่ตลาดใหม่   I   รู้ทันเกมการค้า
เกร็ดการเงินระหว่างประเทศ   I   CEO Talk   I   แวดวงคู่ค้า   I   แนะนำบริการ   I   สรุปข่าว