การประชุม The UN Climate Change Conference of the Parties ครั้งที่ 27 หรือ COP27 ณ ประเทศอียิปต์ ที่เพิ่งปิดฉากลงไป ยังคงตอกย้ำการแก้ปัญหา Climate Change ของนานาประเทศ โดยเฉพาะความต้องการทางการเงินของประเทศกำลังพัฒนาทั้งในการบรรเทาและเยียวยาผลกระทบจาก Climate Change ตลอดจนความต้องการทางการเงินในการลงทุนเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งนี้ Sustainable Finance ถือเป็นกลไกหนึ่งที่สามารถเข้ามาช่วยเติมเต็มความต้องการทางการเงินดังกล่าว โดยประเด็นต่าง ๆ ที่น่าสนใจ มีดังนี้
 
  Climate Change ที่ชัดเจนขึ้นจนเป็นปัญหาที่โลกต้องเร่งแก้ไข  
             Climate Change เป็นปัญหาที่คนส่วนใหญ่ตระหนักถึงความสำคัญและผลกระทบที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้นในอนาคต โดยผลสำรวจของ Pew Research Center ใน 19 ประเทศ เมื่อเดือนสิงหาคม 2565 พบว่า 3 ใน 4 ของผู้ถูกสำรวจเห็นว่า Climate Change เป็นปัญหาสำคัญที่สุดที่อาจส่งผลกระทบต่อประเทศและต่อตนเอง และสูงกว่าประเด็นปัญหาอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการแพร่กระจายของข้อมูลข่าวสารเท็จบนโลกออนไลน์ การถูกโจมตีทางไซเบอร์จากต่างประเทศ ปัญหาจากภาวะเศรษฐกิจโลก และการแพร่กระจายของโรคติดต่อ ทั้งนี้ ผลสำรวจดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของ Climate Change แม้ว่าโลกเพิ่งผ่านวิกฤตโรคติดต่อครั้งใหญ่อย่าง COVID-19 มาไม่นาน

           การตระหนักถึงปัญหา Climate Change ที่มากขึ้น ส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา
ทวีความรุนแรงมากขึ้นในหลายประเทศ
โดยเฉพาะล่าสุดกรณีเหตุอุทกภัยครั้งใหญ่ในปากีสถานเมื่อเดือนสิงหาคม 2565 ซึ่งคร่าชีวิต
ประชากรถึงราว 1,700 ราย ถือเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่นักวิจัยด้านภูมิอากาศเห็นว่า เกิดจากภาวะโลกร้อนที่ส่งผลให้ปากีสถานเผชิญ
ปริมาณฝนตกเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
 
  เหตุอุทกภัยในปากีสถาน  
  ที่มา : www.google.com  
  Climate Change สร้างภาระทางการเงินจากความเสียหายที่เกิดขึ้นและต้นทุนในการแก้ปัญหา  
             นานาประเทศต่างมีความต้องการเงินเพิ่มขึ้นจากปัญหา Climate Change ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 มิติ ดังนี้  
  ความต้องการเงินสำหรับซ่อมแซม/เยียวยาผลกระทบที่เกิดจากภัยธรรมชาติ อาทิ กรณีของเหตุอุทกภัยในปากีสถาน ซึ่งทางการปากีสถานประเมินว่าสร้างความเสียหายถึงราว 3-4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้รัฐบาลปากีสถานต้องเผชิญภาวะขาดแคลนงบประมาณในการบริหารประเทศ จนทำให้องค์กรระหว่างประเทศต้องยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือทางการเงิน ทั้งนี้ Swiss Re Institute กลุ่มธุรกิจประกันภัยชั้นนำของโลกประเมินว่า หากไม่สามารถหยุดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกได้ตามเป้าหมาย โลกจะเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติที่อาจสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจโลกสูงราว 11-13.9% ของมูลค่า GDP โลกในปี 2593  
  ความเสียหายจากภัยพิบัติทางธรรมชาติที่มีต่อเศรษฐกิจโลก
และภูมิภาคต่าง ๆ ในปี 2593
 
  หมายเหตุ : พิจารณากรณี Base Scenario คือ อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น 2-2.6 องศาเซลเซียส เทียบกับช่วงยุคก่อนอุตสาหกรรม
ที่มา : Swiss Re Institute
 
  ความต้องการเงินสำหรับการลงทุนเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยประเทศต่าง ๆ ต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน
ด้านพลังงานสีเขียวและเทคโนโลยีสะอาดเพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามที่แต่ละประเทศได้ตั้งเป้าไว้ เช่นเดียวกัน
กับภาคธุรกิจหลายรายที่ประกาศจุดยืนในการลดคาร์บอน อาทิ Toyota และ Honda ประกาศเป้าหมายความเป็นกลางทาง
คาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2593 ขณะที่ผู้ประกอบการไทย อาทิ เครือ CP ประกาศเป้าหมาย Carbon Neutrality
ภายในปี 2573 ทั้งนี้ จากงานศึกษาของ McKinsey พบว่า โลกต้องลงทุนในสินทรัพย์หรือโครงการราว 275 ล้านล้านดอลลาร์
สหรัฐ ในช่วงปี 2564-2593 หรือเฉลี่ยราว 9.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี เพื่อที่จะผลักดันโลกเข้าสู่เป้าหมาย Net Zero Emissions โดยหากเทียบกับค่าเฉลี่ยเงินลงทุนในปัจจุบันที่ 5.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ก็จะเห็นว่าโลกยังต้องการลงทุน
ใหม่อีกราว 3.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี เพื่อจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าว
 
  Sustainable Finance…เครื่องมือปิดช่องว่างทางการเงินในการแก้ปัญหา Climate Change  
            ในการแก้ปัญหา Climate Change ภาครัฐและภาคเอกชนของประเทศต่าง ๆ ยังต้องการเงินลงทุนจำนวนมาก ซึ่งการเงินเพื่อความยั่งยืน หรือ Sustainable Finance ถือเป็นเครื่องมือหนึ่งที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการดังกล่าว โดยข้อมูลจาก Standard Chartered พบว่า ในปี 2564 มูลค่า Sustainable Finance ของโลกสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1.67 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ แสดงให้เห็นถึงความตื่นตัวของทั้งภาคการเงิน ภาคธุรกิจ และนักลงทุน ในการขับเคลื่อนการลงทุนด้านความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อมผ่านกลไก Sustainable Finance  
  Global Sustainable Finance  
  ที่มา : Standard Chartered  
            ทั้งนี้ คาดว่าการเติบโต Sustainable Finance จะยังคงเป็นกระแสหลักทางการเงินในช่วง 10-20 ปีข้างหน้าเพื่อเร่งลดผลกระทบของภาวะโลกร้อนที่ทวีความรุนแรงขึ้น โดยการพัฒนา Sustainable Finance ในอนาคตจะก้าวหน้าไปทั้งมิติด้านมูลค่า มิติด้านความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ ๆ และมิติด้านมาตรฐานที่ต้องพัฒนาขึ้นใช้ร่วมกันเป็นกติกาสากล  
  Sustainable Finance ประเภทต่าง ๆ
Green Bond คือ ตราสารหนี้ที่ระดมทุนเพื่อนำไปใช้ในโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
Sustainability-linked Loan คือ สินเชื่อที่อัตราดอกเบี้ยเชื่อมโยงกับผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของบริษัทผู้กู้ โดยอัตราดอกเบี้ยจะลดลงหากผลการดำเนินงานสำเร็จตามเป้าหมาย
Green Loan คือ สินเชื่อที่ให้กับโครงการด้านสิ่งแวดล้อม
Social Bond คือ ตราสารหนี้ที่ระดมทุนเพื่อนำไปใช้ในโครงการพัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิต
Sustainability Bond คือ ตราสารหนี้ที่ระดมทุนเพื่อนำไปใช้ในโครงการด้านความยั่งยืน
Sustainability-linked Bond คือ ตราสารหนี้ที่อัตราผลตอบแทนเชื่อมโยงกับผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของบริษัทผู้ออกตราสารหนี้ โดยหากผลการดำเนินงานไม่สำเร็จตามเป้าหมาย ผู้ออกตราสารหนี้ต้องเพิ่มอัตราผลตอบแทนให้กับนักลงทุน
 
            สำหรับ EXIM BANK ในฐานะธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย ซึ่งมีบทบาทในการมุ่งผลักดันธุรกิจ BCG ของไทย โดยที่ผ่านมาธนาคารมีบทบาทในการสนับสนุนโครงการพลังงานหมุนเวียนจำนวนมากทั้งในประเทศและต่างประเทศ และเพื่อให้การสนับสนุนทางการเงินดังกล่าวสอดคล้องไปกับกระแส Sustainable Finance ล่าสุดเมื่อเดือนกันยายน 2565 EXIM BANK ได้ออกพันธบัตรเพื่อสิ่งแวดล้อม (Green Bond) มูลค่ารวม 5,000 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยเติมเต็มบทบาทการสนับสนุนธุรกิจสีเขียวของไทยเป็นไปอย่างครบวงจรมากขึ้น  
  Disclaimer : ข้อมูลต่าง ๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น
โดย EXIM BANK จะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
 
  ที่มาของรูปภาพ : Skyclick, Freepik from www.flaticon.com  
  หน้าหลัก  I  Share โลกเศรษฐกิจ  I  Data Digest  I  ส่องเทรนด์โลก  I  เกร็ดการเงินระหว่างประเทศ
CEO Talk  I  แนะนำบริการ  I  สรุปข่าว