ลิลชีพ โปรตีนกระจก อาหารเพื่อคนรักสุขภาพ

วันที่ประกาศ 02 ตุลาคม 2566
Pic_CEO_Talk_0566.jpg

คำกล่าวที่ว่า “ในวิกฤต มีโอกาส” เป็นเรื่องจริงของคนที่ไม่ยอมแพ้ ไม่จมอยู่กับปัญหา ก้าวเดินไปข้างหน้า เหมือนที่ “เอกรัฐ สงวนรักษา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลิลชีพ คอนเซ็ปต์ จำกัด” อดีตพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน เลือกที่จะกล้าเดินออกจากชีวิตมนุษย์เงินเดือน ในวันที่ต้องหยุดงาน ไม่มีรายได้ จึงใช้เวลาว่างค้นหาหนทางทำธุรกิจของตัวเองเพื่อต่อสู้กับผลกระทบของ COVID-19 ที่ทำให้หลายธุรกิจ รวมทั้งสายการบินต้องหยุดชะงัก จนในที่สุด จึงคิดค้นสูตรทำผลิตภัณฑ์ขนมทอดกรอบจากโปรตีนถั่วเหลืองชื่อ “ลิลชีพ โปรตีนกระจก” ของตัวเอง

กว่าจะเป็น ลิลชีพ โปรตีนกระจก
       คุณเอกรัฐเล่าให้ฟังถึงที่มาของธุรกิจว่า ขณะที่ต้องหยุดงานเป็นเวลานาน แต่ตัวเองเป็นคนที่รับประทานอาหารเจ และเป็นนักกีฬาของบริษัท จึงลองทดสอบตัวเองว่าถ้าไม่รับประทานโปรตีนจากเนื้อสัตว์เลย ทานโปรตีนจากพืชล้วน ๆ จะแข็งแรงและมีประสิทธิภาพร่างกายดีเหมือนเดิมไหม จึงได้ทดลองนำโปรตีนถั่วเหลืองมาทอดรับประทานเองที่บ้าน และลองให้เพื่อน ๆ ได้ชิม ทุกคนบอกว่าเนื้อสัมผัสเหมือนไก่ทอด เหมือนแคบหมู เหมือนหมูกระจก สามารถทานคู่กับเครื่องดื่มต่าง ๆ ได้ จึงนำมาตั้งเป็นชื่อผลิตภัณฑ์ว่า “โปรตีนกระจก” หลังจากนั้นจึงคิดจะทำขายเป็นธุรกิจของตัวเอง โดยทดลองทำการตลาดทางออนไลน์ด้วยการ Live ขายสินค้าบนเพจ Facebook

       “ผมว่าข้อดีของการ Live สด คือ เราได้เจอลูกค้าตัวจริง ได้มีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า ได้รับ Feedback แบบตรง ๆ ว่าลูกค้าชอบอะไร ต้องการสินค้าแบบไหน และได้รู้จักกลุ่มลูกค้ามากขึ้น ทำให้เริ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้ตรงความต้องการของตลาด เช่น ทำอย่างไรที่จะยืดอายุสินค้า รสชาติอะไรที่ลูกค้าต้องการ แพ็กเกจแบบไหนโดนใจลูกค้า คำแนะนำและผลตอบรับทำให้มีกำลังใจที่จะพัฒนาสินค้าต่อไป โดยมีลูกค้าเป็นเสมือนคนในครอบครัวที่คอยให้กำลังใจและสนับสนุนกันตลอด” คุณเอกรัฐกล่าว

       ลูกค้าเป้าหมายสำหรับผลิตภัณฑ์นี้ คุณเอกรัฐบอกว่า เป็นกลุ่มผู้รักสุขภาพ ออกกำลังกาย เข้าฟิตเนส แล้วอยากทานขนมโดยไม่รู้สึกผิด และลูกค้าสายดื่มหรือดูหนังเพลิน ๆ แต่อยากทานขนมเพื่อสุขภาพ เพราะขนม 1 ห่อให้โปรตีน 20 กรัม เทียบเท่ากับไข่ไก่ 4 ฟอง หรืออกไก่ 1 ชิ้น หรือการทานเวย์โปรตีน (Whey Protein) 1 มื้อ อิ่มง่ายแถมยังเป็นตัวช่วยควบคุมความหิวในแต่ละวันได้เป็นอย่างดี เราพัฒนาเป็น 4 รสชาติ ได้แก่ รสเห็ดหอมชิตาเกะ รสต้มยำ รสหม่าล่า และรสเห็ดทรัฟเฟิล สามารถทานได้กับอาหารทุกอย่าง และต่อมาเพิ่มรสชาติใหม่สำหรับกลุ่มผู้บริโภค Plant Based ได้แก่ รสพริกเผากุ้ง และรสซาวครีมชีส

สู่ธุรกิจเต็มรูปแบบ
       หลังจากขายออนไลน์และได้การตอบรับจากลูกค้าดี จึงคิดว่าถ้าจะลาออกจากงานประจำแล้วอยากจะให้สินค้าเราไปต่อได้ เราต้องเพิ่มช่องทางการขายก่อน หลังจากประสบความสำเร็จในการขายออนไลน์แล้ว ก็ได้ไปติดต่อวางขายสินค้าตามห้างสรรพสินค้า ร้านค้าสะดวกซื้อ ร้านอาหารสุขภาพ ร้านอาหารเจ และตัวแทนต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งก็ได้ผลตอบรับดีขึ้นเรื่อย ๆ จากที่เคยขายได้เฉลี่ยเดือนละ 2,000-3,000 ซอง ปัจจุบันขายได้เดือนละ 40,000-50,000 ซอง

       “การทำธุรกิจต้องศึกษาทุกวัน ทั้งศึกษาออนไลน์ ออฟไลน์ และเรียนรู้จากหน่วยงานรัฐบาลต่าง ๆ อาทิ การเขียนแผนธุรกิจ การตั้งราคาต้นทุน การหาลูกค้า การหาช่องทางการจำหน่ายใหม่ ๆ ก็ได้รับความรู้และเป็นการพัฒนา Mindset ของเราด้วย” คุณเอกรัฐกล่าว

เริ่มต้นส่งออก
       คุณเอกรัฐเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการส่งออกว่า ได้เข้าไปร่วมงานแสดงสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม (Thaifex) ปี 2565 จัดโดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ ภายในงานได้จับคู่เจรจาธุรกิจ (Business Matching) กับนักธุรกิจชาวจีนและฮ่องกง และมีคำสั่งซื้อสินค้าเข้ามา ด้วยความอยากขายสินค้าให้ได้ จึงเสนอราคาที่ดึงดูดลูกค้าให้ซื้อสินค้าเรา แต่ด้วยความเป็นนักธุรกิจมือใหม่ ยังไม่ทราบว่าต้องทำยังไง ก็เริ่มต้นศึกษาเทอมการส่งออก จึงได้พบว่ายังมีปัจจัยอีกหลายอย่างที่เราต้องคำนึงถึง เช่น การควบคุมสต็อกวัตถุดิบ ค่าใช้จ่ายในการขนส่ง และอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งจะกระทบในเรื่องการตั้งราคาสินค้าส่งออกให้ลูกค้าต่างชาติ ถ้าลืมคิดอาจจะทำให้เราขาดทุนได้ จึงเข้ามาปรึกษา EXIM BANK รวมถึงศึกษาข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ มากขึ้น และนำความรู้ที่ได้รับมาปรับเปลี่ยนวิธีการทำธุรกิจใหม่ อาทิ การเช็กอัตราค่าเงิน การคำนวณค่าใช้จ่ายด้านการขนส่ง การคำนวณความเสี่ยงทางการค้าที่อาจจะเกิดขึ้น การลดต้นทุนการผลิตด้วยการสั่งวัตถุดิบมาสต็อกมากขึ้นแต่ไม่มากจนเกินไป และการจัดโปรโมชันเพื่อเพิ่มยอดขาย หากลูกค้าสั่งสินค้าจำนวนมาก เราสามารถให้ Margin ธุรกิจของเขาได้มากขึ้น ก็ Win-Win กันทั้งคู่

       ปัจจุบันสัดส่วนการขายสินค้า 80% อยู่ในประเทศ และ 20% ส่งออกไปต่างประเทศ ในปี 2566 อยากหาตลาดส่งออกเพิ่มอีก 2-3 ประเทศ โดยตั้งเป้าส่งออกต่างประเทศที่ 40% และจะผลักดันมูลค่าการขายในประเทศให้มากขึ้น

ความช่วยเหลือจาก EXIM BANK
       หลังจากที่เริ่มส่งออกไปที่จีนแล้ว คุณเอกรัฐเริ่มกังวลว่าหากมีคำสั่งซื้อล็อตใหญ่เข้ามาอาจจะทำให้มีปัญหาด้านการผลิตเพราะขาดเงินทุนหมุนเวียน จึงเริ่มมองหาวงเงินสำรองหรือเงินทุนหมุนเวียน และได้เข้าไปคุยกับ EXIM BANK ซึ่งได้รับคำแนะนำอย่างดีและยินดีที่จะสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนให้

       “ก่อนที่จะเข้ามาคุยกับ EXIM BANK ผมมีความคิดว่าพนักงานธนาคารคือต้องดุ ต้องคุยยาก ต้องใช้เอกสารเยอะแน่ ๆ แต่อันที่จริงไม่ได้ยากอย่างที่คิด ทุกคนใน EXIM BANK เป็นกันเอง ให้ความช่วยเหลือเหมือนพี่เหมือนน้อง น่าจะเป็นธนาคารที่ใจดีที่สุดแล้ว เพราะเท่าที่ผมเข้าใจ ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจมายังไม่ถึง 3 ปี หลายธนาคารอาจจะยังไม่ให้วงเงิน แต่ EXIM BANK เขามีผลิตภัณฑ์ที่สนับสนุน Start-up ทำให้เราสามารถพัฒนาธุรกิจและเติบโตขึ้นได้” คุณเอกรัฐกล่าว

       นอกจากนี้ ได้เคยร่วมงาน Business Matching ออนไลน์กับทาง EXIM BANK ก็ได้จับคู่ธุรกิจกับลูกค้าในเมียนมา และเริ่มส่งออกกับลูกค้ารายนี้แล้ว รู้สึกว่าได้รับโอกาสทางการค้า อยากจะทำ Business Matching กับลูกค้าต่างประเทศมากขึ้น เพื่อจะได้ขยายช่องทางการจัดจำหน่าย อีกทั้งยังมีโอกาสเข้ามาร่วมกิจกรรมครบรอบ 29 ปี EXIM BANK มาออกบูทจำหน่ายสินค้า ถือเป็นโอกาสดีที่ได้สร้าง Brand Awareness ทำให้คนรู้จักสินค้ามากขึ้น

ฝากถึงผู้ที่สนใจจะเริ่มต้นธุรกิจส่งออก
       คุณเอกรัฐกล่าวว่า ผู้ประกอบการหลายคนมักคิดว่า การจะเริ่มต้นทำธุรกิจนั้นต้องรอให้ตัวเองมีความพร้อม ทั้งเรื่องของเงินทุน และอื่น ๆ แต่ผมมองว่า ถ้าเรามัวแต่คิดแบบนั้น รอให้ตัวเองพร้อมแล้วค่อยเริ่มต้น มันเท่ากับคุณยังไม่ได้เริ่มต้นอะไรสักที ผมชอบคำกล่าวของโทมัส อัลวา เอดิสัน ที่ว่า “ผมไม่ได้ล้มเหลว แต่ผมค้นพบวิธีที่ไม่ได้ผลถึง 10,000 วิธี” อย่างตัวผมเองเริ่มต้นด้วยความไม่พร้อม แม้กระทั่งเรื่องของเงินทุน แต่ผมมี EXIM BANK คอยสนับสนุน ถึงแม้ว่าคุณจะยังเป็นเพียงผู้ประกอบการตัวเล็ก ๆ EXIM BANK ก็จะเป็นเหมือนพี่ใหญ่ใจดีที่คอยช่วยเหลืออยู่ตลอดเวลา ก็อยากให้กำลังใจผู้ประกอบการที่ยังรอให้ตัวเองพร้อม ขอให้กล้าลงไปลุยกับธุรกิจของคุณเลย แต่ไม่ใช่การลุยไปเฉย ๆ คุณต้องหาข้อมูล เพราะโลกปัจจุบันเปลี่ยนแปลงเร็วมาก เป็นโลกดิจิทัล คุณต้องลองลงมือทำ จะได้รู้ว่าแบบไหนได้ผลหรือไม่ได้ผล ค่อย ๆ ปรับ และเรียนรู้อยู่ตลอดเวลาครับ