|
|
|
|
|
เป็นเวลากว่า 6 เดือนเศษ นับจากมีการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองในเมียนมา เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ในวันนี้ ผมจะขอย้อนภาพแบบสั้น ๆ ว่าที่ผ่านมามีเหตุการณ์อะไรบ้าง
ขอเริ่มจากด้านการเมือง เริ่มตั้งแต่การออกมาประท้วงการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองของประชาชนทุกภาคส่วนทั่วประเทศเมียนมา จนนำมาสู่คำว่า Civil Disobedience Movement หรือ CDM ซึ่งคือ การนัดหยุดงานเพื่อเป็นการแสดงออกต่อการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองในเมียนมา และลุกลาม จนกระทั่งมีการใช้กำลังในการเข้ามาควบคุมการประท้วงของประชาชน ในขณะที่ทหารเมียนมาได้ตั้งสภาผู้บริหารรัฐ (State Administration Council) ขึ้นมาเพื่อดูแลและควบคุมสถานการณ์ และท้ายสุดได้มีการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีทั้งในระดับ Union State และ Region เพื่อขึ้นมาบริหารประเทศ ในขณะที่ฝ่ายประชาชนก็ได้มีการแต่งตั้งรัฐบาลคู่ขนานคือ National Unity Government (NUG) เพื่อมาเรียกร้องความชอบธรรม โดยการดำเนินการทางการเมืองของรัฐบาลเมียนมา มาถึงจุดที่ประกาศให้ผลการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 เป็นโมฆะ และขยายประกาศเข้าควบคุมสถานการณ์จนถึงเดือนสิงหาคม 2566 นั่นหมายถึง เราอาจได้เห็นการเลือกตั้งของเมียนมาอีกครั้งในปี 2566
ผลกระทบทางเศรษฐกิจ แน่นอนว่ามีผลกระทบเป็นอย่างมาก เนื่องจากในช่วงตั้งแต่มีการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง ค่าเงินจ๊าตได้อ่อนค่าลงประมาณ 20% เนื่องจากเกิดความไม่ไว้ใจในสถานการณ์ของเมียนมา รวมทั้งภาคธนาคารเองก็ไม่สามารถเปิดดำเนินการได้เป็นเวลากว่า 2-3 เดือนติดต่อกัน ทำให้ประชาชนต้องไปเข้าคิวเพื่อรอถอนเงินสด ทั้งจากตู้ ATM และเคาน์เตอร์ธนาคาร โดยเมื่อได้เงินสดก็จะเก็บไว้ที่บ้านเพื่อใช้จ่ายในแต่ละวัน ส่วนหนึ่งก็จะแลกเก็บเป็นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐหรือทองคำ ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐเริ่มหาแลกได้ยากในเมียนมา เนื่องจากมีการแลกเปลี่ยนค่อนข้างมาก รวมทั้งในช่วงของการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองใน
เมียนมา ทำให้การส่งออกของเมียนมาหดตัวลง การลงทุนจากต่างประเทศก็ชะลอลง ทำให้ไม่มีเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐเข้ามาหมุนเวียนในเมียนมาอย่างที่เคยเป็น นอกจากนั้นธุรกิจต่างชาติหลายแห่งเริ่มมีแนวโน้มในการถอนตัวออกจากเมียนมา เช่น Telenor ที่ประกาศขายกิจการในเมียนมา หรือการปิดตัวของ Auntie Anne’s, KOI Thé เป็นต้น นอกจากนี้ เมียนมาได้ประกาศการห้ามนำเข้าสินค้าบางชนิดผ่านชายแดนทางบก ซึ่งทำให้ต้นทุนของค่าขนส่งสินค้าเหล่านั้นมีต้นทุนที่สูงมากขึ้น จึงทำให้ปัจจุบัน ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในเมียนมามีราคาสูงขึ้นกว่าเดิม
ผลกระทบทางเศรษฐกิจนี้เอง ทำให้เกิดการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ในขณะที่ World Bank ได้ออกตัวเลขประมาณการ GDP ของเมียนมาในปี 2564 นี้ที่จะติดลบถึงร้อยละ 18
ด้านสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 เมียนมายังคงได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวในรอบล่าสุด ตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายน 2564 โดยการระบาดรอบนี้มีความรุนแรงกว่ารอบที่ผ่าน ๆ มา ทำให้มีจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อใหม่และผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก รวมทั้งทำให้เกิดการขาดแคลนยาและเวชภัณฑ์ โดยเฉพาะออกซิเจนและถังออกซิเจน จนทำให้รัฐบาลเมียนมามีการผ่อนคลายกฎการนำเข้ายาและเวชภัณฑ์ที่จำเป็น เพื่อบรรเทาภาวะการขาดแคลนและเพื่อเป็นการรักษาผู้ป่วย COVID-19
จากเหตุการณ์ทั้งหมด เราลองมาจับประเด็นสถานการณ์การค้าการลงทุนระหว่างไทย-เมียนมาจะเป็นอย่างไรต่อไปในอนาคต
ด้านการค้า หากพิจารณาด้านตัวเลขการส่งออกจากไทยผ่านทางด่านแม่สอดพบว่า หลังการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 มูลค่าการส่งออกชะงักลงเพียง 2 เดือน โดยตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 เป็นต้นมา มูลค่าการส่งออกจากไทยผ่านทางด่านแม่สอดกลับมาเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า ซึ่งแสดงให้เห็นว่าความต้องการสินค้าจากไทยโดยรวมยังเป็นที่ต้องการและเป็นที่นิยมในเมียนมา จึงถือเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการขยายตลาดไปยังเมียนมา ในขณะที่ผู้ประกอบการชาติอื่น ๆ อาจจะยังมีความลังเลหรือล่าถอยกลับประเทศ อีกทั้ง จากการที่ประเทศไทยและเมียนมามีพรมแดนติดต่อกัน ทำให้สามารถเลือกใช้การขนส่งทางบกที่มีความสะดวก และสามารถค้าขายด้วยสกุลเงินบาท ที่จะช่วยลดปัญหาการขาดแคลนเงินดอลลาร์สหรัฐในเมียนมาด้วย
ในส่วนของการลงทุนจากต่างชาติ ถึงแม้ว่าเมียนมายังไม่ได้ถูกเพิกถอนสิทธิประโยชน์ทางภาษี (GSP/EBA) จากสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น แต่การประกาศมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจแบบเจาะจง (Targeted Sanction) ที่มีมาตราการชะลอหรือระงับคำสั่งซื้อสินค้าจากเมียนมา ส่งผลให้นักลงทุนส่วนใหญ่อยู่ระหว่างชะลอการลงทุน เพื่อรอดูท่าทีของสถานการณ์ทางการเมืองให้มีความแน่นอนกว่านี้
ประเด็นที่ต้องให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่งต่อจากนี้ คือ เรื่องค่าเงินสกุลจ๊าตว่าจะมีเสถียรภาพอย่างไร การขาดแคลนเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐในเมียนมาจะมีความรุนแรงกว่าเดิมหรือไม่ ซึ่งประเด็นทั้ง 2 นี้ จะมีผลต่อการชำระเงินค่าสินค้า รวมทั้งการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยของโครงการลงทุนในเมียนมา
นอกจากนี้ ยังต้องจับตามองงการแต่งตั้งดาโตะเอรีวัน เปฮิน ยูซอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศคนที่สองของบรูไน ให้เป็นผู้แทนพิเศษของประธานอาเซียนเรื่องสถานการณ์ในเมียนมา (Special Envoy of the ASEAN Chair on Myanmar) ที่จะเข้ามาเพื่อคลี่คลายแก้ไขวิกฤติการณ์ทางการเมืองในเมียนมา ต่อไป
ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเทศเมียนมา หรือต้องการขยายตลาดไปยังประเทศเมียนมา สำนักงานผู้แทน EXIM BANK ในย่างกุ้งพร้อมให้คำปรึกษาเพื่อสนับสนุนส่งเสริมผู้ประกอบการไทยในการขยายตลาดสู่ CLMV อย่างยั่งยืน สามารถติดต่อสำนักงานผู้แทน EXIM BANK ในย่างกุ้ง เมียนมา ได้ที่ [email protected] |
|
|
|
|
|
เขียนและเรียบเรียงข้อมูลโดย
นายวรมินทร์ ถาวราภา
หัวหน้าสำนักงานผู้แทน EXIM BANK ในย่างกุ้ง เมียนมา |
|
|
|
|
|
|