การแพร่ระบาดของ COVID-19 ก่อให้เกิดมาตรการมากมายที่เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของประชาชนทั่วโลก ซึ่งหนึ่งในมาตรการที่อาจจะถูกใจหลาย ๆ คนคือ การทำงานที่บ้าน แม้ต่อมาทั่วโลกเริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุม COVID-19 แล้ว แต่คนวัยทำงานยังต้องการทำงานที่บ้านหรือทำงานจากทางไกล เห็นได้จากผลสำรวจปี 2564 ของ KPMG บริษัทชั้นนำของโลกที่พบว่า 52% ของบริษัททั่วโลก อยู่ระหว่างพิจารณาออกนโยบายทำงานจากทางไกล ขณะที่ 37% ใช้นโยบายดังกล่าวแล้ว โดยมีปัจจัยหลักมาจากการร้องขอของพนักงาน สอดคล้องกับผลสำรวจคนวัยทำงานทั่วโลก 12,500 คน ของ World Economic Forum เมื่อปี 2564 ที่พบว่า 66% ต้องการทำงานแบบยืดหยุ่นมากขึ้นเมื่อการระบาดของ COVID-19 สิ้นสุดลง และ 30% จะเปลี่ยนงานหากต้องกลับไปทำงานที่ออฟฟิศอีกครั้ง ประกอบกับทั่วโลกเริ่มทยอยเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวและลดมาตรการเข้มงวดด้านการเดินทาง จึงทำให้คนวัยทำงานที่ต้องการเที่ยวไปทำงานไปมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมาก และมีผลให้นักท่องเที่ยว “Digital Nomads” หรือนักท่องเที่ยวที่ทำงานทางไกลควบคู่ไปกับการท่องเที่ยว มีบทบาทมากขึ้นต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวโลก “ส่องเทรนด์โลก” ฉบับนี้ จะชวนท่านมาทำความรู้จักกับ Digital Nomads เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถปรับธุรกิจของท่านให้สอดรับกับเทรนด์ใหม่ดังกล่าว ดังนี้
 
  ทำความรู้จักกับ Digital Nomads  
  เที่ยวไปรอบโลก...พร้อมทำงานผ่านอินเทอร์เน็ต
Digital Nomads ถูกพูดถึงครั้งแรกในหนังสือ “Digital Nomad” เมื่อปี 2540 โดยนิยามกลุ่มคนที่ทำงานทางไกลจากที่ใดก็ได้ในโลกผ่านอินเทอร์เน็ต ใกล้เคียงกับที่ Macmillan Dictionary ให้คำแปลว่า คนที่ใช้เทคโนโลยี โดยเฉพาะคอมพิวเตอร์พกพาและเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เพื่อทำงานทางไกลจากที่ใดก็ได้ ซึ่งสอดคล้องกับคำแปลภาษาอังกฤษแบบตรงตัว โดย Nomad แปลว่า คนที่ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง เมื่อรวมกับ Digital ที่หมายถึงเทคโนโลยีดิจิทัล Digital Nomads จึงหมายถึงคนที่เดินทางท่องเที่ยวพร้อมกับทำงานทางไกลโดยใช้อินเทอร์เน็ตนั่นเอง
 
  Digital Nomads เป็นใครบ้าง?
รายงาน “Work and Wander : Meet Today’s Digital Nomads” ปี 2564 ของ Adventure Travel Trade Association (ATTA) เครือข่ายด้านการท่องเที่ยวแบบผจญภัยที่ใหญ่ที่สุดในโลกพบว่า 36% ของ Digital Nomads ทำงานอิสระหรือ “Freelance” ให้กับบริษัทหลายแห่ง และ 33% มีกิจการเป็นของตนเอง ขณะเดียวกัน ข้อมูลจาก statista.org ชี้ว่า 60% ของ Digital Nomads ทั่วโลกมาจากสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร โดยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่ม Millennials (อายุ 27-41 ปี) และมักพักอาศัยในที่พัก 1 แห่งเป็นเวลาน้อยกว่า 7 วัน
 
  สัดส่วนประเทศต้นทาง
ของ Digital Nomads
 
  ที่มา : statista.org (มี.ค. 2565)  
  Digital Nomads มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ในปี 2564 The Instant Group บริษัทให้บริการด้าน
การทำงานรูปแบบใหม่ที่เน้นการทำงานแบบยืดหยุ่นของสหราชอาณาจักร ประเมินว่า มี Digital Nomads ทั่วโลก
35 ล้านคน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็น 1 พันล้านคนในปี 2578 หรือ 1 ใน 3 ของประชากรวัยทำงานทั่วโลก
 
  Digital Nomads เลือกจุดหมายปลายทางอย่างไร?  
  Digital Nomads เลือกจุดหมายปลายทางจากความเสถียรของอินเทอร์เน็ต สภาพอากาศ และค่าครองชีพ โดยผลสำรวจของ ATTA ปี 2564 พบว่า Digital Nomads เลือกจุดหมายปลายทางจาก 3 ปัจจัยดังกล่าวตามลำดับ สอดคล้องกับ The Instant Group ที่จัดอันดับประเทศที่พร้อมรับ Digital Nomads ปี 2565 จากตัวชี้วัด ได้แก่ การมี Working Space ที่เข้าถึงได้สะดวก สภาพอากาศ ความเร็วของอินเทอร์เน็ต การเดินทางและการขนส่ง รวมถึงทัศนียภาพ โดยกรุงเทพฯ เป็นจุดหมายที่ Digital Nomads นิยมเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากกรุงลิสบอน โปรตุเกส เนื่องจากไทยมีจุดเด่นจากทั้งด้านอาหาร มีจุดกระจายสัญญาณ Wi-Fi ความเร็วสูงมากกว่า 15,000 แห่ง มีขนส่งมวลชนให้เลือกหลากหลาย และค่าที่พักมีราคาถูก โดยที่พักบนแพลตฟอร์ม Airbnb ในไทยมีราคาเฉลี่ยเพียงคืนละ 1,174 บาท  
  ที่มา : The Instant Group  
  ทั่วโลกจับเทรนด์ Digital Nomads…รุกดึงดูดเข้าประเทศฟื้นการท่องเที่ยว  
            ภาครัฐและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในหลายประเทศทั่วโลกใช้กลยุทธ์ต่าง ๆ ดึงดูด Digital Nomads เพื่อฟื้นรายได้จากการท่องเที่ยว ขณะที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ก็มีเป้าหมายเจาะตลาดกลุ่มนักท่องเที่ยวใหม่ ๆ ซึ่งรวมถึง Digital Nomads เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวไทยปี 2566 ด้วยเช่นกัน สำหรับกลยุทธ์ดึงดูด Digital Nomads ที่น่าสนใจ อาทิ  
  การออกวีซ่าระยะยาว นับเป็นกลยุทธ์สำคัญที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย โดยปัจจุบันกว่า 46 ประเทศ ออกวีซ่าระยะยาวให้แก่ Digital Nomads ในช่วงที่ทั่วโลกทยอยผ่อนคลายมาตรการเข้มงวดด้านการเดินทาง โดยในอาเซียนมีเพียงอินโดนีเซียและไทยที่ให้วีซ่าระยาวแก่ Digital Nomads ซึ่งไทยให้ Long-Term Resident Visa หรือ LTR Visa 10 ปี แก่ชาวต่างชาติที่มีกำลังซื้อสูง ซึ่งรวมถึง Digital Nomads ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2565  
  ออกแคมเปญเชิญชวน อาทิ โปรตุเกสออกแคมเปญ “It Works for You” ซึ่งประชาสัมพันธ์จุดเด่นเมือง Cascais ว่า มีทัศนียภาพสวยงาม และมีความพร้อมด้าน Working Space เพื่อรองรับ Digital Nomads รวมถึงเป็นเมืองในยุโรปที่มีแสงแดดมากถึง 300 วันใน 1 ปี และโครเอเชียออกแคมเปญ “Croatia, Your New Office” ที่ชูจุดเด่นการเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงประเทศต่าง ๆ ในยุโรป การมีสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่เร็ว ผู้คนเป็นมิตร ตลอดจนมีการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพสูง  
  ปรับสถานที่พักให้รองรับการทำงานทางไกล ซึ่งโรงแรม Zoku ในกรุงอัมสเตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์ นับเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจ เนื่องจากออกแบบเพื่อรองรับ Digital Nomads เป็นการเฉพาะ โดยมีการตกแต่งภายในสไตล์ Scandinavia ที่ทันสมัย เน้นการนำเสนอบริการให้ผู้เข้าพักรู้สึกเหมือนเป็นทั้งบ้านและออฟฟิศ พร้อมกับการให้บริการแบบโรงแรม สำหรับบริการที่น่าสนใจ ได้แก่ มี Workshop Room และอุปกรณ์สำนักงานครบครัน มีพื้นที่สำหรับทำงานทั้งแบบมีความเป็นส่วนตัวสูง และแบบที่ช่วยให้ Digital Nomads ได้ปฏิสัมพันธ์กัน เพื่อให้เกิดความรู้สึกได้เป็นส่วนหนึ่งของ Community ในโรงแรม ซึ่งช่วยแก้ Pain Point
ที่ Digital Nomads จำนวนมากรู้สึกโดดเดี่ยว อาทิ การให้บริการโต๊ะทำงานและโต๊ะรับประทานอาหารส่วนกลางแบบยาว นอกจากนี้ ภายในห้องพักยังมีพื้นที่ขนาดใหญ่สำหรับเก็บเอกสารและอุปกรณ์ และมีห้องครัวพร้อมอุปกรณ์ทำครัวครบครันสำหรับการพักระยะยาว รวมถึงมีพื้นที่สีเขียวให้ผู้พักอาศัยได้รู้สึกใกล้ชิดธรรมชาติอีกด้วย ทั้งนี้ ที่ผ่านมาผู้เข้าพักโรงแรม Zoku มีระยะเวลาเข้าพักตั้งแต่ 1 คืน ถึง 3 เดือน
 
  ตัวอย่างการปรับปรุงสถานที่เพื่อรองรับ Digital Nomads  
            การที่เทรนด์ Digital Nomads มีแนวโน้มเติบโตในระยะยาว ประกอบกับภาครัฐของไทยมีนโยบายดึงดูดนักท่องเที่ยวในกลุ่มนี้
คาดว่าจะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยที่ปรับตัวรับกระแสดังกล่าวได้ทัน ขณะเดียวกันการที่หลายประเทศ
ออกนโยบายดึงดูด Digital Nomads และภาคเอกชนในหลายประเทศก็เร่งปรับตัวรับกระแสดังกล่าว คาดว่าจะสร้างโอกาสให้กับ
ผู้ประกอบการไทยในการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับการปรับตัวรับนักท่องเที่ยวกลุ่มดังกล่าว อาทิ ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์
อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ด้วยเช่นกัน
 
  Disclaimer : ข้อมูลต่าง ๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น
โดย EXIM BANK จะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
 
  ที่มาของรูปภาพ : Wichai.wi, Chanut-is-Industries, mikan933, juicy_fish from www.flaticon.com  
  หน้าหลัก  I  Share โลกเศรษฐกิจ  I  Data Digest  I  ส่องเทรนด์โลก  I  เกร็ดการเงินระหว่างประเทศ
CEO Talk  I  แนะนำบริการ  I  สรุปข่าว