เข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2564 ปฏิเสธไม่ได้ว่า “การส่งออก” ยังเป็นความหวังสูงสุดที่จะช่วยประคับประคองเศรษฐกิจไทยปีนี้ไม่ให้หดตัวเป็นปีที่สองติดต่อกัน สะท้อนได้จากมูลค่าส่งออกของไทยในช่วง 9 เดือนแรกที่ขยายตัว 15.5% ทำให้หน่วยงานเศรษฐกิจสำคัญหลายแห่ง รวมถึง EXIM BANK คาดการณ์ว่าการส่งออกปีนี้จะขยายตัวได้สูงสุดในรอบกว่า 10 ปี

          อย่างไรก็ตาม แม้การส่งออกกำลังจะไปได้สวย แต่กลับสร้างประโยชน์ให้แก่ผู้ประกอบการไทยได้ไม่มากเท่าที่ควร โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs เนื่องจากปัจจุบันมูลค่าส่งออกของ SMEs คิดเป็นสัดส่วนเพียง 10-12% ของมูลค่าส่งออกรวม ขณะเดียวกันมีผู้ประกอบการ SMEs เพียง 2 หมื่นกว่าราย หรือไม่ถึง 1% ของผู้ประกอบการ SMEs ทั้งระบบที่มีอยู่กว่า 3.1 ล้านราย ที่สามารถผันตัวเองให้กลายเป็นผู้ส่งออกได้ นับเป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศในอาเซียนอย่างเวียดนามที่ 8% หรือประเทศพัฒนาแล้วอย่างแคนาดาที่มีสัดส่วนดังกล่าว 12% ประเด็นดังกล่าวนับเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเติบโตของภาคการส่งออกไทยในอนาคต และถือเป็นโจทย์ใหญ่สำหรับประเทศที่จะต้องเร่งสร้างจำนวนผู้ส่งออกหน้าใหม่ให้มากขึ้นอย่างก้าวกระโดดในรูปแบบ Exponential Growth

          หากมองในมุมของผู้ประกอบการตัวเล็ก ๆ แน่นอนว่าการออกไปบุกตลาดต่างประเทศจะต้องเจอโจทย์หรือสมการที่ซับซ้อนกว่าการทำตลาดในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนการทำเอกสารที่ยุ่งกว่าและมีพิธีศุลกากรมาเกี่ยวข้อง การติดต่อและการเข้าถึงลูกค้าก็ยากกว่า รวมถึงความเสี่ยงต่าง ๆ ที่เยอะกว่า ซึ่งความ “ยุ่ง ยาก เยอะ” ดังกล่าวได้กลายเป็นอุปสรรคขวางกั้น SMEs ไทยในการพัฒนาตนเองเป็นผู้ส่งออก แม้สินค้าของ SMEs ไทยจำนวนมากจะมีศักยภาพและคุณภาพไม่ด้อยไปกว่าสินค้าชาติใดในโลก

          เป็นที่น่าสังเกตว่า ในช่วงวิกฤต COVID-19 ที่กินเวลามาแล้วเกือบ 2 ปี เริ่มมีทางลัดที่จะนำพา SMEs ไทยออกไปลุยตลาดโลกได้ง่ายขึ้น นั่นคือ การค้าขายสินค้าออนไลน์ไปตลาดต่างประเทศ (Cross-Border E-Commerce) ที่กำลังมาแรง ซึ่งเมื่อใส่ “บวก ลบ คูณ หาร” แล้วจะกลายเป็นสูตรลัดที่ช่วยแก้โจทย์การส่งออกให้ง่ายขึ้นในหลายมิติ ดังนี้

          “บวก”…ตลาดและลูกค้า โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศหลายแห่งที่ทั้งใหญ่กว่า รวยกว่า และสดกว่า เช่น จีนและอินเดียที่มีประชากรรวมกันเกือบครึ่งหนึ่งของโลก และเศรษฐกิจขยายตัวถึง 5-6% ในช่วง 5 ปีข้างหน้า ตลาดสหรัฐฯ ที่ฟื้นตัวอย่างรวดเร็วจาก COVID-19 พร้อมกับความต้องการสินค้าที่อั้นมาจากในช่วงก่อนหน้า (Pent-up Demand) รวมถึงตลาดเกิดใหม่อีกหลายแห่งที่เต็มไปด้วยคนหนุ่มสาวและมีความนิยมในการซื้อขายสินค้าผ่าน E-Commerce มากขึ้น อาทิ ลาตินอเมริกาที่คาดว่าจะมีมูลค่ายอดขายบน E-Commerce ในปี 2564 เติบโตสูง โดยเฉพาะบราซิล (34.9%) เม็กซิโก (31.7%) และอาร์เจนตินา (30.6%) รวมถึงตลาดอาเซียน เช่น ฟิลิปปินส์ (22.0%) เวียดนาม (20.6%) และอินโดนีเซีย (16.8%) เป็นต้น

          “ลบ”…ต้นทุนในการทำการตลาดจากการส่งออกรูปแบบเดิมที่อาจมีต้นทุนสูงกว่า ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนในการออกงานแสดงสินค้า ค่าโฆษณา รวมถึงต้นทุนในการเดินทางไปทำความรู้จักกับผู้ซื้อและผู้กระจายสินค้าในต่างประเทศ สิ่งเหล่านี้ทำให้ Profit Margin ของผู้ประกอบการแคบลง ไม่เหมือนกับการค้าขายบน E-Commerce ที่จะช่วยประหยัดต้นทุนต่าง ๆ ได้มากกว่า โดยเฉพาะต้นทุนการตลาด และช่องทางการขายที่สามารถเข้าถึงผู้บริโภคทั่วโลกเพียงคลิกเดียว

          “คูณ”…กระแสและพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคใหม่ที่ต้องการความรวดเร็วและเร่งด่วนในการสั่งสินค้า เลือกสินค้าและได้สินค้า รวมถึงกระแส Social Distancing กระแส Work from Anywhere และกระแส Virtual Experience ที่จะยังมีอยู่แม้ COVID-19 เริ่มบรรเทาลง ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่า E-Commerce กำลังจะกลายเป็นช่องทางหลักในการค้าขายบนโลกแห่งอนาคต สะท้อนได้จากมูลค่าการค้า E-Commerce ทั่วโลกขยายตัวถึง 25% ในปี 2563 สวนทางกับการค้าโลกโดยรวมที่หดตัวถึง 9% ขณะเดียวกัน E-Commerce ก็ยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องที่ 11% ต่อปีไปอย่างน้อยอีก 5 ปีข้างหน้า สูงกว่าการค้าโลกโดยรวมที่ IMF คาดว่าจะโตเฉลี่ยไม่ถึง 5% ต่อปี ปัจจัยดังกล่าวจะทำให้สัดส่วน E-Commerce ขยับขึ้นมาเป็น 1 ใน 4 ของมูลค่าการค้าปลีกของโลก ยิ่งไปกว่านั้น การที่ผู้บริโภคมีแนวโน้มกล้าซื้อของราคาแพงขึ้นผ่านช่องทาง Online สะท้อนได้จากยอดขายสินค้าแบรนด์เนมที่โตถึง 23% ในปี 2563 ยิ่งเป็นการเร่งให้ E-Commerce มี Value-added มากขึ้นไปอีก

          “หาร”…ความกลัวและความยุ่งยาก เนื่องจากแพลตฟอร์ม E-Commerce ส่วนใหญ่จะมีบริการที่ครบวงจรในการอำนวยความสะดวกให้ผู้ซื้อและผู้ขายสามารถเชื่อมต่อถึงกันได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น โดยที่ไม่ต้องผ่านตัวกลาง ทั้งการสื่อสารระหว่างกันที่สามารถทำได้ตลอด 24 ชั่วโมง มีระบบตรวจสอบและยืนยันตัวตน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับทั้งสองฝ่าย ตลอดจนมีบริการที่ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มการชำระเงิน การขนส่งและการจัดการคลังสินค้าระหว่างประเทศที่หลากหลายและน่าเชื่อถือ ซึ่งจะช่วยหารขั้นตอน หารความยุ่งยาก และหารความกลัวในการส่งออกสินค้าระหว่างประเทศได้เป็นอย่างดี

          EXIM BANK เล็งเห็นถึงความสำคัญและช่องว่างดังกล่าวจึงได้มีการเปิดตัวโครงการ “EXIM Thailand Pavilion” ขึ้นเพื่อกระตุ้นให้ผู้ประกอบการไทยเข้ามาใช้ประโยชน์จาก E-Commerce ในการออกไปรุกตลาดโลกมากขึ้น ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว E-Commerce จะเป็นอีกหนึ่งหนทางที่ช่วยให้การส่งออกของไทยเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว “อย่ารอช้า ตลาดโลกอยู่ใกล้แค่ปลายนิ้ว”
 
  Disclaimer: ข้อมูลต่าง ๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น
โดย EXIM BANK จะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
  หน้าหลัก  I  Share โลกเศรษฐกิจ  I  เปิดประตูสู่ตลาดใหม่  I  ส่องเทรนด์โลก  I  เกร็ดการเงินระหว่างประเทศ
เรื่องเล่าจาก CLMV  I  CEO Talk  I แวดวงคู่ค้า  I  แนะนำบริการ  I  สรุปข่าว