 |
 |
 |
 |
|
หลายบทความที่ผ่านมาได้หยิบยกกรณีที่อาจเกิดขึ้นเนื่องจากผู้ส่งออกละเลยหรือขาดความระมัดระวังในการตรวจสอบเงื่อนไข
ของ L/C รวมถึงผู้ส่งออกมือใหม่ที่อาจจะมองข้ามรายละเอียดในเอกสารส่งออกบางจุด จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหาย สำหรับในครั้งนี้
จะขอหยิบยกกรณีความเสียหายที่เกิดขึ้นกับคู่ค้าที่ค้าขายกันมาเนิ่นนานจนเกิดความไว้เนื้อเชื่อใจกัน และผู้ส่งออกยอมลดเกราะป้องกัน
ความเสี่ยงลง โดยผู้ส่งออกยินยอมที่จะค้าขายกันแบบ D/A (Document Against Acceptance) ซึ่งการค้าแบบนี้หมายถึง ผู้ส่งออก
ให้เครดิตเทอมแก่ผู้ซื้อ เช่น ให้เครดิตเทอม 30 วัน 60 วัน 120 วัน หรือ 180 วัน เป็นต้น และในทางปฏิบัติเมื่อธนาคารของผู้ส่งออก
ส่งเอกสารส่งออก (Shipping Documents) ไปถึงธนาคารของผู้ซื้อ (Collecting Bank) แล้ว ธนาคารของผู้ซื้อจะติดต่อให้ผู้ซื้อมารับรอง
ตั๋วแลกเงินที่มีกำหนดเวลาการชำระเงิน ก่อนที่ธนาคารจะมอบเอกสารส่งออกให้ผู้ซื้อ เพื่อให้ผู้ซื้อนำไปออกสินค้าได้ และเมื่อถึงกำหนด
การชำระเงินหากเป็นผู้ซื้อที่ดี ไม่มีปัญหาการชำระเงิน ผู้ซื้อก็จะมาชำระเงินที่ธนาคารของผู้ซื้อ แต่หากผู้ซื้อปฏิเสธการชำระเงิน ธนาคาร
ของผู้ซื้อก็ไม่ต้องรับผิดชอบชำระค่าสินค้าใดๆ แทนผู้ซื้อ เพราะถือว่าเป็นข้อตกลงระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ธนาคารจะเป็นเพียงตัวกลาง
ในการเรียกเก็บเงินเท่านั้น
ดังกรณีของนายพาณิชย์ (ผู้ส่งออก) มีคู่ค้า (ผู้ซื้อ) ที่มีฐานะทางการเงินมั่นคง และมีการติดต่อซื้อขายกันมาเป็นระยะเวลาที่
ยาวนาน การชำระเงินก็ตรงตามกำหนดเวลามาโดยตลอด ด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจกันนายพาณิชย์จึงยอมผ่อนปรนข้อตกลงการชำระเงินกับ
คู่ค้ารายนี้ด้วยเงื่อนไขการชำระเงินแบบ D/A และให้เทอมการชำระเงินนานถึง 120 วัน นับจากวันที่ผู้ส่งออกนำสินค้าลงเรือ โดยในการ
ซื้อขายดังกล่าวผู้ซื้อขอให้นายพาณิชย์ส่งสินค้ามูลค่ารวม 120,000 ดอลลาร์สหรัฐ ด้วยการทยอยจัดส่งสินค้าเป็น 4 Lots แบ่งจัดส่ง
เดือนละครั้ง คิดเป็นมูลค่าสินค้าครั้งละ 30,000 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งนายพาณิชย์ได้ทยอยส่งสินค้าไปทุกๆ ต้นเดือน และเมื่อเอกสารไปถึง
ธนาคารของผู้ซื้อ (Collecting Bank) ผู้ซื้อได้มาติดต่อธนาคารของผู้ซื้อเพื่อดำเนินการรับรองตั๋วแลกเงินและรับเอกสารการส่งออก
เพื่อไปออกสินค้า Lot ที่ 1 ในเดือนที่ 1 , Lot ที่ 2 ในเดือนที่ 2 , Lot ที่ 3 ในเดือนที่ 3 และ Lot ที่ 4 ในเดือนที่ 4 สำหรับในเดือนที่ 4 นี้ นอกจากนายพาณิชย์จะส่งสินค้าให้กับผู้ซื้อเป็น Lot สุดท้ายแล้วนายพาณิชย์จะต้องได้รับชำระเงินค่าสินค้าสำหรับ Lot ที่ 1 ด้วย
แต่ในกรณีนี้ คู่ค้าของนายพาณิชย์ไม่สามารถชำระเงินค่าสินค้าได้ เนื่องจากประสบปัญหาธุรกิจล้มละลาย ซึ่งปัญหานี้
นายพาณิชย์ไม่เคยระแคะระคายมาก่อนเลย ดังนั้น เมื่อคู่ค้าไม่สามารถชำระเงินค่าสินค้าได้ทำให้นายพาณิชย์ต้องสูญเสียทั้งสินค้า
และเงินค่าสินค้า ซึ่งสุดท้ายแล้วทำให้ธุรกิจของนายพาณิชย์มีผลกระทบไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ |
|
|
 |
|
กำหนดการส่งสินค้าของนายพาณิชย์ และกำหนดการชำระเงินของคู่ค้าของนายพาณิชย์ |
|
|
 |
|
 |
 |
|
สำหรับปัญหาดังกล่าว การที่ผู้ขายมั่นใจและเชื่อมั่นในฐานะการเงินที่มั่นคงของคู่ค้ามากเกินไป อาจเป็นจุดเสี่ยงที่นำไปสู่
ความสูญเสียอย่างไม่คาดคิด ดังนั้น สิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ส่งออกคือ การหมั่นตรวจเช็คฐานะทางการเงินของคู่ค้าอย่างสม่ำเสมอ
แม้จะค้าขายกันมานานเพียงใดก็ตาม โดยผู้ส่งออกอาจใช้วิธีการตรวจสอบด้วยการติดต่อธนาคารเพื่อใช้บริการวิเคราะห์ข้อมูลผู้ซื้อ
อย่างน้อยปีละครั้ง เปรียบเสมือนการตรวจสุขภาพที่ต้องทำเป็นประจำทุกปี เพื่อว่าหากมีโรคร้ายก็จะสามารถตรวจพบได้ตั้งแต่เนิ่นๆ และ
วางแผนการรักษา อย่างไรก็ตาม หากผู้ส่งออกต้องการทำการค้าขายแบบ D/A ในบางครั้ง เพื่อให้เทอมการชำระเงินที่ผ่อนปรนกับลูกค้า
หรือด้วยจุดประสงค์เพื่อให้ลูกค้าสามารถนำสินค้าไปทำตลาดก่อน ก็สามารถป้องกันความเสี่ยงจากการที่ลูกค้าจะไม่ชำระเงินค่าสินค้า
ด้วยการทำประกันการส่งออกควบคู่กันไปด้วย เพียงเท่านี้ก็จะทำให้ผู้ส่งออกคลายกังวลไปได้มากในการทำการค้ากับผู้ซื้อในต่างประเทศ |
|
|
 |
 |
|