EXIM BANK คว้า 3 รางวัล ในงานมอบรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่นประจำปี 2563
ผู้นำองค์กรดีเด่น ความสามารถจัดการวิกฤตโควิด-19 ดีเด่น และความร่วมมือเพื่อการพัฒนาดีเด่น
 
            พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในงานมอบรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น (State-owned Enterprise Award : SOE Award) ประจำปี 2563 ภายใต้แนวคิด “รัฐวิสาหกิจร่วมใจ ไทยปลอดภัยเข้มแข็ง” จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กระทรวงการคลัง เพื่อสนับสนุนรัฐวิสาหกิจที่มีความสามารถในการปรับตัวและบริหารจัดการผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี ณ ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2563

          ในโอกาสดังกล่าว นายกรัฐมนตรีได้มอบรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่นให้แก่ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) จำนวน 3 รางวัล ประกอบด้วย
          1. รางวัลผู้นำองค์กรดีเด่น
          2. รางวัลความสามารถในการจัดการวิกฤตโควิด-19 ดีเด่น
          3. รางวัลความร่วมมือเพื่อการพัฒนาดีเด่น ด้านความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์
ประเภทดีเด่น

          รางวัลผู้นำองค์กรดีเด่น ได้แก่ นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK โดยพิจารณาจากการบริหารจัดการองค์กรดีเด่น มีคะแนนผลการดำเนินงานองค์กร ปี 2562 ตั้งแต่ 4.5 คะแนนขึ้นไป รวมทั้งผลประกอบการตามภารกิจ ผลประกอบการทางการเงิน การดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล การบริหารจัดการ วิสัยทัศน์ของผู้นำ การถ่ายทอดวิสัยทัศน์ไปสู่การปฏิบัติ บทบาทของผู้นำในการสร้างกลยุทธ์ที่ทำให้ประสบความสำเร็จ การให้ความสำคัญและการดำเนินงานด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดีและความรับผิดชอบต่อสังคม (CG & CSR) การให้ความสำคัญและการดำเนินการเพื่อพัฒนาองค์กรให้ยั่งยืน การนำประเด็น Thailand 4.0 มาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการองค์กร รวมถึงการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ


          นอกจากเกณฑ์การพิจารณาข้างต้นแล้ว ผลงานของกรรมการผู้จัดการ EXIM BANK ที่สำคัญ อาทิ การบริหารจัดการ
และจัดให้มีมาตรการพิเศษเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEs ในภาวะวิกฤต เช่น มาตรการเยียวยาและฟื้นฟูผู้ประกอบการ
ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 การออกผลิตภัณฑ์และมาตรการพิเศษทั้งด้านการเงินและมิใช่การเงินเพื่อบรรเทาผลกระทบและป้องกัน
ความเสี่ยงทางการค้าระหว่างประเทศในภาวะวิกฤตต่าง ๆ อาทิ สงครามการค้าและเงินบาทแข็งค่า การพัฒนาองค์กรเพื่อเป็นที่พึ่งและ
สร้างโอกาสธุรกิจใหม่ ๆ แก่ผู้ประกอบการ การสนับสนุนให้ผู้ประกอบการขยายธุรกิจไปยังกลุ่มประเทศตลาดใหม่ การสนับสนุนการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อยกระดับศักยภาพและนวัตกรรมของภาคธุรกิจ เป็นต้น ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK ได้รับรางวัลผู้นำองค์กรดีเด่น

          รางวัลความสามารถในการจัดการวิกฤตโควิด-19 ดีเด่น เป็นรางวัลพิเศษที่ สคร. มอบให้รัฐวิสาหกิจในปี 2563 สำหรับรัฐวิสาหกิจที่มีความโดดเด่นในการบริหารจัดการวิกฤติโควิด-19 มีการเตรียมความพร้อมและดำเนินการอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ สามารถดูแลพนักงาน ลูกค้า ผู้ประกอบธุรกิจส่งออกและลงทุน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตอบสนองความต้องการและความคาดหวังของลูกค้าและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมถึงชุมชนและสังคมได้อย่างเหนือความคาดหมาย ตั้งแต่การบริหารจัดการองค์กรเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 เข้าสู่สังคม มีมาตรการด้านความปลอดภัยและสุขอนามัยในระดับที่เข้มข้นกว่ามาตรการของภาครัฐ มีผลทำให้ไม่มีบุคลากรและผู้เช่าอาคารของ EXIM BANK เป็นผู้ติดเชื้อโควิด-19 จัดทำแผนสำรองฉุกเฉินในทุกสถานการณ์เพื่อให้สามารถดูแลและให้บริการลูกค้าได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเยียวยาและช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยติดต่อไปยังลูกค้าทุกรายเพื่อสอบถามความต้องการความช่วยเหลือ ออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าด้วยการพักการชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 เปิดคลินิกให้คำปรึกษาและแนะนำทางการเงินแก่ผู้ประกอบการทั่วไปทางโทรศัพท์ และจัดอบรมสัมมนาให้ความรู้ทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์ สนับสนุนธุรกิจเกษตรผ่านเครือข่ายพันธมิตร รวมทั้งดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม โดยร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชน ส่งมอบความช่วยเหลือไปยังชุมชนและสังคม โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงและขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่าง ๆ ภายใต้โครงการ “EXIM ร่วมใจสู้ภัยโควิด” เพื่อให้ทุกภาคส่วนก้าวผ่านสถานการณ์ความยากลำบากจากผลกระทบของโควิด-19 ไปด้วยกัน

          รางวัลความร่วมมือเพื่อการพัฒนาดีเด่น ด้านความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ ประเภทดีเด่น เป็นรางวัลที่มอบให้แก่
รัฐวิสาหกิจที่อยู่ในกลุ่มการพิจารณารางวัลที่รัฐวิสาหกิจส่งเข้าประกวด เป็นรางวัลความร่วมมือของรัฐวิสาหกิจเพื่อสนับสนุน
การดำเนินการเชิงยุทธศาสตร์ของแต่ละองค์กร โดย EXIM BANK ได้รับรางวัลร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์
การเกษตร (ธ.ก.ส.) และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ใน “โครงการส่งเสริมศักยภาพและ
สนับสนุนผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)”
ซึ่งทั้ง 3 หน่วยงานใช้ความสามารถพิเศษหรือจุดแข็งของ
ทั้งสามองค์กรร่วมกันพัฒนาผู้ประกอบการภาคการเกษตรผลิตสินค้าที่มีนวัตกรรมและส่งออกได้ กล่าวคือ ธ.ก.ส. มุ่งเน้นการเพิ่ม
ประสิทธิภาพของห่วงโซ่คุณค่าสินค้าเกษตร วว. สนับสนุนการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร และ
EXIM BANK ใช้องค์ความรู้ด้านการค้าระหว่างประเทศเสริมสร้างความรู้จับคู่ธุรกิจให้ผู้ประกอบการภาคเกษตรที่มีสินค้านวัตกรรม
หรือมีมูลค่าเพิ่มสามารถส่งออกได้สำเร็จ ผลการดำเนินงานโครงการจนถึงปัจจุบันในปี 2563 สามารถสร้างผู้ประกอบการ
ภาคการเกษตรที่มีศักยภาพส่งออก ได้รับมาตรฐานการรับรองผลงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม และได้รับ
การต่อยอดให้มีองค์ความรู้ด้านการส่งออก ตลอดจนจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ จนทำให้ผู้ประกอบการภาคการเกษตรเจรจาค้าขาย
ระหว่างประเทศกับประเทศคู่ค้าได้ เป็นมูลค่าการส่งออกราว 597.82 ล้านบาท

          รางวัลเกียรติยศแห่งความภาคภูมิใจที่ EXIM BANK ได้รับจำนวน 3 รางวัลในปีนี้เป็นผลสำเร็จร่วมกันของคณะกรรมการธนาคาร ผู้บริหาร พนักงาน และบุคลากร EXIM BANK ในการทำงานกับทุกภาคส่วนตามภารกิจหน้าที่อย่างดีที่สุด โดยได้รับการสนับสนุนจากลูกค้า ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผู้ประกอบการ และสาธารณชนที่ให้ความเชื่อมั่นและสนับสนุนการดำเนินงานของ EXIM BANK ด้วยดีเสมอมา ทั้งนี้ โดยสอดคล้องกับแผนแม่บทปี 2570 และกระบวนการปรับเปลี่ยนองค์กร (Transformation) ที่ EXIM BANK เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2560 เพื่อส่งมอบผลลัพธ์ที่ดี สร้างการเติบโตของ EXIM BANK ควบคู่กับการเติบโตของภาคเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างมั่นคงและยั่งยืน” นายพิศิษฐ์ กล่าว
 
  EXIM BANK จับมือกลุ่มบริษัท ไทยอีสเทิร์น กรุ๊ป โฮลดิ้งส์
พัฒนาสวนยางพาราไทยให้ได้มาตรฐาน FSC
 
            นายประเสริฐ ภัทรดิลก ประธานกรรมการบริหาร EXIM BANK นำคณะผู้บริหารและพนักงาน EXIM BANK เยี่ยมชมพื้นที่โครงการ CSR “EXIM รักษ์ดินโลก ปีที่ 2” โดย EXIM BANK ร่วมกับบริษัท ไทยอีสเทิร์น กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (TEGH) ลูกค้าของธนาคาร ยกระดับสวนยางพาราของเกษตรกรในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคตะวันออกเป็นป่าปลูกเชิงพาณิชย์ที่มีการบริหารจัดการอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ มีเกษตรกรจำนวนกว่า 60 ราย ในพื้นที่ 1,918 ไร่ เข้าร่วมโครงการพัฒนาสวนยางพาราจนได้รับการรับรองมาตรฐานโลก FSC (Forest Stewardship Council) ทำให้ผลผลิตยางเป็นสินค้าคุณภาพที่มีราคาสูงขึ้น สร้างรายได้ให้เกษตรกรได้อย่างยั่งยืน โดยมี ดร.กมลทิพย์ โกมลยุทธแพทย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการบัญชี-ด้านการเงิน TEGH และเกษตรกรชาวสวนยางให้การต้อนรับ ณ อำเภอหนองใหญ่ จังหวัดชลบุรี เมื่อเร็ว ๆ นี้  
  EXIM BANK คาดการณ์เศรษฐกิจปี 64 ขยายตัวตามวิถีใหม่
ภาครัฐ-เอกชนต้องจับมือเร่งเครื่อง บุกตลาดที่ฟื้นตัว ดันส่งออกโต 2.5-4%

 
            นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปี 2563 ได้สร้างผลกระทบในหลายมิติอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน มิติเศรษฐกิจ เศรษฐกิจและการค้าโลกมีแนวโน้มหดตัวสูงสุดในรอบเกือบศตวรรษนับตั้งแต่ Great Depression ส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับลดลงต่ำสุดในรอบกว่า 2 ทศวรรษ ตลาดหุ้นทั่วโลกผันผวนและต้องหยุดการซื้อขายชั่วคราวมากที่สุด มิตินโยบาย รัฐบาลและธนาคารกลางทั่วโลกพร้อมใจกันใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทั้งนโยบายการเงินและการคลังที่มีมูลค่าสูงกว่าวิกฤตเศรษฐกิจทุกครั้งที่ผ่านมา มิติสังคม เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรม ได้แก่ การเว้นระยะห่างทางสังคม เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งเข้ามาปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจ ทำให้หลายภาคธุรกิจปรับตัวไม่ทันและปิดกิจการลงเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจโลกกำลังจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว โดยมีสัญญาณกระเตื้องขึ้นนับตั้งแต่ไตรมาส 3 ปีนี้เป็นต้นมา ทั้งการผลิต การบริโภค การจ้างงาน และการส่งออกที่เริ่มหดตัวน้อยลง ล่าสุดกองทุนระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจและการค้าโลกปี 2564 จะกลับมาขยายตัวได้ที่ 5.2% และ 8.3% ตามลำดับ แม้จะยังมีความไม่สมดุลและเปราะบางค่อนข้างสูง เหมือน “รถที่กำลังจะ U-turn” ซึ่งจะทำได้ดีหรือเร็วแค่ไหน ขึ้นอยู่กับอัตราการเร่งของเครื่องยนต์ น้ำมันเชื้อเพลิง ทัศนวิสัย และความสามารถของผู้ขับขี่ หรือเปรียบได้กับความรวดเร็วในการพัฒนาวัคซีน นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ ความชัดเจนในนโยบายของผู้นำคนใหม่ของสหรัฐฯ และความสามารถในการรับมือกับสถานการณ์ของผู้ประกอบการหรือภาคธุรกิจ  
            กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวว่า EXIM BANK คาดการณ์ว่า การส่งออกของไทยจะเติบโตได้สูงสุดถึง 4% ในปี 2564 เป็นผลจากเศรษฐกิจและการค้าโลกฟื้นตัวจากฐานที่ต่ำ (-10%) ในระยะสั้น แม้ยังไม่เท่ากับระดับเดิมในปี 2562 และยังคงชะลอตัวภายใต้บริบทและข้อจำกัดระหว่างประเทศที่เพิ่มมากขึ้น ประกอบกับโอกาสของผู้ส่งออกไทยในการส่งออกไปยังตลาดใหม่ (New Frontiers) ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 น้อยกว่า ทำให้ฟื้นตัวเร็วกว่าอีกหลายประเทศทั่วโลก ทั้งนี้ IMF คาดการณ์ว่า จาก 195 ประเทศ/ดินแดน จะมี 60 ประเทศ/ดินแดน หรือเพียง 1 ใน 3 ของทั้งหมด ที่มูลค่า GDP ในปี 2564 สูงกว่าหรือเท่ากับปี 2562 สะท้อนถึงกำลังซื้อของผู้บริโภคและความต้องการนำเข้าสินค้าของตลาดเหล่านี้มีแนวโน้มกลับสู่ภาวะปกติ ซึ่งในบรรดาประเทศ/ดินแดนเหล่านี้ ตลาดที่เป็นตลาดส่งออก 20 อันดับแรกของไทย ได้แก่ จีน มาเลเซีย อินโดนีเซีย CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) เกาหลีใต้ และไต้หวัน สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปตลาดเหล่านี้ ได้แก่ สินค้าอุตสาหกรรมประเภท เม็ดพลาสติก น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว สินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปประเภทผลไม้สด ยางพารา น้ำตาลทราย ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และเครื่องดื่ม

          นายพิศิษฐ์ กล่าวว่า หัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและภาคการส่งออกของไทยในปี 2564 ได้แก่ ความสามารถของผู้ประกอบการไทยในการปรับตัวให้ได้ในโลกธุรกิจที่ปรับโฉมใหม่หลังโควิด-19 กล่าวคือ เมื่ออุปสงค์ในประเทศกระเตื้องขึ้น โดยเฉพาะการบริโภคและการท่องเที่ยวภายในประเทศ ประกอบกับมาตรการกระตุ้นของภาครัฐเพื่อเพิ่มกำลังซื้อและบรรเทาภาระหนี้ให้แก่ภาคประชาชน การบริโภคและการลงทุนภาครัฐกลับมาเดินเครื่องอีกครั้ง ผู้ส่งออกไทยปรับตัวได้ดีในการผลิตและส่งออกสินค้าที่มีความหลากหลายและทนต่อแรงเสียดทานได้ดี อาทิ การปรับปรุงรูปแบบผลิตภัณฑ์หรือเปลี่ยนวิธีการทำตลาดให้เหมาะสมกับผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อลดลง เช่น ปรับดีไซน์เครื่องประดับ ซึ่งเป็นสินค้าที่มีราคาค่อนข้างสูง ให้มีราคาจำหน่ายที่จับต้องได้ รวมทั้งสามารถสร้างสมดุลระหว่างตลาดหลักและตลาดใหม่ได้ดี จนทำให้ภาคการส่งออกหดตัวน้อยลง ล่าสุดตัวเลขส่งออกของไทยเดือนกันยายน 2563 หดตัวเหลือ 3.9% ซึ่งเป็นการหดตัวต่ำสุดในรอบ 5 เดือน ขณะที่ตัวเลขส่งออก 9 เดือนแรกปี 2563 หดตัว 7.3% ดีกว่าคู่แข่งหลายประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และอินเดีย ประกอบกับหากนายโจ ไบเดน ได้เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 46 จะทำให้เกิดการเปลี่ยนทิศทางการดำเนินนโยบายการค้าการลงทุนของสหรัฐฯ ในหลายมิติ เนื่องจากนายไบเดนไม่สนับสนุนสงครามการค้า (Trade War) สนับสนุนการลงทุนพลังงานสะอาด มีนโยบายขึ้นภาษีเงินได้นิติบุคคลและบุคคลธรรมดา และเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งจะผลักดันให้เกิดการย้ายฐานการลงทุนออกจากสหรัฐฯ มากขึ้น สวนทางกับแนวนโยบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ทำให้บรรยากาศการค้าโลกมีท่าทีผ่อนคลาย จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่ปรับตัวได้ให้สามารถเข้าถึงโอกาสใหม่ ๆ ทางธุรกิจ

          นายพิศิษฐ์ กล่าวว่า EXIM BANK ได้เตรียมความพร้อมที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและคาดไม่ถึงอยู่เสมอ เมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19 เราจึงมีความพร้อมในการทำหน้าที่ช่วยเหลือ เยียวยา และฟื้นฟูธุรกิจส่งออกได้ทันที ควบคู่กับการส่งเสริมการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและบริหารความเสี่ยงทางการค้าระหว่างประเทศให้แก่ผู้ส่งออกไทย ทั้งความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนและความเสี่ยงจากการไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้าจากผู้ซื้อในต่างประเทศ ขณะเดียวกัน องค์กรยังเดินหน้าปรับเปลี่ยนบทบาทองค์กรครั้งใหญ่ (Transformation) ซึ่งส่งผลให้สามารถขยายยอดคงค้างเงินให้สินเชื่อได้ถึง 78% ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ควบคู่กับการพัฒนากระบวนการทำงาน โครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี และทรัพยากรบุคคล เพื่อให้รับมือและปรับตัวได้ทันต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป

          EXIM BANK มีเป้าหมายที่จะเป็น “ธนาคารแห่งความยั่งยืน” มุ่งเน้นการบริหารจัดการการเงินและธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ การบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ผนวกรวมกับการบริหารความเสี่ยงอย่างทั่วถึงทั้งองค์กร และการกำกับดูแลกิจการที่ดีเพื่อความยั่งยืน ทำหน้าที่สนับสนุนการส่งออกและลงทุน โดยเฉพาะในตลาดใหม่ เพื่อช่วยให้ประเทศไทยก้าวพ้นการเป็นประเทศที่ติดกับดักรายได้ปานกลาง ให้ความรู้และพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างเท่าเทียม รวมทั้งเข้าถึงบริการให้คำปรึกษาแนะนำและโครงการอบรมสัมมนาของศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้าของ EXIM BANK (EXIM Excellence Academy : EXAC) โดยล่าสุด EXIM BANK ได้พัฒนาระบบประเมินความพร้อมผู้ส่งออกไทย (Thailand Export Readiness Assessment & Knowledge Management : TERAK) เพื่อประเมินความพร้อม วิเคราะห์ ประมวลผล และจัดทำรายงานให้คำแนะนำ จากนั้นจึงนำเสนอบริการสนับสนุนผู้ประกอบการอย่างตรงจุดและทันท่วงที สนับสนุนโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนและสมดุล สำหรับในระยะยาว EXIM BANK สนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยพัฒนาสินค้าให้มีนวัตกรรมและมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น พร้อมปรับตัวให้เข้ากับสภาวะแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อาทิ การพัฒนาโลจิสติกส์และบรรจุภัณฑ์ให้เหมาะกับการค้าแบบ e-Commerce การผลิตสินค้าตอบรับกระแสความนิยมใหม่ ๆ และการนำระบบอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์เข้ามาใช้ในภาคการผลิต การบริการ และการเงิน รวมทั้งการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล เพื่อให้ธุรกิจเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน แข่งขันในตลาดโลกได้ในระยะยาว

          “โควิด-19 เกิดขึ้นและยังคงอยู่ เป็นผลให้รูปแบบวิถีชีวิต ตลอดจนการดำเนินธุรกิจเปลี่ยนโฉมไปอย่างมาก และทุกภาคส่วนต้องปรับตัวเองไปสู่วิถีชีวิตใหม่หรือ New Normal ยอมรับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ และการเปลี่ยนแปลงของโลกให้ได้ จากนั้น จึงนำวิถีชีวิตใหม่นี้ไปกำหนดรูปแบบธุรกิจและสินค้าให้สอดคล้องกัน EXIM BANK ก็เช่นกัน ยังคงเดินหน้าปรับเปลี่ยนบทบาทองค์กร เพื่อตอบสนองความต้องการและความคาดหวังของลูกค้าและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ควบคู่ไปกับการบริหารจัดการองค์กรอย่างรับผิดชอบต่อสังคมท่ามกลางปัจจัยท้าทายต่าง ๆ เพื่อให้ EXIM BANK และเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมเติบโตอย่างยั่งยืนและสมดุลในระยะยาว” นายพิศิษฐ์ กล่าว
 
  EXIM BANK จับมือ ธอส. ยกระดับงานตรวจสอบภายในด้วยระบบสนับสนุนงานตรวจสอบ  
            นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา EXIM BANK และนายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการใช้ระบบสนับสนุนงานตรวจสอบ (Audit Support System: A2S) เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการปฏิบัติงานตรวจสอบภายใน และเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ในการแบ่งปันความรู้จากการพัฒนาระบบงานเทคโนโลยีสารสนเทศ ณ ธอส. สำนักงานใหญ่ เมื่อเร็ว ๆ นี้ี้  
  EXIM BANK ร่วมยินดีกับผู้ส่งออกที่สำเร็จหลักสูตรโครงการเสริมความเป็นเลิศการค้า  
            นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK มอบประกาศนียบัตรและแสดงความยินดีกับผู้ส่งออกในอุตสาหกรรมเกษตร อาหาร เครื่องดื่มและเครื่องสำอาง จำนวน 58 ราย ที่สำเร็จหลักสูตร “โครงการเสริมความเป็นเลิศด้านการค้าเพื่อผู้ประกอบการส่งออก” ทั้งระดับต้น (Neo Exporter) ระดับกลาง (Mid-Pro) และระดับสูง (High Achiever) จัดโดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้าของ EXIM BANK (EXIM Excellence Academy : EXAC) ณ EXIM BANK สำนักงานใหญ่ เมื่อเร็ว ๆ นี้ ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการเริ่มต้นส่งออกหรือส่งออกได้มากขึ้น โดยการสร้างแบรนด์ สร้างมาตรฐานสินค้าและบรรจุภัณฑ์ พัฒนาผลิตภัณฑ์และประสิทธิภาพองค์กรเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน  
  EXIM BANK ร่วมประชุมคณะกรรมการสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ ครั้งที่ 4/2563  
            นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK ร่วมประชุมคณะกรรมการสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ ครั้งที่ 4/2563 พร้อมด้วยและผู้บริหารสถาบันการเงินของรัฐ ซึ่งเป็นกรรมการสมาคมฯ รวม EXIM BANK เป็น 9 แห่ง เพื่อหารือเกี่ยวกับการดำเนินงาน และความคืบหน้าโครงการต่าง ๆ ของสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ โดยมีนายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ในฐานะประธานกรรมการสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ เป็นประธานการประชุม ณ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) สำนักงานใหญ่ เมื่อเร็ว ๆ นี้  
  หน้าหลัก   I   Share โลกเศรษฐกิจ   I   เปิดประตูสู่ตลาดใหม่   I   รู้ทันเกมการค้า
เกร็ดการเงินระหว่างประเทศ   I   แวดวงคู่ค้า   I   แนะนำบริการ   I   สรุปข่าว