อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของไทยได้รับการยอมรับในระดับโลกว่ามีคุณภาพดีและมีบทบาทสูงต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ของไทยมานาน ผู้ผลิตผ้าในประเทศไทยได้ยกระดับการผลิตขึ้นไปอีกขั้นด้วยการนำเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามาใช้ เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาโลกร้อน และนำเอาแนวคิดการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืนหรือการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี (ESG) มาปรับใช้ สำหรับองค์กรที่มีอายุยืนยาวกว่า 80 ปีอย่าง บริษัท จงสถิตย์ จำกัด การเปลี่ยนแปลงทำได้ไม่ง่าย ต้องใช้ความมุ่งมั่นตั้งใจอย่างมากที่จะก้าวจากโรงงานทอผ้าแบบดั้งเดิมไปสู่โรงงานผ้าไฮเทคที่ผลิตผ้าจากวัสดุรีไซเคิล ลดมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม
คุณเติมศักดิ์ ชีวประวัติดำรงค์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท จงสถิตย์ จำกัด จะบอกเล่าการเปลี่ยนผ่านสู่การผลิตผ้ารักษ์โลกที่กำลังเป็นที่ต้องการของผู้ผลิตเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มชื่อดังของโลก
จากโรงงานทอผ้าสู่ผู้ผลิตสิ่งทอครบวงจร
คุณเติมศักดิ์กล่าวถึงที่มาของบริษัทจงสถิตย์ว่า “คุณปู่ของผมเดินทางมาจากเมืองจีนด้วยเสื่อผืนหมอนใบ ได้มีโอกาสเข้ามาเป็นคนงานในบริษัทสิ่งทอแห่งหนึ่ง คุณปู่ขยันและตั้งใจทำงานจนนายจ้างชื่นชมและสอนวิธีทอผ้าให้ จึงได้ยึดอาชีพเป็นช่างเทคนิคทอผ้า หลังจากนั้นก็ออกมาเปิดโรงงานทอผ้าเป็นของตัวเอง ในช่วงแรกทอผ้าซิ่น ผ้าขาวม้า ผ้าโสร่ง เมื่อกิจการเติบโตดี มีลูกค้ามากขึ้น คุณปู่จึงส่งต่อทั้งลูกค้าและธุรกิจให้คุณพ่อของผมทำต่อ ผมเป็นเจเนอเรชันที่ 3 ที่เข้ามาดูแลกิจการ ได้รับการปลูกฝังให้ดูแลลูกค้าและพนักงานให้เหมือนดูแลครอบครัวตัวเองเพราะคนเหล่านี้มีบุญคุณกับเรา”
ธุรกิจในช่วงแรกของจงสถิตย์ เป็นการซื้อวัตถุดิบมาใช้ผลิตผ้าอย่างเดียว ทำไปสักพักก็รู้สึกว่าไม่ค่อยมีกำไร และพบว่าการซื้อวัตถุดิบคือเส้นใยมาจากหลาย ๆ แหล่งไม่สามารถควบคุมคุณภาพได้ เนื่องจากวัตถุดิบแต่ละแหล่งมีความแตกต่างกัน การติดสีและความเรียบของผืนผ้าที่ได้ก็แตกต่างกัน ดังนั้นจึงเห็นว่าหากเราสามารถควบคุมคุณภาพวัตถุดิบได้ตั้งแต่เริ่มต้นจะทำให้ผลิตสินค้าได้มีคุณภาพดีขึ้นและราคาที่ขายได้ก็สูงกว่าเดิม บริษัทจึงเพิ่มไลน์การผลิตทั้งการผลิตเส้นใย เส้นด้าย และผ้า ทำให้สามารถควบคุมคุณภาพได้ทั้งกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ
คุณเติมศักดิ์กล่าวว่า ปรัชญาในการทำงานของจงสถิตย์คือ พยายามทำตัวเองให้เป็นประโยชน์มากที่สุด ทำให้งานของลูกค้าน้อยลงให้ได้มากที่สุด จึงได้จัดระบบงานให้เป็น One Stop Service ให้บริการลูกค้าครบวงจร คือนอกจากจะผลิตผ้าแล้ว ยังเป็นโรงงานผลิตเส้นด้ายและเส้นใย ควบคุมการส่งสินค้าให้ถึงมือลูกค้าอย่างรวดเร็วและถูกต้องด้วย เช่น ลูกค้าจะต้องหาโรงงานทำเส้นด้าย หาโรงงานผ้า หาโรงงานทำเสื้อผ้า แล้วส่งวัตถุดิบจากโรงงานหนึ่งไปยังอีกโรงงานหนึ่งเพื่อทำการผลิตเป็นสิ่งทอสำเร็จรูป เกิดปัญหาเรื่องโลจิสติกส์ โดยเฉพาะเมื่อช่วง COVID-19 ที่ผ่านมา บริษัทของลูกค้าไม่สามารถส่งของได้ทั้งทางบก ทางเรือ และทางอากาศ ทำให้ส่งสินค้าไม่ตรงเวลา ลูกค้าจึงต้องการบริษัทที่สามารถทำทุกอย่างเบ็ดเสร็จได้ด้วยตัวเอง ซึ่งเราสามารถให้บริการได้ตรงจุดนี้ ซึ่งเป็นจุดแข็งของบริษัทที่ลูกค้าชื่นชอบ
ปรับตัวตลอดเวลา ยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง
ในการทำให้ธุรกิจดำเนินกิจการได้อย่างยาวนานและมีการเติบโตที่ดีอย่างสม่ำเสมอ คุณเติมศักดิ์กล่าวว่า “เป็นผลจากความสามารถในการปรับธุรกิจให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าและสถานการณ์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป กล่าวคือบริษัทเริ่มมาจากการทอผ้าแบบดั้งเดิมแต่เมื่อตลาดนิยมผ้าปอย้อมสี บริษัทก็ปรับมาทำผ้าปอย้อมสีป้อนให้กับตลาด เมื่อตลาดนิยมผ้าที่ทำจากวัตถุดิบสังเคราะห์ที่ไม่ใช่เส้นใยธรรมชาติเราก็ผลิตผ้าโพลีเอสเตอร์ และในอนาคตความต้องการสิ่งทอเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมีมากขึ้น เราก็จะทำตามความต้องการดังกล่าวของลูกค้า”
ทั้งนี้ กลุ่มลูกค้าหลักของจงสถิตย์ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มค้าปลีก (Retail) ได้แก่ แบรนด์ชั้นนำในอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น เป็นต้น ลูกค้าเหล่านี้ไม่ได้ซื้อสินค้าของบริษัทโดยตรง แต่ซื้อผ่านบริษัทที่ตัดเย็บเสื้อผ้า (Garment) ส่วนใหญ่อยู่ในเวียดนาม อินโดนีเซีย บังกลาเทศ และไทย ซึ่งเป็นโรงงานขนาดใหญ่ และแต่ละแบรนด์ต้องการผ้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น
ผลิตผ้าทอรักษ์โลกจากวัสดุรีไซเคิล ต่อยอดสู่ความยั่งยืน
คุณเติมศักดิ์กล่าวว่า เดิมทีบริษัทมีโจทย์ของธุรกิจแค่หาวัตถุดิบอย่างไรให้ได้คุณภาพดีที่สุด ราคาถูกที่สุด และไม่มีปัญหาเรื่องการส่งมอบ แต่ปัจจุบันโจทย์ของลูกค้าคือต้องการสินค้ารักษ์โลกเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ดังนั้นจึงต้องหาวัตถุดิบเพื่อผลิตสินค้าให้ตอบโจทย์ตามความต้องการของลูกค้า ทดแทนกระบวนการผลิตแบบเดิมที่เราใช้วัตถุดิบสดใหม่จากธรรมชาติ เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ที่นำมารวมกันเป็นสารเข้มข้นแล้วฉีดออกมาเป็นเส้นด้าย ฝ้ายที่โตออกมาจากต้นใหม่ ขนแกะที่ตัดออกมาจากตัวแกะ นำมาผ่านกระบวนการผลิต โดยการได้มาซึ่งวัตถุดิบเหล่านั้นเป็นกระบวนการที่เพิ่มก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้กับโลก จึงคิดว่าถ้าใช้ขวดน้ำหรือวัตถุดิบอะไรก็ตามที่สามารถรีไซเคิลได้มาใช้ในกระบวนการผลิตก็จะเป็นการลดขยะ ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้โลกใบนี้ด้วย จึงเป็นที่มาของผลิตภัณฑ์ใหม่ ได้แก่ เส้นใย เส้นด้าย และผ้า ที่มาจากขวดน้ำรีไซเคิล
“เราคิดถูกเมื่อได้เห็นงานวิจัยจากสถาบัน Container Recycling รายงานว่า ในแต่ละปีมีการใช้ขวดน้ำพลาสติกมากถึง 50,000 ล้านชิ้น และมีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ นอกจากนี้ ขยะพลาสติกจำนวนหลายพันตันยังถูกทิ้งลงสู่มหาสมุทร คร่าชีวิตสัตว์น้ำและสิ่งมีชีวิต อื่น ๆ ไปเป็นจำนวนมาก จึงได้ตั้งหน่วย R&D ขึ้นเพื่อวิจัยและพัฒนาการนำขวดพลาสติกมาผลิตเป็นผ้าเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว ซึ่งน่าจะเป็นเจ้าแรก ๆ ที่สามารถฉีดพลาสติกออกมาเป็นเส้นด้ายและนำมาผลิตเป็นผ้าโพลีเอสเตอร์ และในปี 2562 องค์กรไม่แสวงหากำไรระดับโลกอย่าง Textile Exchange ได้ริเริ่มโครงการที่ท้าทาย 50 บริษัทใหญ่ในวงการสิ่งทออย่างการเพิ่มปริมาณการรีไซเคิลสิ่งทอโพลีเอสเตอร์ในแต่ละบริษัทให้มากขึ้น โดยเป้าหมายคือการเพิ่มปริมาณการรีไซเคิลขยะโพลีเอสเตอร์ให้ได้ถึง 45% (17.1 ล้านเมตริกตัน) ภายในปี 2568 และผลักดันตัวเลขให้สูงขึ้นไปอีกถึง 90% ภายในปี 2573 เราจึงนำความท้าทายนี้มาทำให้มันเป็นจริง” กรรมการผู้จัดการ จงสถิตย์ กล่าว
ความท้าทายที่กลายมาเป็นความจริงนี้ ทำให้บริษัทจงสถิตย์ได้รับรางวัลแห่งความภาคภูมิใจคือ ใบรับรองมาตรฐานการรีไซเคิลระดับสากล (Global Recycled Standard : GRS) ซึ่งเป็นการรับรองการผลิตที่มีคุณภาพวัตถุดิบรีไซเคิล ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยยังคงคุณภาพของผ้าที่มาจากวัตถุดิบรีไซเคิลที่ให้ความนุ่ม ใส่สบาย
ทั้งนี้ จงสถิตย์ได้นำเอาแนวคิด ESG มาใช้ในการดำเนินงานให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วย นอกจากเพิ่มการผลิตผ้าทอรักษ์โลกแล้ว การใช้พลังงานไฟฟ้าในโรงงานก็มีแหล่งกำเนิดจากพลังงานแสงอาทิตย์ และให้ความสำคัญในเรื่องของการบำบัดน้ำเสียในกระบวนการผลิต โดยเฉพาะการย้อม บริษัทมีการใช้เทคโนโลยี Dope Dyeing ซึ่งเป็นการฉีดสีเข้าสู่เส้นด้ายเลย เส้นด้ายติดสีโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการย้อม ทำให้ไม่มีน้ำเสียออกจากกระบวนการนี้เลย
“เรากำลังจ้างที่ปรึกษามาคำนวณคาร์บอนเครดิตในกระบวนการผลิตทั้งหมดว่าเป็นอย่างไร เพื่อนำเอาผลไปปรับปรุงว่าเราต้องทำอะไรเพิ่มอีก หรือถ้าเราปล่อยคาร์บอนน้อยกว่า เราก็สามารถขายเครดิตได้”
EXIM BANK ที่ปรึกษาด้านการส่งออก
คุณเติมศักดิ์ เล่าประสบการณ์การส่งออกสินค้าที่ทำให้ได้มีโอกาสใช้บริการของ EXIM BANK ว่า “เดิมบริษัทไม่ได้คิดส่งออกเพราะการขายสินค้าในประเทศสะดวกในการติดต่อและขนส่ง แต่เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจและความจำเป็นหลายด้านทำให้ลูกค้าที่ผลิตสิ่งทอย้ายฐานการผลิตไปอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านที่ค่าแรงถูกกว่า อาทิ อินโดนีเซีย เวียดนาม บังกลาเทศ ดังนั้นบริษัทจึงต้องส่งออกวัตถุดิบไปให้ลูกค้า
นอกจากนี้ สถานการณ์เศรษฐกิจทั่วโลกที่หดตัวในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาหลายปัญหาทำให้บริษัทต้องขยายฐานลูกค้าไปยังลูกค้ากลุ่มใหม่ที่ยังไม่เคยค้าขายกันมาก่อน เช่น ในตลาดแอฟริกาใต้และอเมริกาใต้ เพราะไม่ต้องการลดกำลังการผลิต เวลาส่งสินค้าไปขายยังต่างประเทศ มักจะเจอกับความเสี่ยงเสมอเพราะลูกค้าอยู่ไกล การทำความรู้จักตัวตนของลูกค้าประเทศปลายทางไม่ใช่เรื่องง่าย
“บริษัทเคยประสบเหตุการณ์ที่ส่งสินค้าไปแล้วลูกค้าไม่ชำระเงิน จึงเริ่มติดต่อ EXIM BANK เพื่อขอให้ช่วยเช็กประวัติคู่ค้าให้ และได้ใช้บริการประกันการส่งออก ทำให้เรามั่นใจที่จะค้าขายกับต่างประเทศมากขึ้น จึงใช้บริการของ EXIM BANK มาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาร่วม 10 ปีแล้ว” คุณเติมศักดิ์กล่าว
ฝากถึงผู้ประกอบการคนตัวเล็ก
สิ่งสำคัญที่สุดในการทำธุรกิจ ได้แก่
1. คุณภาพ การผลิตสินค้าที่ไม่มีคุณภาพ ลูกค้าจะซื้อสินค้าของเราแค่ครั้งเดียว ไม่กลับมาซื้อซ้ำ
2. ราคา การตั้งราคาสินค้าสูงเกินไป ลูกค้าจะซื้อของเราครั้งเดียว จากนั้นจะส่งให้บริษัทอื่นทำเลียนแบบมาให้ แต่ถ้าเราตั้งราคาที่แข่งขันได้ตั้งแต่แรก เราก็รักษาฐานลูกค้าได้
3. ปริมาณ หากเราผลิตสินค้าดี ราคาถูก แต่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า ก็เป็นสาเหตุให้เราเสียลูกค้าได้ ดังนั้น 3 เรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญที่จะมัดใจลูกค้าให้อยู่กับเรา ไม่ว่าจะเป็นลูกค้าในไทยหรือต่างประเทศ