สินค้ารักษ์โลก (Green Products) ได้รับความนิยมสูงขึ้นเรื่อย ๆ และพัฒนาเป็นสินค้านวัตกรรมที่ตอบโจทย์ทางธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศของโลกที่ยังทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้เกิดเมกะเทรนด์ที่ผู้บริโภคทั่วโลกหันมาให้ความสนใจสินค้ารักษ์โลกมากขึ้น โดยเชื่อมั่นว่า หากเปลี่ยนการบริโภคของมนุษย์ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จะนำไปสู่การฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
คุณฐานันต์ แก้วดิษฐ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไวท์ ไทเกอร์ คิง จำกัด ผู้ผลิตและแปรรูปสินค้าจากถั่วลายเสือ มุ่งมั่นบริหารจัดการธุรกิจโดยใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด ผลิตสินค้าแบบ Zero Waste ไม่มีขยะหรือของเสียออกจากกระบวนการผลิตสู่ชุมชนเลย
จากถั่วลายเสือสู่นม Plant-based
คุณฐานันต์เปิดเผยว่า จุดเริ่มต้นของการทำธุรกิจคือ การอิ่มตัวในงานประจำที่ทำกราฟิกดีไซน์และกำกับหนังสั้นที่ทำมานานตั้งแต่เรียนจบ ภรรยาซึ่งเป็นคนแม่ฮ่องสอนได้ขอให้ย้ายกลับบ้าน จึงได้เริ่มต้นชีวิตอาชีพอิสระที่ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน ช่วงนั้นได้ลองทำงานหลายอาชีพ จนวันหนึ่งได้เปิดโรงแรมขึ้นและมีร้านอาหารในโรงแรม จึงทดลองปลูกผักสวนครัวไว้เป็นวัตถุดิบใช้เอง จากนั้นพัฒนาขึ้นเป็นแปลงผักไฮโดรโปนิกส์ เริ่มสนุกกับการทำเกษตรและเข้าร่วมเครือข่าย Young Smart Farmers ใน จ.แม่ฮ่องสอน ได้พัฒนาความรู้จนกลายเป็นโค้ชชุมชน
ช่วงที่ไปร่วมกับ Young Smart Farmers ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับเกษตรกรผู้ปลูกถั่วลายเสือทุกวันจนได้ข้อมูลการที่ถั่วลิสงขึ้นลายที่เยื่อหุ้มเมล็ดเป็นถั่วลายเสือ เกิดจากการนำถั่วลิสงมาปลูกเหนือระดับน้ำทะเลถึง 800 เมตร ในพื้นที่ที่เคยเป็นภูเขาไฟมาก่อน แร่ธาตุในดินภูเขาไฟทำให้ถั่วลิสงกลายพันธุ์เป็นถั่วลายเสือ มีรสชาติหวานมันอร่อย ซึ่งถั่วลายเสือนี้เป็นสินค้า GI (สิ่งบ่งบอกทางภูมิศาสตร์) ที่กระทรวงพาณิชย์ให้การรับรอง แต่คนที่นี่ขายถั่วลายเสือแบบธรรมดา เช่น คั่ว ต้ม ทอดเป็นถั่วกรอบแก้ว จึงรู้สึกเสียดายผลิตผลการเกษตรที่ได้จากเกษตรกรที่มีฝีมือและต้องการยกระดับถั่วลายเสือให้มีคุณค่ามากกว่านี้” คุณฐานันต์กล่าว
หลังจากคิดว่าจะพัฒนาและยกระดับถั่วลายเสือให้เป็นมากกว่าถั่วที่ขายริมถนน คุณฐานันต์จึงลองนำถั่วลายเสือมาแปรรูปเป็นเนยถั่ว โดยคิดว่านักท่องเที่ยวอาจจะชื่นชอบ แต่ก็ยังไม่ตอบโจทย์เพราะนักท่องเที่ยวซื้อไปแล้วไม่ซื้อซ้ำ จนวันหนึ่งลูกสาวของเขาป่วย มีอาการแพ้แลคโตสในน้ำนม เนย ไข่ขาว จึงทดลองทำนมจากถั่วลายเสือ เป็นการต่อยอดจากการผลิตเนยถั่วนำมาให้ลูกสาวทดลองรับประทาน ซึ่งได้ผลตอบรับที่ดี
คุณฐานันต์กล่าวว่า ในช่วงแรกนมถั่วลายเสือที่ผลิตได้มีอายุการเก็บได้เพียง 1 วันในตู้เย็นเท่านั้น ทำให้ไม่สามารถผลิตออกจำหน่ายได้ อีกทั้งตลาดยังแคบเพราะคนไม่รู้จักนม Plant-based ทำให้ตนเองเกิดความมุ่งมั่นที่จะทำให้คนรู้จักนมจากถั่วมากขึ้น จึงคิดสร้างแบรนด์ของตัวเอง โดยจัดตั้งบริษัท ไวท์ ไทเกอร์ คิง จำกัด ขึ้นเมื่อปี 2563 ด้วยการนำเทคโนโลยี Spray Dry มาใช้ผลิตนมถั่วและพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์เป็นนมพาสเจอร์ไรส์แบบขวด เก็บได้นาน 3 สัปดาห์ และต่อมาผลิตเป็นนมพร้อมดื่มยูเอสทีบรรจุกล่อง เก็บได้นาน 1 ปี ทำให้สามารถขยายตลาดได้กว้างขวางขึ้น
ใช้นวัตกรรมยกระดับการผลิตแบบ Zero Waste
คุณฐานันต์กล่าวว่า จากการทำวิจัยพบว่า เมล็ดถั่วลายเสือมีไขมันสูง ซึ่งเป็นไขมันดี จึงได้เพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่เป็นน้ำมันถั่วลายเสือสกัดเย็น ซึ่งนำไปบริโภคได้เหมือนน้ำมันมะกอกที่นำเข้าจากต่างประเทศ การผลิตนมถั่วของไวท์ ไทเกอร์แต่ละครั้ง จะมีกากถั่วเป็น By-Product เหลือทิ้งจำนวนมาก จึงคิดต่อยอดนำ By-Product เหล่านี้มาทำให้เกิดประโยชน์ โดยร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ทำวิจัยกากถั่วออกมาเป็นพรีไบโอติกส์ (Prebiotics) นำไปผสมกับโยเกิร์ตแล้วรับประทาน ช่วยเพิ่มปริมาณโปรตีนได้จำนวน 20 กรัม และนำเอากากถั่วลายเสือไปผสมร่วมกับธัญพืชอื่น เป็นสแน็กบาร์โปรตีนสูง จำหน่ายให้กับผู้ที่ชื่นชอบการออกกำลังกาย
นอกจากนั้น ยังนำเอาเปลือกถั่วที่เหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตมาพัฒนาต่อเป็นภาชนะรองอาหารที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งแทนโฟม เมื่อใช้เสร็จแล้วสามารถขยำหรือฉีกเป็นชิ้นใส่ในดินเป็นปุ๋ยต้นไม้ได้ จึงไม่มีของเสียเหลือทิ้งออกจากกระบวนการผลิตของไวท์ ไทเกอร์เลย ตัวภาชนะแทนโฟมนี้ได้รับรางวัลอุตสาหกรรมสีเขียวและผลิตภัณฑ์สิ่งแวดล้อมอีกด้วย
วิสาหกิจชุมชนรักษ์โลก
คุณฐานันต์กล่าวต่อไปว่า เรามุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ที่มีมากทางภาคเหนือจากการเผาวัสดุการเกษตรทิ้ง จึงพยายามหาทางไม่ให้เกิดของเสียจากการผลิต ถ้าไม่เผา ฝุ่นพิษก็จะลดลง จึงได้เชิญชวนเกษตรกรให้หันมาปลูกถั่วลายเสือและนำมาขายให้กับบริษัทที่รับซื้อทั้งหมดในราคาตลาด อยากให้คนที่มีแนวคิดเหมือนกันช่วยโลก ช่วยสิ่งแวดล้อมเหมือนเรา ช่วยกันต่อยอดและพัฒนาไปด้วยกัน
“หลังจากชักชวนเกษตรกรให้มาปลูกถั่วลายเสือ พื้นที่การปลูกข้าวโพดบนดอยก็ลดลง เพราะขายได้ราคาดีกว่า การเผาตอซังข้าวโพดก็ลดลงตามไปด้วย ขณะนี้มีเกษตรกรที่อยู่ใน Supply Chain ของเราประมาณ 200 คน หรือ 43 ครัวเรือน และจะขยายมากขึ้นอีกในอนาคต ทำให้เราเป็นวิสาหกิจชุมชนที่ร่วมแรงร่วมใจรักษาสิ่งแวดล้อมและมองในเรื่องของความยั่งยืนเป็นหลัก” คุณฐานันต์กล่าว
การสนับสนุนของ EXIM BANK
คุณฐานันต์กล่าวว่า จุดเริ่มต้นที่รู้จักกับ EXIM BANK เริ่มมาจากการเข้าร่วมอบรมความรู้เรื่องการสร้างแบรนด์กับศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้า ทำให้เรามีความเข้าใจในการสร้างอัตลักษณ์ เมื่อเลือกจะเป็นเสือที่ไม่เหมือนใครจึงสร้างแบรนด์ขึ้นมาเป็น “ไวท์ ไทเกอร์” เมื่อเราไปออกงานแสดงสินค้าหรือออกบูทที่ไหนก็เริ่มมีคนจำได้และเรียกแบรนด์ของเราว่าไทเกอร์แล้ว
“สิ่งที่ผมอยากเรียนรู้จาก EXIM BANK เพิ่มขึ้นคือ ความรู้เรื่องการส่งออกและนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ขณะนี้มีโอกาสเจอกับต่างประเทศที่สนใจสินค้าของเรามากขึ้น และกำลังเจรจาส่งออกนมถั่วลายเสือกับผู้นำเข้าในประเทศเคนยา และทางญี่ปุ่นมีความสนใจที่จะนำเข้าภาชนะรองอาหารแทนโฟม จึงขอคำแนะนำกับ EXIM BANK นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนวงเงินสินเชื่อเพื่อเริ่มต้นส่งออกจากธนาคารมาช่วยต่อยอดการส่งออกด้วย” คุณฐานันต์กล่าว
สิ่งที่อยากฝากถึงคนตัวเล็ก
คุณฐานันต์กล่าวว่า ฝากถึงผู้ประกอบการทั่วไปที่สนใจเริ่มต้นส่งออกแล้วเกิดความกังวลหรือท้อใจ อยากบอกว่าให้ลองสู้กับตัวของเราเองให้เต็มที่ อย่าท้อถอย ขอให้ตั้งใจพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตัวเองให้ดีที่สุดและหาช่องทางการตลาดหลาย ๆ ทาง อดทนสู้ นับหนึ่งให้ถึงร้อย เราอาจมีโอกาสไปต่อได้