เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) เป็นโมเดลเศรษฐกิจที่นำเอาสินค้าหรือบริการมาเพิ่มมูลค่าโดยผ่านการคิดอย่างสร้างสรรค์ มีการนำเอาเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่ ๆ มาช่วยในการสร้างสรรค์ผลงาน เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าดั้งเดิมของไทยจนดังไปไกลในตลาดโลกและประสบความสำเร็จนั้นไม่ง่ายแต่ก็ไม่ยากจนเกินความสามารถของ
คุณดุลยพล ศรีจันทร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พีดีเอ็ม แบรนด์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน ซึ่งประสบความสำเร็จในการยกระดับ “เสื่อไทย” ให้กลายเป็นของตกแต่งบ้านระดับโลก
จาก “เสื่อไทย” กลายเป็นพรมเมืองร้อน
คุณดุลยพล บอกเล่าเรื่องราวของการเริ่มต้นธุรกิจว่า
“PDM” มีที่มาจากคำว่า
“Product Design Matters” บริษัทเกิดจากการรวมตัวของกลุ่มดีไซน์เนอร์ที่มีประสบการณ์การทำงานร่วมกับบริษัทชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ กวาดรางวัลสุดยอดนักออกแบบมาแล้วหลายเวทีทั่วโลก ธุรกิจในกลุ่มมีทั้งการให้คำปรึกษาด้านการออกแบบ พัฒนา และผลิตเฟอร์นิเจอร์ ของตกแต่งทั้งภายในและภายนอกอาคาร ให้กับผู้ส่งออกและผู้ประกอบการ SMEs รวมทั้งการร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ในโอกาสพิเศษกับแบรนด์ชื่อดังต่าง ๆ อีกด้วย
“สินค้าที่สร้างชื่อเสียงให้กับเราคือ เสื่อ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์แรกที่ผลิตขึ้นมาจากแนวคิดที่ต้องการให้เสื่อไทยกลายเป็นพรมเมืองร้อน เนื่องจากเห็นว่าคนไทยนิยมแต่งบ้านด้วยพรมซึ่งไม่เหมาะกับภูมิอากาศในเขตเมืองร้อน ไม่เหมาะกับวัฒนธรรมการกินอยู่ หากพรมสกปรกจะทำความสะอาดยากและเก็บฝุ่น ในขณะที่เสื่อเป็นวิถีชีวิตไทย เกือบทุกบ้านจะมีเสื่อไว้ใช้ ที่วัดก็มีเสื่อไว้ปูรองนั่ง เสื่อทุกผืนมีลวดลายและสีสันสวยงาม จึงเกิดแรงบันดาลใจที่จะต่อยอดภูมิปัญญาไทย พัฒนาเสื่อพื้นบ้านให้มีคุณภาพสูงขึ้นโดยคงคุณค่าดั้งเดิม เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ใช้งาน การดำเนินชีวิต และภูมิอากาศในเขตเมืองร้อนมากที่สุด พร้อมทั้งยังสะท้อนอัตลักษณ์ของแบรนด์ PDM Brand ที่ไม่เพียงสวยแบบสากล แต่ยังทนทานด้วยวิธีการทออย่างพิถีพิถัน ตรวจสอบรายละเอียดทุกขั้นตอน รวมทั้งต้องเป็นสินค้ารักษ์โลกด้วย” คุณดุลยพลกล่าว
ด้วยแนวคิดที่ต้องการให้ผู้บริโภคใช้เสื่อแทนพรมจึงเริ่มศึกษาตลาด คุณดุลยพลพบว่า การผลิตเสื่อในไทยใช้การทอมือ ไม่มีผู้ผลิตที่มีเครื่องจักรสานเสื่อจึงลองทำเอง กลายมาเป็นเสื่อ PDM Brand ที่มีการออกแบบลวดลายที่ทันสมัยเหมือนเป็นชิ้นงานศิลปะ ต้องการให้ปูพื้นถาวรโดยไม่ต้องใช้แล้วเก็บเหมือนเสื่อรูปแบบดั้งเดิม หลอดเส้นที่นำมาใช้ทอเสื่อผลิตจากพลาสติกรีไซเคิลและใช้การเคลือบให้มีคุณสมบัติป้องกันการลามไฟ ป้องกันรังสี UV ถักทอให้แน่นทำให้ไม่กรอบหรือแตกง่าย ง่ายต่อการทำความสะอาด
คุณดุลยพลกล่าวว่า การนำพลาสติกรีไซเคิลมาเป่าเป็นหลอดเส้นทำให้ไม่สะท้อนแสง เมื่อนำมาทอเป็นเสื่อมีคุณสมบัติที่ตกแต่งบ้านแล้วเหมือนพรม สวยงามมีสไตล์ กลุ่มลูกค้าในยุคแรก ๆ คือ มัณฑนากร สถาปนิก นักเดินทางที่ชอบตกแต่งบ้านและชอบงานดีไซน์ เราค่อย ๆ โตมาพร้อมกับลูกค้ากลุ่มนี้ สินค้าจึงมี Range ที่กว้างมาก เสื่อมีหลากหลายลวดลายและสีสัน ทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าเมื่อมีเสื่ออยู่ในบ้านแล้ว บ้านสวย ทันสมัย มีชีวิตชีวา ต่อมาก็ขยายความนิยมไปยังกลุ่มโรงแรม ต้องใช้การเคลือบให้มีคุณสมบัติป้องกันการลามไฟ ป้องกันรังสี UV ไม่กรอบหรือแตกง่าย ทำความสะอาดง่าย สำหรับตลาดต่างประเทศ เสื่อของ PDM Brand สามารถนำไปใช้ตกแต่งภายนอกอาคารหรือในสวนได้ด้วย เราใช้คำว่า “Enhance Your Living” เสื่อเหมือนเป็นผงชูรสของบ้านคือ ทำให้บ้านสวยขึ้นจริง ๆ ซึ่งเราทำสำเร็จ ปัจจุบันส่งออกแล้วกว่า 15 ประเทศทั่วโลก
กุญแจสู่ความสำเร็จ
คุณดุลยพลมองว่า จุดแข็งของ PDM Brand คือ เป็นทีมงานที่เป็นคนรุ่นใหม่ มีพลัง สนุกในการที่จะมองเห็นสิ่งใหม่ ๆ แล้วเชื่อมโยงว่าลูกค้าจะใช้ประโยชน์จากสิ่งที่คิดได้อย่างไร แก่นหลักของ PDM คือ เรื่องของการทำบ้านให้สวยขึ้น อะไรก็ตามที่ทำให้บ้านสวยขึ้น เราทำหมด จุดนี้ทำให้มีความแตกต่าง ไม่ใช่ว่าไอเดียจะ Success หมดทุกอย่าง มีไอเดียที่ไม่ Success อยู่เยอะ แต่ก็มีการเรียนรู้ตลอดเวลา ความล้มเหลวถือเป็นประสบการณ์
เป้าหมายต่อไปของเรา ต้องการที่จะเป็น Fashion Living Thailand Brand เป็น Asia Brand ได้อย่างสมภาคภูมิและเราจะขยายผลิตภัณฑ์หลักออกไปจากเดิมที่มีอยู่คือ เสื่อ เฟอร์นิเจอร์ และสินค้าตกแต่งบ้านชิ้นเล็กชิ้นน้อย (Small Items) และในอนาคตเราจะพัฒนาสินค้ากลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องครัว รวมทั้ง Collaboration ในโอกาสพิเศษกับพาร์ทเนอร์
ในด้านของแนวคิดสู่ความยั่งยืนนั้น คุณดุลยพลกล่าวว่า การโอบกอดความเปลี่ยนแปลง ฟังแล้วดูดี แต่หากวันหนึ่งขายดีอีกวันหนึ่งขายไม่ดี เราต้องพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลง และทำอย่างไรให้กลับมาตามเป้าหมายหรือดีกว่าเดิม ไม่ต้องกอดทุกสิ่งไว้ อย่าคิดว่าทุกอย่างจะเหมือนหรือคงเดิมไปตลอด
สิ่งที่อยากฝากถึงคนตัวเล็ก
คุณดุลยพล ฝากถึงผู้ประกอบการคนตัวเล็กหรือผู้ประกอบการ SMEs ว่า หากมีไอเดียที่คิดว่าดีให้ลงมือทำเลยในระดับที่เหมาะสม เราต้องรู้ว่าถ้าไม่เวิร์กเราก็จะสามารถกลับมาใหม่ได้ไม่เกิดความเสียหาย ต้องกล้าลงมือทำอย่างความระมัดระวังและมีแผนสำรองเสมอ