ธุรกิจส่งออกอาหารทะเลเป็นธุรกิจที่ทำรายได้เข้าประเทศไทยจำนวนมหาศาลในแต่ละปี ด้วยข้อได้เปรียบด้าน ‘ภูมิศาสตร์’ ทางทะเล และความสามารถในการจัดการและการผลิตสินค้าที่ได้มาตรฐาน ทำให้ไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารทะเลแปรรูปรายใหญ่อันดับต้น ๆ ของโลก คุณมีชัยนันท์ จริยวิลาศกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท แม็คริช โพรเกรส จำกัด เล็งเห็นถึงข้อได้เปรียบนี้จึงได้เริ่มต้นและดำเนินธุรกิจส่งออกอาหารทะเลแช่แข็งไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา ยุโรป ตะวันออกกลาง และเอเชีย โดยมีโรงงานตั้งอยู่ที่จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นศูนย์กลางตลาดสัตว์น้ำของประเทศไทย

จุดเริ่มต้นของแม็คริช โพรเกรส
          แม็คริช โพรเกรส ดำเนินธุรกิจส่งออกอาหารทะเลมานานกว่า 20 ปี โดยการรับซื้อวัตถุดิบจากชาวประมงและเกษตรกรภายในประเทศทั้งหมด สินค้าของเราแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ผลิตภัณฑ์จากทะเล เช่น ปลาทะเล ปลาหมึก และผลิตภัณฑ์จากการเพาะเลี้ยง เช่น กุ้งเลี้ยง ปลาน้ำจืด โดยบริษัทจะนำวัตถุดิบมาแปรรูปและส่งออกตามความต้องการของลูกค้า เรามีการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันมียอดขายต่อปีกว่า 120 ล้านบาท

วิกฤต COVID-19 และการปรับตัว
          การระบาดของ COVID-19 ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนของสังคมโลก แม็คริช โพรเกรส ก็เช่นกัน เมื่อประเทศต่าง ๆ เริ่มมีการล็อกดาวน์ งดการทำกิจกรรมนอกบ้าน ปิดร้านอาหาร ภัตตาคาร ลูกค้าในต่างประเทศก็ได้แจ้งให้บริษัทหยุดการส่งสินค้าทันทีเนื่องจากไม่สามารถกระจายสินค้าได้ ด้าน Suppliers ผู้ส่งวัตถุดิบในประเทศที่อยู่ตามจังหวัดต่าง ๆ ก็ไม่สามารถเดินทางมาส่งสินค้าได้โดยสะดวกเช่นเดิม
          “COVID-19 ทำให้เราได้รับผลกระทบทั้งในแง่ของตลาดและ Suppliers ธุรกิจเข้าสู่ภาวะสูญญากาศ เท่านั้นยังไม่พอ COVID-19 ระลอกใหม่ระบาดหนักมากในเขตสมุทรสาคร ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงาน ตลาดกุ้ง ตลาดปลา ปิดหมด ทำให้ธุรกิจของเราในช่วงนั้นหยุดชะงักทั้งหมด”
          แม็คริช โพรเกรส มีการปรับกลยุทธ์ทั้งด้านตลาดและการปรับตัวเพื่อรับมือกับวิกฤต COVID-19 โดยปรับรูปแบบผลิตภัณฑ์และกระบวนการทำงานให้ตอบสนองความต้องการของทุก Stakeholders
          “ภายหลังจากได้รับอนุมัติเงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจและขยายระยะเวลาการชำระหนี้จาก EXIM BANK เราจึงสอบถามคู่ค้า ว่าต้องการความช่วยเหลืออะไรจากเราบ้าง และได้รับแจ้งว่าขอชำระเงินล่าช้า บริษัทก็ยืดระยะเวลาให้ นอกจากนี้บริษัทยังปรับบรรจุภัณฑ์ของผลิตภัณฑ์ให้มีขนาดเล็กลงเพื่อให้เหมาะกับการนำไปวางขายใน Supermarket ได้ ในส่วนของ Suppliers เรายังคงพยายามจ่ายเงินให้เขาได้ตามกำหนด ซึ่งเราได้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำจาก EXIM BANK มาช่วยตรงนี้ ก็ทำให้เขาสบายใจที่จะดำเนินธุรกิจกับเรา นอกจากนี้ยังมีการเจรจาซื้อสินค้ากับ Suppliers ในพื้นที่เพื่อแก้ปัญหาเรื่องข้อจำกัดในการเดินทางข้ามจังหวัด แม้จะได้ของน้อยลง แต่เราไม่ต้องลดพนักงาน เป็นความโชคดีอย่างหนึ่งที่ธุรกิจอาหารยังมีต้องการอยู่”
          นอกจากนี้บริษัทยังมีการยกระดับการป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในสถานประกอบการตามที่ภาครัฐกำหนด ไม่ว่าจะเป็นการทำ Social Distancing การกำหนดให้พนักงานทุกคนต้องใส่หน้ากากอนามัย การพ่นยาฆ่าเชื้อในโรงงาน การตรวจคัดกรองผู้มาติดต่อ และเหลื่อมเวลารับประทานอาหารของพนักงานเพื่อลดโอกาสการติดเชื้อ เป็นต้น ซึ่งบริษัทได้ดำเนินการดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้แม้ในช่วงการระบาดหนักในเขตจังหวัดสมุทรสาครซึ่งมีสถานประกอบการจำนวนมากถูกสั่งปิด

นโยบายภาครัฐ และการดูแลจาก EXIM BANK
         ย้อนไปเมื่อเกือบ 20 ปีก่อน EXIM BANK เป็นธนาคารแรกที่เข้ามาสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนให้แก่บริษัทในช่วงเริ่มต้นธุรกิจ นอกจากนั้นยังมีการจัดอบรมสัมมนาให้ความรู้ จัดกิจกรรม Business Matching ให้แก่ผู้ประกอบการ ซึ่งบริษัทก็ได้เข้าร่วมด้วย ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และโอกาสทางการค้าระหว่างประเทศ เกิดการต่อยอดทางธุรกิจ เมื่อเกิดวิกฤต COVID-19 และบริษัทได้รับผลกระทบอย่างหนัก EXIM BANK ก็เป็นธนาคารแรกที่เข้ามาสอบถามปัญหาและเสนอความช่วยเหลือเพื่อให้ธุรกิจที่สร้างมาด้วยน้ำพักน้ำแรงของผม ยังสามารถเดินต่อไปได้
         “ขณะที่เรากำลังมองหาทางออก EXIM BANK เป็นธนาคารแรกที่ติดต่อเข้ามาช่วยเหลือเรา ช่วยยืดเวลาชำระหนี้ ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย ให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเข้ามาหมุนเวียนในธุรกิจ ทำให้เราไม่เดินโดดเดี่ยวในภาวะวิกฤต ทำให้เรามีทางออกและมีเพื่อนคู่คิดอยู่เคียงข้าง”

ฝากถึงผู้ประกอบการที่อาจจะกำลังเผชิญวิกฤต COVID-19

         COVID-19 เป็นโรคระบาดใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ผมไม่คิดว่าในอนาคตเราจะได้เจอเหตุการณ์แบบนี้ ฉะนั้น จงเรียนรู้จากมัน วิกฤตครั้งนี้ฝากข้อคิดไว้หลายอย่าง ข้อแรก ธรรมชาติเป็นสิ่งสำคัญ เราอยู่ได้เพราะธรรมชาติ ฉะนั้นเราต้องช่วยกันดูแลธรรมชาติ ข้อสอง เราต้องไม่ทำอะไรเกินตัว ถ้าเราหวัง 100% เราควรทุ่มไปสัก 70% และประเมินสถานการณ์ก่อนเดินหน้าต่อไป ไม่ควรทุ่มสุดตัวทั้งหมด เพราะเมื่อเกิดเหตุไม่คาดคิดเราจะกลับตัวไม่ได้ ข้อสาม เราต้องรู้จักบริหารความเสี่ยง ในการทำธุรกิจความเสี่ยงมีหลายรูปแบบ ต้องมีผลิตภัณฑ์มากกว่าหนึ่ง และรู้จักกระจายตลาด เพราะเมื่อตลาดใดตลาดหนึ่งปิด เรายังสามารถขายสินค้าในตลาดที่ยังเปิดได้ ข้อสุดท้าย มีวินัยทางการเงิน รักษาเครดิตในเรื่องการเงินให้ดี เพื่อให้ ลูกค้า Suppliers และธนาคาร เชื่อถือในบริษัท และเมื่อเกิดวิกฤต พันธมิตรเหล่านี้จะช่วยให้บริษัทผ่านวิกฤตไปได้

 
  หน้าหลัก  I  Share โลกเศรษฐกิจ  I  เปิดประตูสู่ตลาดใหม่  I  รู้ทันเกมการค้า  I  เกร็ดการเงินระหว่างประเทศ
เรื่องเล่าจาก CLMV  I  CEO Talk  I แวดวงคู่ค้า  I  แนะนำบริการ  I  สรุปข่าว