จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นอกจากจะมีแหล่งท่องเที่ยวอันขึ้นชื่อและสวยงามมากมายแล้ว ยังเป็นพื้นที่เพาะปลูกสับปะรดแหล่งใหญ่ของไทยจำนวนกว่า 6 แสนไร่ ผลผลิตรวมกว่า 1.3 ล้านตันต่อปี เป็นวัตถุดิบคุณภาพดีป้อนสู่อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป คุณพิพัฒน์ สุกิจปาณีนิจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สามร้อยยอด จํากัด จึงเล็งเห็นว่าการตั้งโรงงานผลิตผลไม้แปรรูปในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์จะช่วยให้ประชาชน เกษตรกร และชุมชนมีรายได้ ต่อยอดการพัฒนาอุตสาหกรรม สร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจและทำให้ประชาชนได้บริโภคอาหารที่มีประโยชน์และมีคุณภาพ
จากคนตัวเล็กกลายร่างเป็นคนตัวใหญ่
คุณพิพัฒน์เล่าถึงที่มาที่ไปของธุรกิจว่า ญาติที่เป็นคนในพื้นที่และมีไร่สับปะรดได้ตั้งโรงงานผลิตสับปะรดแปรรูปขึ้นเมื่อปี 2521 เพื่อผลิตเอนไซม์สกัดจากเหง้าสับปะรด ต่อมาเปลี่ยนเป็นโรงงานผลิตสับปะรดอบแห้ง ต่อยอดเป็นสับปะรดแช่แข็งและสับปะรดกระป๋องเพื่อส่งออก โดยบริษัทเป็นผู้ส่งออกสับปะรดกระป๋องรายแรก ๆ ของประเทศไทย สินค้าของบริษัทได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะมีรสชาติดี จึงได้ขยายโรงงาน ซึ่งครอบครัวได้เข้ามาร่วมเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และบริหารงานเป็นเวลาประมาณ 30 ปีมาแล้ว
เดิมเราเริ่มต้นธุรกิจโดยไม่รู้เรื่องการส่งออกเลย เพราะการส่งออกในสมัยนั้นเป็นเรื่องยากมาก ความรู้เรื่องนี้ก็หายาก ต้องเข้าไปขอความรู้จากหน่วยงานภาครัฐอย่างกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ หาช่องทางไปออกบูทเพื่อหาลูกค้าในต่างประเทศ แนะนำตัวให้ผู้นำเข้ารู้จักเรา เมื่อเปิดตลาดได้เราจึงมีโอกาสส่งออก และโชคดีที่ลูกค้าชื่นชอบคุณภาพสินค้าของเรา จึงมีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง
“จุดเด่นที่ต่างประเทศยอมรับเราคือ คุณภาพสินค้าได้มาตรฐานตามที่ประเทศผู้นำเข้าต้องการ ได้รับใบรับรองมากมาย เช่น FAIRTRADE, IFS, UKAS, HACCP, GMP, BRC Food, ISO 22000 และ มอก.”
คุณพิพัฒน์กล่าวว่า ในช่วงแรก ๆ เราส่งออกได้เพียงปีละ 30-40 ล้านบาท แต่ปัจจุบันยอดขายเพิ่มเป็นพันล้านบาท จากผู้ประกอบการรายย่อยก็เติบโตเป็นผู้ประกอบการรายกลาง ตลาดส่งออกสำคัญได้แก่ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลี และตะวันออกกลาง
ใช้นวัตกรรมพัฒนาสินค้า
“เชื่อหรือไม่ว่า สับปะรดไทยราคาแพงที่สุดในโลก หากเทียบกับประเทศคู่แข่งอย่างฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย คอสตาริกา และเวียดนาม แต่ลูกค้าเลือกซื้อสับปะรดไทยเพราะเชื่อถือในคุณภาพ นอกจากนี้ประเทศไทยมีชื่อเสียงด้านอุตสาหกรรมอาหาร ทำให้ได้รับความน่าเชื่อถือในตลาดโลก อย่างไรก็ตาม ผู้ส่งออกก็ยังต้องพยายามพัฒนาสินค้าให้ได้มาตรฐานสากล”
คุณพิพัฒน์ย้ำว่า การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเป็นสิ่งจำเป็นในการผลิตสินค้า บริษัทต้องปรับตัวให้ทันและนำเทคโนโลยีมาใช้ยกระดับคุณภาพสินค้า รวมทั้งพัฒนาสินค้าให้มีความหลากหลาย เพื่อทำให้ธุรกิจแข่งขันได้เพิ่มมากขึ้น บริษัทของเราจึงทำ R&D (Research and Development) ร่วมกับลูกค้า เพื่อพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพสินค้าอย่างต่อเนื่อง ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่
ปัจจุบันบริษัทสามร้อยยอดผลิตผลไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์หลากหลายชนิด อาทิ สับปะรด มะละกอ มะม่วง แก้วมังกร ฝรั่ง ว่านหางจระเข้ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงด้านการตลาด หากสินค้าไหนขายไม่ดี ก็จะมีสินค้าอื่นช่วยกระตุ้นยอดขายหรือทำตลาดแทน
อุปสรรคของการส่งออก
ปัญหาหลักในขณะนี้คือวัตถุดิบภายในประเทศมีไม่เพียงพอ ตัวอย่างเช่น ผลผลิตมะละกอ และมะม่วง ในบางเดือนมีไม่เพียงพอ จำเป็นต้องนำเข้ามาจากกัมพูชา สปป.ลาว ส่วนสับปะรดไม่มีปัญหาเพราะเรามีทั้งที่ซื้อแบบเป็น Contract Farming และการซื้อขายแบบสัญญาใจกับชาวไร่ โดยรับซื้อในราคาสูงกว่าตลาด
“แน่นอนว่าอุปสรรคในการทำธุรกิจมีมาตลอด เราก็เรียนรู้และปรับปรุงแก้ไข โดยคาดหวังให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเพิ่มการเจรจาการค้าระหว่างประเทศให้มากขึ้นทั้งแบบทวิภาคีและพหุภาคี เพราะปัจจุบันประเทศไทยเสียภาษีทางการค้าสูง ทำให้เสียเปรียบในการแข่งขัน” คุณพิพัฒน์กล่าว
ทำธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
คุณพิพัฒน์กล่าวว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องช่วยกันแก้ไขไม่ให้เกิดมลภาวะในพื้นที่ที่เราอาศัยอยู่ บริษัทเราได้เข้าร่วมโครงการ Green Factory กับกระทรวงอุตสาหกรรม ใช้หลัก 3Rs คือ Reduce, Reuse, Recycle คือหมุนเวียน ใช้ซ้ำ และนำกลับมาใช้ใหม่
นอกจากนี้ บริษัทยังใช้วิธีสร้างแรงจูงใจให้กับเกษตรกร มี Incentive ให้ชาวไร่ช่วยกันคิดว่าจะทำอย่างไรให้กระบวนการผลิต การเพาะปลูก และการแปรรูปไม่สร้างมลภาวะแก่สิ่งแวดล้อม โครงการที่เราทำร่วมกับชาวไร่เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม คือการรับซื้อสินค้าในราคาสูงกว่าตลาด แต่มีเงื่อนไขจะต้องนำเงินไปช่วยพัฒนาชุมชนด้วย โครงการนี้ทำให้เราสามารถแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน ดีต่อทั้งบริษัท เกษตรกร และผู้บริโภค เป็นไปตามนโยบายของบริษัทกล่าวคือ “คุณภาพได้มาตรฐาน เน้นด้านสุขอนามัย ใส่ใจเรื่องกฎหมาย ไม่เสื่อมคลายจริยธรรม เลิศล้ำความปลอดภัย ห่วงใยสิ่งแวดล้อม ลดการใช้พลังงาน สร้างสรรค์พัฒนายั่งยืน”
ความช่วยเหลือจาก EXIM BANK
คุณพิพัฒน์เริ่มต้นทำธุรกิจส่งออกด้วยตัวเอง โดยรู้สึกว่าการทำธุรกิจส่งออกเป็นเรื่องยากมากเมื่อต้องเริ่มต้นจากศูนย์ แต่โชคดีที่ได้เข้าไปเรียนรู้และร่วมโครงการกับหน่วยงานภาครัฐ ทำให้ได้รับความรู้ซึ่งเป็นสิ่งที่ช่วยผลักดันให้ธุรกิจเติบโตมาได้อย่างต่อเนื่องและได้ EXIM BANK เข้ามาช่วยสนับสนุนด้านเงินทุนมานาน 7-8 ปีแล้ว เจ้าหน้าที่ EXIM BANK ให้การดูแลอย่างดี และยังเป็นแหล่งข้อมูลความรู้ที่เป็นประโยชน์ อาทิ บทความ และคลิปวิดีโอต่าง ๆ ที่มีข้อมูลเป็นประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการ” คุณพิพัฒน์กล่าว
ฝากถึงผู้ที่สนใจจะเริ่มต้นธุรกิจส่งออก
คุณพิพัฒน์กล่าวว่า ทุกคนต้องเริ่มต้นจากการเป็นคนตัวเล็กก่อนจึงจะเติบโตขึ้น สามร้อยยอดก็เป็นเช่นนั้น เราผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก กว่าจะถึงวันนี้ เราถึงได้รู้ว่าคนตัวเล็กจะขาดพื้นฐานความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการส่งออก ขอให้เริ่มจากการสำรวจตัวเองก่อนว่าอยากทำอะไร มีความเข้มแข็งอะไรบ้าง ต้องการการเติมเต็มในด้านใด แล้วจึงเข้าไปหาความรู้จากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เช่น การผลิต การทำตลาด แหล่งเงินทุน และการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านการส่งออก ซึ่งสามารถปรึกษา EXIM BANK ได้ การส่งออกไม่ใช่แค่การปิดการขาย แต่ต้องบริหารจัดการเรื่องการเรียกเก็บเงินจากลูกค้าในต่างประเทศด้วย ซึ่งการกำหนดเทอมและวิธีการชำระเงินเป็นเรื่องสำคัญ
“ขอให้กำลังใจผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะอยู่ในอุตสาหกรรมหรือเป็นวิสาหกิจชุมชน ค่อย ๆ ศึกษาหาความรู้เพื่อพัฒนาตัวเองไปทีละขั้น ไม่มีใครที่ทำธุรกิจแล้วโตพรวดพราด ทุกอย่างต้องใช้เวลา หาจุดแข็งและพัฒนาธุรกิจให้ได้มาตรฐานเพื่อการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน”