EXIM BANK ถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน ประจำปี 2564  
            พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานผ้าพระกฐิน ประจำปีพุทธศักราช 2564 ให้ EXIM BANK โดย ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ พร้อมด้วย ดร.พสุ โลหารชุน ประธานกรรมการ ดร.ดามพ์ สุคนธทรัพย์ ประธานกรรมการบริหาร และนายทองชัย ชวลิตพิเชฐ นายคณิทธิ์ สว่างวโรรส และนายสุวัฒน์ กมลพนัส กรรมการ ตลอดจนผู้บริหารและพนักงาน EXIM BANK นำไปถวายพระสงฆ์จำพรรษากาลถ้วนไตรมาส และบำรุงพระอาราม ณ วัดสุทธิวาตวราราม (วัดช่องลม) จ.สมุทรสาคร เมื่อเร็ว ๆ นี้ โดย EXIM BANK ร่วมกับลูกค้าและผู้มีจิตศรัทธาร่วมทำบุญถวายปัจจัยเพื่อทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาเป็นเงินจำนวน 4,096,896 บาท
          ในโอกาสนี้ EXIM BANK ได้มอบเงินสนับสนุนทุนการศึกษาจำนวน 30,000 บาทให้กับโรงเรียนเทศบาลวัดช่องลม (เปี่ยมวิทยาคม) และโรงเรียนพระปริยัติธรรมสำนักวัดสุทธิวาตวราราม เพื่อสนับสนุนโอกาสทางการศึกษาและการประกอบอาชีพเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของเด็กและเยาวชน และการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ตามนโยบายด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดีและความรับผิดชอบต่อสังคมของ EXIM BANK
 
  EXIM BANK ร่วมพิธีถวายผ้าพระกฐินพระราชทานกระทรวงการคลัง ประจำปี 2564  
            นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร รองกรรมการผู้จัดการ EXIM BANK ถ่ายภาพร่วมกับนายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง ในโอกาสเข้าร่วมพิธีถวายผ้าพระกฐินพระราชทานกระทรวงการคลัง ประจำปี 2564 โดยมีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานในพิธี ณ วัดอนงคารามวรวิหาร กรุงเทพฯ เมื่อเร็ว ๆ นี้  
  EXIM BANK ชี้ SMEs ต้องเร่งใช้เทคโนโลยีดิจิทัล Transform ธุรกิจพร้อมให้บริการ
ครบวงจร ‘ซ่อม’ ‘สร้าง’ ‘เสริม’ อุตสาหกรรมและผู้ประกอบการไทยรับมือโลก Next Normal
 
            EXIM BANK พร้อมให้บริการครบวงจรสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEs เร่งปรับโฉมธุรกิจรับมือโลก Next Normal โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลปรับปรุงกระบวนการผลิต การค้า และการขนส่ง รวมทั้งการบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว

          ดร.ดามพ์ สุคนธทรัพย์ ประธานกรรมการบริหาร EXIM BANK กล่าวเปิดงานสัมมนาออนไลน์ “Transformation ทางรอด SMEs” เมื่อเร็ว ๆ นี้ ว่า “Transformation” เทียบเคียงได้กับคำว่า “การแปลงร่าง” ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกโฉมจนจำร่างเดิมไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการแปลงร่างของรูปแบบธุรกิจ กระบวนการหรือวิธีการทำธุรกิจ โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเสริมกระบวนการทำงานร่วมกับแรงงาน ช่วยให้การทำงานสะดวกรวดเร็วขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น แข่งขันได้มากขึ้น ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบจากการแพร่ระบาด COVID-19 ได้ทำให้สภาพแวดล้อมการดำเนินธุรกิจ สภาวะเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก โดยเชื่อมโยงกับเทคโนโลยีดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น จึงถึงเวลาที่ทุกภาคส่วนจะช่วยกันสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs สามารถเข้าถึงเงินทุนและโอกาสที่จะ Transform องค์กรโดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในยุค New Normal และ Next Normal ในระยะถัดไปได้มากขึ้น

          ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs ต้องตั้งอยู่บนความไม่ประมาทและวางแผนธุรกิจอย่างรอบคอบ โดยคาดการณ์ผลประกอบการทั้งในทางบวกและทางลบ มองให้รอบด้านว่าธุรกิจที่ดำเนินอยู่สามารถปรับตัวรับมือกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้หรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นทิศทางของธุรกิจที่ดำเนินอยู่ คู่แข่ง และผู้บริโภค มีความเป็นไปได้ที่จะเติบโตในระยะสั้นหรือระยะยาวอย่างไร ยอมให้ธุรกิจที่ไม่มีอนาคต “ตาย” “แปลงร่าง” และ “เกิดใหม่” เพี่อก้าวต่อไปสู่โอกาสใหม่ ๆ ที่ตอบสนองตลาดได้ดีกว่า ด้วยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้เป็นเครื่องมือในการประเมินองค์กร ปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานตั้งแต่กระบวนการผลิตไปจนถึงการขนส่งและส่งมอบสินค้าถึงคู่ค้าหรือผู้บริโภคได้สำเร็จ

          กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวว่า จากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า ในไตรมาส 3 ปี 2564
ธุรกิจ SMEs ปิดกิจการ 3,819 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียน 14,749 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม และร้านอาหาร
ที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวลงของการบริโภคจากการแพร่ระบาดของCOVID-19 ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนให้ทุกภาคธุรกิจต้องเผชิญกับ
โลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันจากเทคโนโลยีดิจิทัลซึ่งอาจกลายเป็นภัยเงียบที่ทำให้ธุรกิจได้รับผลกระทบอย่างหนักจนต้องปิดกิจการ
ในที่สุด หากเจ้าของกิจการมิได้เตรียมแผนรองรับหรือปรับตัวได้ทัน

          ดร.รักษ์ กล่าวว่า ขณะที่การค้าออนไลน์ของโลกและหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น หลายธุรกิจโดยเฉพาะ SMEs ได้ปรับตัวมาขายสินค้าออนไลน์มากขึ้น เป็นความหวังของการฟื้นภาคส่งออกและเศรษฐกิจโดยรวม EXIM BANK มองเห็นทิศทางดังกล่าว จึงเร่งเดินหน้าภารกิจสนับสนุนการซ่อมและสร้างอุตสาหกรรมใหม่และขยายช่องทางหรือแพลตฟอร์มการค้าใหม่ภายใต้นโยบาย Dual-track Policy เพื่อแก้ปัญหาการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยในระยะสั้นและระยะยาวคู่ขนานกันไป โดย EXIM BANK ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์และรูปแบบการดำเนินธุรกิจ อยู่เคียงข้างลูกค้าและพันธมิตร ในฐานะ “ธนาคารเพื่อการพัฒนา” ควบคู่กับการเป็น “ศูนย์บริการครบวงจรเพื่ออำนวยความสะดวกด้านการค้าระหว่างประเทศให้แก่ SMEs” ตั้งแต่การ “ซ่อม” “สร้าง” “เสริม” เพิ่มความแข็งแกร่งให้กับภาคธุรกิจ เสริมสร้างการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม ส่งเสริมการจ้างงาน กระตุ้นการลงทุนและการใช้จ่ายเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนในสังคม ซึ่งจะเชื่อมโยงสู่โลกดิจิทัลมากขึ้น บริการของ EXIM BANK อาทิ แพลตฟอร์มการค้าออนไลน์ EXIM Thailand Pavilion และบริการ EXIM Biz Transformation Loan อัตราดอกเบี้ยต่ำสุด 2% ต่อปี วงเงินกู้สูงสุด 100 ล้านบาทต่อราย ผ่อนชำระนานสูงสุด 7 ปี เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยลงทุนเพิ่มเพื่อยกระดับประสิทธิภาพและกระบวนการผลิต ขยายกำลังการผลิต รวมทั้งปรับปรุงระบบซอฟต์แวร์ดิจิทัล และบริการอื่น ๆ ทั้งด้านการเงินและไม่ใช่การเงิน เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการค้าระหว่างประเทศให้แก่ลูกค้าและผู้ประกอบการ กระตุ้นให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวจากผลกระทบของ COVID-19 โดยเร็ว

          ในงานสัมมนานี้ EXIM BANK จับมือสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมพันธมิตรและผู้ประกอบการต้นแบบ ร่วมนำเสนอแนวทางและแบ่งปันประสบการณ์จริง เพื่อสร้างทางรอดให้ธุรกิจ SMEs ได้แก่ ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ depa นายสมคิด จิรานันตรัตน์ อดีตประธาน บริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) นายที่รัก บุญปรีชา กูรูและ Influencer ด้านไอทีจากแบไต๋ไฮเทค และ ภญ.ภาคินี จิวัฒนไพบูลย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซองเดอร์ ไทยออร์กานิคฟูด จำกัด ผู้ผลิตและส่งออกอาหารสุขภาพออร์แกนิค

          “EXIM BANK พร้อมสนับสนุนให้เกิดธุรกิจใหม่และ Transform ธุรกิจที่ดำรงอยู่ให้สามารถก้าวผ่านปัญหาอุปสรรคและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกได้ โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ในกระบวนการทำงานเพื่อยกระดับศักยภาพในการแข่งขัน เพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ สร้างยอดขายหรือรายได้เพิ่มมากขึ้น ตลอดจนบริหารจัดการต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตอบสนองความต้องการและความคาดหวังของผู้บริโภคในยุค New Normal และ Next Normal ได้อย่างมีเสน่ห์และมีศิลปะ กล่าวคือ มีความคล่องตัว ยืดหยุ่น และปรับตัวได้ทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม” ดร.รักษ์กล่าว
 
  EXIM BANK พบปะหารือธนาคารร่วมพัฒนา สปป.ลาว
ส่งเสริมการค้าและการลงทุนไทย-สปป.ลาว
 
            ดร.ดามพ์ สุคนธทรัพย์ ประธานกรรมการบริหาร EXIM BANK และ ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK ร่วมหารือกับนายเอกะพัน พะพิทัก ประธานสภาบริหาร ธนาคารร่วมพัฒนา (Joint Development Bank : JDB) และ ดร.วิวัฒน์ กิตติพงศ์โกศล ประธานที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ JDB ผ่านระบบการประชุมออนไลน์ เมื่อเร็ว ๆ นี้ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและแนวทางความร่วมมือในการสนับสนุนทางการเงินแก่ผู้ประกอบการไทยและ สปป.ลาว เพื่อขยายการค้าและการลงทุนระหว่างทั้งสองประเทศ  
  EXIM BANK หารือระดับสูงด้านการทูตเศรษฐกิจ
การปรับตัวของไทยต่อโครงการรถไฟจีน-ลาว
 
            นายเชิดชาย ใช้ไววิทย์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ และกรรมการ EXIM BANK พร้อมด้วยนางวรางคณา วงศ์ข้าหลวง รองกรรมการผู้จัดการ EXIM BANK และผู้บริหารจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน เข้าร่วมการหารือระดับสูงด้านการทูตเศรษฐกิจเรื่องการปรับตัวของไทยต่อโครงการรถไฟจีน-ลาว จัดโดยกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โดยมีนายวิชาวัฒน์ อิศรภักดี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธาน เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองและข้อคิดเห็นต่อการบริหารความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจมหภาค การเตรียมความพร้อมของเศรษฐกิจไทยในภาพรวม และการส่งเสริมโอกาสและขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชนไทยโดยใช้การทูตเศรษฐกิจ ณ โรงแรมแบงค็อกแมริออท เดอะ สุรวงศ์ เมื่อเร็ว ๆ นี้  
  EXIM BANK จับมือหอการค้าไทย เติมความรู้ โอกาสทางธุรกิจ และเงินทุน
สนับสนุนผู้ประกอบการไทยทุกอุตสาหกรรมและทุกขนาด โดยเฉพาะ SMEs รุกตลาดโลก
 
           ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK และนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยตั้งแต่รายเล็ก รายกลาง และรายใหญ่ สามารถเริ่มต้นหรือขยายธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ โดยการเติมความรู้ เติมโอกาสทางธุรกิจด้วยการขยายช่องทางการค้าออนไลน์และเครือข่ายทางธุรกิจ และเติมทุนด้วยเครื่องมือทางการเงินและบริหารความเสี่ยงทางการค้าระหว่างประเทศ
         นอกจากนี้ กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK ได้เสวนาเชิญชวน SMEs ไทยรุกตลาดต่างประเทศ ในงานสัมมนาออนไลน์ “เส้นทาง SMEs ไทย...ความหวังหลังฟ้าเปิด” จัดโดย EXIM BANK ร่วมกับหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย รวมทั้งหน่วยงานพันธมิตร ประกอบด้วย สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงพนมเปญ เวียงจันทน์ ย่างกุ้ง และนครโฮจิมินห์ สภาธุรกิจไทย-กัมพูชา สภาธุรกิจไทย-ลาว สภาธุรกิจไทย-เมียนมา และสภาธุรกิจไทย-เวียดนาม นอกจากนี้ ยังมีคลินิกให้คำปรึกษาด้านการเงินและการส่งออกไปยัง CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ให้แก่ผู้ประกอบการ ณ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เมื่อเร็ว ๆ นี้
 
  EXIM BANK ชูผลสำเร็จ “ธนาคารเพื่อการพัฒนา” 9 เดือนแรกปี 64
ขยายสินเชื่อช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมและ SMEs ฝ่าวิกฤต COVID-19 เพิ่มขึ้น
 
            EXIM BANK เดินหน้าบทบาทธนาคารเพื่อการพัฒนา สนับสนุนสินเชื่อเพื่อการลงทุนและการค้าเพิ่มขึ้น รวมเป็นสินเชื่อคงค้าง 147,678 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 สร้างปริมาณธุรกิจ 137,605 ล้านบาท โดย 50,058 ล้านบาทหรือกว่า 36% เป็นธุรกิจ SMEs สินเชื่อคงค้างแก่โครงการลงทุนของไทยในต่างประเทศ โดยเฉพาะ CLMV เพิ่มขึ้นกว่า 20% ส่งผลให้ธนาคารมีกำไรก่อนสำรอง 1,789 ล้านบาทและกำไรสุทธิ 822 ล้านบาท ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 อีกทั้งมีบทบาทสำคัญและสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง โดยฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) คงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ EXIM BANK ที่ระดับสูงสุด “AAA(tha)/Stable” และระยะสั้นที่ระดับ “F1+(tha)” เป็นปีที่ 16 ติดต่อกัน

          ดร. รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK แถลงผลการดำเนินงานในช่วงเดือนมกราคม-กันยายน 2564 ว่า แม้เศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกจะยังได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรค COVID-19 EXIM BANK ยังสามารถขยายบทบาทการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยทั้งด้านการเงินและไม่ใช่การเงินเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 EXIM BANK มีสินเชื่อคงค้าง 147,678 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12,450 ล้านบาท หรือ 9.21% เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2563 ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อเพื่อการลงทุน 110,806 ล้านบาท สะท้อนการขับเคลื่อน EXIM BANK สู่การเป็นธนาคารเพื่อการพัฒนา (Development Bank) และอีก 36,872 ล้านบาทเป็นสินเชื่อเพื่อการค้า โดยการให้สินเชื่อทั้งหมดของ EXIM BANK ทำให้เกิดปริมาณธุรกิจ (Business Turnover) 137,605 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นปริมาณธุรกิจของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เท่ากับ 50,058 ล้านบาท หรือคิดเป็น 36.38%

          ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 EXIM BANK มีวงเงินสะสมสนับสนุนสินเชื่อโครงการระหว่างประเทศรวมทั้งสิ้น 102,296 ล้านบาท โดยเป็นสินเชื่อคงค้างจำนวน 65,650 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.43% หรือ 9,266 ล้านบาท เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2563 จากจำนวนนี้เป็นสินเชื่อคงค้างแก่ผู้ประกอบการไทยที่ขยายการส่งออกและการลงทุนไปยังกลุ่มประเทศ CLMV และตลาดใหม่ (New Frontiers) จำนวน 47,947 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.61% หรือ 8,193 ล้านบาท เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2563 สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของ EXIM BANK ในการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้รุกตลาดต่างประเทศ รวมทั้ง CLMV โดยเฉพาะเวียดนามซึ่งยังมีเสถียรภาพและอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19

          ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันที่ผู้นำเข้าในต่างประเทศมีโอกาสชำระเงินล่าช้าหรือปฏิเสธการชำระเงินค่าสินค้า ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 EXIM BANK มีปริมาณธุรกิจด้านการรับประกันการส่งออกและการลงทุนเท่ากับ 134,876 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.74% หรือ 9,684 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะเดียวกัน EXIM BANK ได้สนับสนุนผู้ประกอบการทั้งในด้านการเงินและไม่ใช่การเงิน ด้วยการออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง โดยปรับลดอัตราดอกเบี้ย ขยายระยะเวลาการชำระเงิน และการพักชำระหนี้ รวมทั้งสนับสนุนด้านข้อมูลและความรู้เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEs สามารถปรับตัวและดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ผ่านการให้คำปรึกษาและจัดอบรม/สัมมนาออนไลน์ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 EXIM BANK ได้ช่วยเหลือทั้งด้านการเงินและไม่ใช่การเงินแก่ผู้ประกอบการประมาณ 10,800 ราย เป็นวงเงินรวมกว่า 68,500 ล้านบาท

          อย่างไรก็ตาม COVID-19 ยังมีผลกระทบต่อผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ EXIM BANK มีอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวม (NPL Ratio) ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 อยู่ที่ 3.71% โดยมีสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้จำนวน 5,472 ล้านบาท แต่มีค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss) จำนวน 12,925 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง คิดเป็นอัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Coverage Ratio) 236.19% โดย 9 เดือนแรกของปี 2564 EXIM BANK มีกำไรก่อนสำรองเท่ากับ 1,789 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 822 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้น 2,162 ล้านบาท จากผลขาดทุนสุทธิ 1,340 ล้านบาทของปี 2563 ทั้งนี้ คาดการณ์ผลการดำเนินงานสิ้นปี 2564 EXIM BANK จะมีกำไรไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท

          บทบาทสำคัญของธนาคารและสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง มั่นคง และมีเสถียรภาพเห็นได้จากการที่ EXIM BANK ได้รับการจัดอันดับเครดิตโดยบริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด คงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ EXIM BANK ที่ระดับสูงสุด “AAA(tha)” และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ระดับ “F1+(tha)” และมีแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ (Stable) เป็นปีที่ 16 ติดต่อกัน สำหรับอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวยังคงอยู่ที่ระดับ “BBB+” และมีแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ (Stable) ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตของรัฐบาลไทย

          ปัจจุบัน EXIM BANK ยังคงมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือธุรกิจ โดยเฉพาะ SMEs ซึ่งถือเป็นฟันเฟืองสำคัญที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้กลับมาฟื้นตัวและเติบโตได้อย่างเข้มแข็ง โดยพัฒนาผลิตภัณฑ์และเครื่องมือทางการเงินและไม่ใช่ทางการเงินใหม่ ๆ อาทิ EXIM Biz Transformation Loan สนับสนุนการลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพหรือขยายกำลังการผลิต นำไปสู่การยกระดับมาตรฐานสินค้าส่งออก อัตราดอกเบี้ยต่ำสุด 2% ต่อปี วงเงินกู้สูงสุด 100 ล้านบาทต่อราย ผ่อนชำระนานสูงสุด 7 ปี และสินเชื่อเอ็กซิมเพื่อ EEC และเครือข่ายนิคมอุตสาหกรรม สนับสนุนการลงทุนในพื้นที่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) นิคมอุตสาหกรรม เขตเศรษฐกิจพิเศษ สวนอุตสาหกรรม เขตอุตสาหกรรมทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน และกลุ่มผู้ประกอบการที่ได้รับสิทธิบัตรจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ดอกเบี้ยต่ำสุด 3.25% ต่อปีสำหรับวงเงินกู้ระยะยาว และ 3.75% ต่อปีสำหรับวงเงินหมุนเวียน และสำหรับผู้ประกอบการทั่วไป ดอกเบี้ยต่ำสุด 3.00% ต่อปีสำหรับวงเงินกู้ระยะยาว และ 3.50% ต่อปีสำหรับวงเงินหมุนเวียน ระยะเวลาผ่อนชำระสำหรับวงเงินกู้ระยะยาวสูงสุด 10 ปี

          “EXIM BANK ทำงานอย่างแข็งขันเพื่อพลิกวิกฤตเป็นทางรอดของผู้ประกอบการและทุกภาคส่วนในสังคม โดยใช้นโยบาย Dual-track Policy เชื่อมโยงการสนับสนุนการลงทุนเพื่อการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมเข้ากับการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศของผู้ประกอบการไทย เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนของผู้ประกอบการไทยทุกขนาดธุรกิจและทุกภาคอุตสาหกรรมใน Supply Chain การส่งออกสินค้าและบริการของไทยไปตลาดโลก ขณะเดียวกันเราไม่หยุดพัฒนาธุรกิจและบริการของธนาคาร ตลอดจนขยายความร่วมมือกับภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ภาคธุรกิจและประเทศไทยก้าวผ่านวิกฤตและเดินหน้าสู่อนาคตที่สดใสในโลก Next Normal ระยะข้างหน้า” ดร.รักษ์กล่าว
 
  EXIM BANK จับมือ KBank และ BBL สนับสนุนเงินกู้ให้กลุ่มบริษัท บี.กริม เพาเวอร์
ขยายธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ไปยังกัมพูชาเป็นครั้งแรก
 
 

          EXIM BANK จับมือ KBank และ BBL สนับสนุนเงินกู้ร่วมวงเงินกว่า 900 ล้านบาท ให้กลุ่มบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ลงทุนพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 39 เมกะวัตต์ ในจังหวัดบันเตียเมียนเจย กัมพูชา โดยมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าประเทศกัมพูชา 20 ปี เพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนที่เชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน

          ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK ร่วมกับนายทิพากร สายพัฒนา รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (KBank) นางสาวนิรมาณ ไหลสาธิต รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BBL) และ ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ลงนามในสัญญาสนับสนุนทางการเงินให้แก่บริษัท เรย์เพาเวอร์ซัพพลาย จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม บี.กริม เพาเวอร์ เพื่อนำไปใช้ในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังการผลิต 39 เมกะวัตต์ ที่เมืองศรีโสภณ จังหวัดบันเตียเมียนเจย ประเทศกัมพูชา ซึ่งมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าประเทศกัมพูชา (Electricite Du Cambodge : EDC) ระยะเวลา 20 ปี และดำเนินการจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) แล้วตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563

          กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวว่า การร่วมสนับสนุนทางการเงินของ EXIM BANK ในครั้งนี้เพื่อสนับสนุนให้นักลงทุนไทยที่มีศักยภาพสามารถขยายการลงทุนไปต่างประเทศได้มากขึ้น สอดคล้องกับนโยบายของ EXIM BANK ที่มุ่งสู่การเป็นธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย โดยเชื่อมโยงและขับเคลื่อนการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศของไทยกับประเทศคู่ค้า ทั้งนี้ กลุ่มบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ เป็นนักลงทุนไทยที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ อาทิ สปป.ลาว และเวียดนาม โดยครั้งนี้ นับเป็นการขยายการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ไปประเทศกัมพูชาเป็นครั้งแรก เพื่อรองรับการเติบโตของภาคอุตสาหกรรม การค้า การลงทุน และการขยายตัวของเมืองศรีโสภณ จังหวัดบันเตียเมียนเจย และความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศกัมพูชา ซึ่งมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องโดยเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน

         “ภารกิจหนึ่งของ EXIM BANK ที่มุ่งสู่การเป็นธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย ดำเนินธุรกิจภายใต้การกำกับดูแลกิจการที่ดีและความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งรวมถึงการบริหารจัดการการเงินอย่างมีความรับผิดชอบ ได้แก่ การส่งเสริมให้เกิดการค้าและการลงทุนที่นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนในระดับประเทศ ภูมิภาค และโลก เราจึงพัฒนารูปแบบการสนับสนุนทางการเงินและขยายความร่วมมือกับภาครัฐและภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนให้เกิดธุรกิจที่สร้างผลกระทบในเชิงบวกในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ทุกประเทศต้องร่วมมือกันสร้างโลกที่ดีขึ้นและคุณภาพชีวิตของประชากรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ในระยะยาว” ดร.รักษ์กล่าว

 
  EXIM BANK ร่วมประชุมประจำปีธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าในเอเชีย ครั้งที่ 26  
           ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร EXIM BANK เข้าร่วมการประชุมประจำปีธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าในเอเชีย ครั้งที่ 26 (Asian EXIM Banks Forum : AEBF) ในหัวข้อ “ผลกระทบจากการแพร่ระบาด COVID-19 ต่อทิศทางการค้าและการลงทุนในเอเชีย (The Effect and Possible Consequences of the COVID-19 Pandemic on the Trade Flows and Investment in Asia)” และหารือถึงแนวทางเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างสมาชิกเพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนในเอเชีย-แปซิฟิก จัดโดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งสาธารณรัฐตุรกี (Turk Eximbank) ผ่านระบบการประชุมออนไลน์ โดยมีธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าในเอเชียรวมทั้ง EXIM BANK ของไทยเข้าร่วมประชุมรวม 11 ประเทศ และธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank : ADB) เป็นผู้สังเกตการณ์ถาวร เมื่อเร็ว ๆ นี้  
  EXIM BANK สมทบทุนคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
สนับสนุนการศึกษาและจัดซื้อเครื่องมือแพทย์
 
           ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK พร้อมผู้บริหาร EXIM BANK มอบเงินบริจาคในนามธนาคารและที่ได้รับสมทบจากผู้บริหาร พนักงาน EXIM BANK ในโอกาสครบรอบการเปิดดำเนินงานของ EXIM BANK และผู้เข้าร่วมกิจกรรมเดิน-วิ่งการกุศลของธนาคาร จำนวนทั้งสิ้น 1,000,000 บาท ให้แก่ ผศ. นพ. ชนเมธ เตชะแสนศิริ (ที่ 3 จากขวา) รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี และ ผศ. ดร. นพ. นพพร อภิวัฒนากุล (ที่ 3 จากซ้าย) อาจารย์หน่วยโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เพื่อสนับสนุนคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ด้านการศึกษาและการจัดซื้อเครื่องมือแพทย์เพื่อให้บริการแก่ประชาชนได้อย่างทั่วถึงมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ณ โรงพยาบาลรามาธิบดี เมื่อเร็ว ๆ นี้  
  EXIM BANK ร่วมกับรักบ้านเกิดส่งเสริมเกษตรกรไทยพัฒนา Zero Waste Farm
เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรเพื่อส่งออกสู่ตลาดโลก
 
           ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK และนายพิรชัย เบญจรงคกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท รักบ้านเกิด จำกัด ร่วมดูงานโครงการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรด้วยเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ในสวนมะพร้าวน้ำหอม ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง EXIM BANK และบริษัท รักบ้านเกิด จำกัด เพื่อต่อยอดการส่งเสริมเกษตรกรที่ชนะการประกวดเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ประจำปี 2563 ภายใต้แนวคิด “การเกษตรเพื่อการส่งออก” ให้สามารถเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐานโลก ด้วยการบริหารจัดการแบบเศรษฐกิจหมุนเวียนและสร้างต้นแบบวิสาหกิจชุมชนเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ ภายใต้โครงการ CSR “EXIM รักษ์ดินโลก” โดยมีนายศราวุธ พรชัยสิทธิ์ เจ้าของสวนมะพร้าวน้ำหอมคุณราตรี เกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ประจำปี 2563 ที่มีประสบการณ์ด้านการบริหารจัดการสวนมะพร้าวด้วยระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน นายกิตติศักดิ์ พิพัฒน์คณาพร ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ไทย เบสท์ โปรดักส์ โฮลดิ้ง จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านการส่งออกผลไม้ และนายออลวิน วี ที่ปรึกษา บริษัท โคโค่ เซอร์เคิล จำกัด ผู้ผลิตและส่งออกเส้นใยมะพร้าวแปรรูป ร่วมแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการแปลงเกษตรอย่างยั่งยืนให้ปลอดวัสดุเหลือใช้ (Zero Waste Farm) กับเกษตรกรในพื้นที่และลูกค้าที่ประกอบธุรกิจภาคเกษตรของ EXIM BANK ณ สวนมะพร้าวน้ำหอมคุณราตรี อ.คลองเขื่อน จ.ฉะเชิงเทรา เมื่อเร็ว ๆ นี้  
  EXIM BANK เสริมศักยภาพด้านการค้าระหว่างประเทศให้ผู้ประกอบการยุคใหม่  
           นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร รองกรรมการผู้จัดการ EXIM BANK ร่วมพิธีสรุปผลโครงการกระจายความรู้สู่ผู้ประกอบการยุคใหม่ (From Gen Z to be CEO) โดยมีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานในพิธี และคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมเป็นสักขีพยาน ซึ่งจัดขึ้นโดยสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (New Economy Academy : NEA) กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับพันธมิตรประกอบด้วย EXIM BANK บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จํากัด บริษัท ติ๊กต๊อก (ไทยแลนด์) จำกัด และบริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด เพื่อเพิ่มทักษะศักยภาพให้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ โดย EXIM BANK ร่วมสนับสนุนข้อมูลและความรู้โดยเฉพาะการบริหารความเสี่ยงด้านการค้าระหว่างประเทศ เพื่อสนับสนุนให้นักศึกษาและผู้ประกอบการรุ่นใหม่ มีขีดความสามารถที่จะเริ่มต้นหรือขยายตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น ณ ทรู ดิจิทัล พาร์ค เมื่อเร็ว ๆ นี้  
  EXIM BANK มอบน้ำดื่มให้ศูนย์ฉีดวัคซีนป้องกันโรค COVID-19 กรุงเทพมหานคร  
           นางวันเพ็ญ อรรชุนเดชะ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ EXIM BANK มอบน้ำดื่มจำนวน 3,000 ขวด ให้แก่แพทย์หญิงป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่และบริการแก่ประชาชนทั่วไปที่เข้ารับวัคซีนที่ศูนย์ฉีดวัคซีนป้องกันโรค COVID-19 กรุงเทพมหานคร ภายใต้โครงการด้านความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) “EXIM เพื่อสุขภาพชุมชน” ณ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 (ดินแดง) เมื่อเร็ว ๆ นี้  
  หน้าหลัก  I  Share โลกเศรษฐกิจ  I  เปิดประตูสู่ตลาดใหม่  I  ส่องเทรนด์โลก  I  เกร็ดการเงินระหว่างประเทศ
เรื่องเล่าจาก CLMV  I  CEO Talk  I แวดวงคู่ค้า  I  แนะนำบริการ  I  สรุปข่าว