ธสน. กำหนดหลักปฏิบัติในการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยประยุกต์ใช้ ESG Framework และ Sustainable Banking Framework เป็นกรอบการดำเนินงานพื้นฐาน ควบคู่กับการเพิ่มเติมแนวปฏิบัติที่ดีตามหลักการและมาตรฐานสากล เช่น Responsible Banking เป็นต้น เพื่อให้องค์กรมีแนวทางการดำเนินงานที่ครบถ้วนสมบูรณ์และเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป โดยสามารถแสดงสาระสำคัญของหลักปฏิบัติที่สำคัญ ได้ดังนี้
กรอบการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ 1 : การบริหารจัดการการเงินและธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ
หลักการ
การบริหารจัดการการเงินและธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ เป็นกรอบการดำเนินงานเพื่อสะท้อนการประกอบธุรกรรมทางการเงินที่มุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ใช้บริการและสังคมอย่างยั่งยืน ซึ่งจากการที่ ธสน. มีภารกิจในการให้สินเชื่อ การค้ำประกันสินเชื่อ และการประกันการส่งออก รวมถึงการระดมทุนจากตลาดเงินและตลาดทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อใช้ในการสนับสนุนด้านสินเชื่อแก่ผู้ส่งออกและนักลงทุนไทย ในที่นี้ ธสน. จึงได้นำหลักการบริหารจัดการการเงินอย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible Finance) ซึ่งครอบคลุมทั้งการบริหารจัดการการเงินสีเขียว (Green Finance) และการบริหารจัดการการเงินอย่างยั่งยืนด้วยกรอบ ESG Framework มาประยุกต์ใช้ตั้งแต่การกำหนดนิยามความหมาย การเสริมสร้างแนวปฏิบัติในการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงิน รวมถึงบริหารจัดการการเงินการลงทุนของธนาคารให้รับผิดชอบและสร้างประโยชน์สูงสุดอย่างสมดุลแก่ผู้ใช้บริการและสิ่งแวดล้อมได้อย่างแท้จริงต่อไป
แนวปฏิบัติ
1. การมุ่งมั่นผนวกรวมหลักการการเงินที่คำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นส่วนหนึ่งของการประกอบธุรกรรมต่าง ๆ ของ ธสน. เพื่อสร้างประโยชน์และตอบสนองความต้องการ รวมถึงความท้าทายด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมได้อย่างครอบคลุม
2. การสนับสนุนให้ผู้ประกอบการทุกกลุ่มทุกขนาดเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ ธสน. ได้อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม
3. การพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริการ การกำหนดดอกเบี้ยผ่อนปรน การออกแบบกลไกและมาตรการเพื่อส่งเสริมและจูงใจการให้สินเชื่อแก่โครงการที่มุ่งเน้นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศ
4. การบริหารจัดการสินทรัพย์ (Portfolio Management) เพื่อลงทุนในกิจการที่คำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อม
5. การกำหนดนำแนวคิดการบริหารจัดการนวัตกรรม (Innovation Management) มาเป็นกรอบพื้นฐานในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และบริการทางการเงินอย่างมีความรับผิดชอบให้มีความหลากหลาย และตอบสนองต่อผู้ใช้บริการทุกกลุ่มได้อย่างครบถ้วนและมีประสิทธิผล
6. การบริหารจัดการเทคโนโลยีดิจิทัลและข้อมูลขนาดใหญ่ (Digital Technology and Big Data Management) เพื่อเสริมสร้างการบริหารการเงินการธนาคารที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
7. การจัดกิจกรรมสร้างบรรยากาศและกระตุ้นจิตสำนึก เพื่อให้พนักงานและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งผู้ใช้บริการ/ผู้ประกอบการ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในห่วงโซ่คุณค่าของ ธสน. เกิดการรับรู้และยินยอมเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารจัดการการเงินอย่างมีความรับผิดชอบ
8. การบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อพัฒนาธนาคารอย่างยั่งยืน ครอบคลุมประเด็นสำคัญ ได้แก่
- การใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน
- การป้องกันการปล่อยมลพิษ โดยเฉพาะที่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ
- การนำมาตรฐานการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม (Eco Management) เช่น Circular Economy และ Eco Symbiosis มาเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริการและการปฏิบัติงานของ ธสน. ผู้ใช้บริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่คุณค่าขององค์กร
9.การบริหารประเด็นผู้ใช้บริการ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาธนาคารและระบบเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ครอบคลุมประเด็นสำคัญ ได้แก่
- การให้บริการที่เป็นธรรม สารสนเทศที่เป็นจริงและไม่เบี่ยงเบนและการปฏิบัติตามข้อตกลงที่เป็นธรรม
- การคุ้มครองสุขภาพและความเป็นอยู่ของผู้ใช้บริการ
- การบริโภคและการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
- การบริการ การสนับสนุน และการยุติข้อร้องเรียนและข้อโต้แย้งแก่ผู้ใช้บริการ
- การปกป้องข้อมูลและความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้บริการ
10. การนำหลักการคำนวณผลตอบแทนเชิงสังคมและสิ่งแวดล้อมตามกรอบแนวคิด Social Return on Investment (SROI) มาประยุกต์ใช้เป็นกรอบในการประเมินผลสำเร็จของการบริหารจัดการการเงินที่คำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อม
11. การทบทวนการบริหารจัดการการเงินอย่างมีความรับผิดชอบ โดยตนเองอย่างสม่ำเสมอทุกปี ก่อนจัดให้มีผู้เชี่ยวชาญภายนอกทำการประเมินอย่างเป็นรูปธรรมอย่างน้อยทุก 3 ปี
12. การรายงานผลสำเร็จด้านการบริหารการเงินการธนาคารที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นส่วนหนึ่งของการรายงานความยั่งยืนของ ธสน.
กรอบการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ 2 : การสร้างคุณค่าด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล
หลักการ
การสร้างคุณค่าด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล เป็นกรอบการพัฒนาที่สอดคล้องกับหลักการด้าน Environment, Social and Governance Framework (ESG Framework), Sustainable Banking Framework และ Principles for Responsible Banking Guidance ซึ่งทุกกรอบหลักการต่างเห็นว่า ธสน. จะเกิดความยั่งยืนได้นั้นต้องมีการบริหารจัดการด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมในเชิงยุทธศาสตร์อย่างเป็นระบบ ควบคู่กับการบริหารความเสี่ยงอย่างทั่วถึงทั้งองค์กร (Enterprise-wide Risk Management) จากกรณีดังกล่าวนี้ จึงมีความจำเป็นที่ ธสน. จะต้องกำหนดโครงสร้างผู้รับผิดชอบ พัฒนากระบวนการปฏิบัติงานและการให้บริการที่คำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงเสริมสร้างระบบการส่งเสริม ตรวจติดตามและรายงานผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งโครงสร้างและระบบงานต่าง ๆ ที่กล่าวถึงนี้ต้องมีความสอดคล้องและเป็นไปตามมาตรฐานสากลที่กำหนดอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ประกอบด้วย การปฏิบัติด้านแรงงาน การบริหารจัดการด้านสิทธิมนุษยชน การเสริมสร้างการมีส่วนร่วมและการพัฒนาชุมชน และการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่จะส่งผลกระทบต่อความยั่งยืนของ ธสน. ทั้งในปัจจุบันและอนาคต
แนวปฏิบัติ
1. การเสริมสร้างการประกอบธุรกิจธนาคารอย่างมีความรับผิดชอบ โดยผนวกประเด็นด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติงานประจำวัน ผ่านการนำกรอบแนวคิด ESG Framework, Principles for Responsible Banking Guidance และมาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคม ISO 26000 มาประยุกต์ให้เกิดแนวปฏิบัติที่สำคัญ ดังนี้
1.1 การปฏิบัติด้านแรงงาน เพื่อพัฒนาธนาคารอย่างยั่งยืน ครอบคลุมประเด็นสำคัญ ได้แก่
- การจ้างงานและการบริหารความสัมพันธ์กับแรงงาน
- การจัดให้แรงงานได้รับความคุ้มครองทางสังคมที่เหมาะสมและเพียงพอต่อความเป็นอยู่ อย่างเป็นธรรมและไม่เลือกปฏิบัติ
- การจัดให้มีการเจรจาและแสดงความคิดเห็นที่เป็นอิสระ โดยคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม
- การเสริมสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่คำนึงถึงสุขภาพ ความปลอดภัย และอาชีวอนามัยภายในสถานที่ทำงาน
- การพัฒนาพนักงานและแรงงานให้มีทักษะ และเกิดการเติบโตในสายอาชีพอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม
1.2 การบริหารจัดการด้านสิทธิมนุษยชน เพื่อพัฒนาธนาคารอย่างยั่งยืน ครอบคลุมประเด็นสำคัญ ได้แก่
- การกำหนดกลไกป้องกัน และชดเชยกรณีเกิดเหตุการณ์การละเมิดสิทธิของพนักงาน ลูกค้า และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของ ธสน.
- การป้องกันและบริหารจัดการข้อร้องเรียนและความขัดแย้งด้านสิทธิมนุษยชน
- การบริหารความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชน
- การไม่เลือกปฏิบัติในการให้บริการและการปฏิบัติงาน
- การกำหนดให้สิทธิการเป็นพลเมืองและสิทธิทางการเมือง
- การคำนึงถึงสิทธิทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม
1.3 การเสริมสร้างการมีส่วนร่วมและการพัฒนาชุมชน เพื่อพัฒนาธนาคารอย่างยั่งยืน ครอบคลุมประเด็นสำคัญ ได้แก่
- การเสริมสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อการพัฒนาชุมชนได้อย่างสอดคล้องกับบริบทชุมชนด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม รวมถึงความสามารถพิเศษของ ธสน.
- การมุ่งมั่นพัฒนาให้ชุมชนเกิดความยั่งยืน โดยแบ่งเป็น
- การเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ การพัฒนาทักษะและการจ้างงาน การส่งเสริมการเข้าถึงเทคโนโลยี การเสริมสร้างรายได้ชุมชน และการลงทุนทางสังคม
- การเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนด้านสังคม ได้แก่ การส่งเสริมการศึกษาและวัฒนธรรมชุมชน การเสริมสร้างสุขภาพที่ดีภายในชุมชน
- การเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนด้านสิ่งแวดล้อม
2. การบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ ตามแนวคิดด้านการพัฒนาธนาคารสู่ความยั่งยืน
2.1 การเสริมสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่สนับสนุนการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม
2.2 การกำหนดนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี การบริหารความเสี่ยง และการปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ที่มีสาระสำคัญครอบคลุมถึงการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม
2.3 การพัฒนาระบบการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ที่มีองค์ประกอบครบถ้วนและเป็นมาตรฐาน เพียงพอต่อการพัฒนาธนาคารสู่ความยั่งยืน
2.4 การบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมในการประกอบธุรกรรมทางการเงินทุกประเภทของธนาคาร ที่ครอบคลุมอย่างน้อย ได้แก่ การกำหนดปัจจัยเสี่ยง การกำหนดกิจกรรมการควบคุม การประเมินระดับความรุนแรงและผลกระทบ การจัดลำดับความสำคัญของปัจจัยเสี่ยง การกำหนดแนวทางการบริหารความเสี่ยง และการจัดการความเสี่ยงในเชิงบูรณาการ
2.5 การจัดทำข้อตกลงและ/หรือสัญญาที่คำนึงถึงความเสี่ยงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดจากผลิตภัณฑ์ บริการ และการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่าง ธสน. กับผู้ใช้บริการ คู่ค้า ผู้ส่งมอบ คู่ความร่วมมือ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มต่าง ๆ
2.6 การประเมินผลการปฏิบัติงานบุคลากร เพื่อขับเคลื่อนองค์กรให้บรรลุผลสำเร็จในการบริหารจัดการด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม
2.7 การจัดให้มีระบบการติดตาม และประเมินความเพียงพอและประสิทธิผลของการบริหารความเสี่ยงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมของ ธสน.
2.8 การบริหารจัดการข้อร้องเรียนจากความเสี่ยงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงิน รวมถึงการปฏิบัติงานของ ธสน.
2.9 การประเมินและทบทวนมาตรฐานและความเพียงพอของระบบการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ของ ธสน.
2.10 การรายงานผลการบริหารความเสี่ยงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นส่วนหนึ่งของการรายงานความยั่งยืนของ ธสน.
กรอบการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ 3 : การกำกับดูแลกิจการที่ดีเพื่อพัฒนาธนาคารอย่างยั่งยืน
หลักการ
การกำกับดูแลกิจการที่ดี เป็นหนึ่งในสามหลักการของ ESG Framework และแนวทางการพัฒนาธนาคารสู่ความยั่งยืนในระดับสากล เนื่องจาก ธสน. จะเติบโตได้อย่างต่อเนื่องในระยะยาวต้องมีพื้นฐานสำคัญจากการขยายตัวอย่างมั่นคงของภาคเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ที่ดีของภาคสังคมและสิ่งแวดล้อมควบคู่กัน โดยการจะทำให้ทุกมิติอยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุลนั้น ธสน. ต้องปฏิบัติงานและมุ่งให้บริการทางการเงินอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยมีจุดเริ่มต้นสำคัญจากการกำกับดูแลกิจการที่ดีของคณะกรรมการ ธสน. และผู้บริหารระดับสูงที่จะต้องยอมรับและนำเป้าหมายการพัฒนาอย่างสมดุลมากำหนดเป็นทิศทางการดำเนินงานระยะยาวขององค์กร การสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อเสริมสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่มุ่งเน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืน การกำหนดผลิตภัณฑ์ บริการ และกระบวนการปฏิบัติงานที่คำนึงถึงประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมถึงการเสริมสร้างการมีส่วนร่วม ระบบการติดตาม ประเมินและรายงานผล เพื่อให้การปฏิบัติงานทั่วทั้ง ธสน. เป็นระบบและมีมาตรฐานครบถ้วนสมบูรณ์ตามกรอบการพัฒนาธนาคารอย่างยั่งยืนทั้งในประเทศและต่างประเทศ
แนวปฏิบัติ
แนวปฏิบัติด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดี เพื่อพัฒนาธนาคารสู่ความยั่งยืน (Enabling Good Corporate Governance Environment) ประกอบด้วย
1. การกำหนดนโยบายการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ตอบสนองต่อหลักการ แนวปฏิบัติที่ดี มาตรการ และนโยบายสนับสนุนการพัฒนาความยั่งยืนของหน่วยงานกำกับดูแลภาครัฐทั้งภายในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย และองค์กรระหว่างประเทศที่เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป
2. การทบทวนปัจจัยความยั่งยืนของ ธสน. ให้สอดคล้องและครอบคลุมตามกรอบหลักการ แนวปฏิบัติที่ดี และกรอบแนวทางการธนาคารเพื่อความยั่งยืน โดยคำนึงถึงวัตถุประสงค์การจัดตั้ง ธสน.
3. การผนวกการพัฒนาความยั่งยืนสู่กระบวนการวางแผนเชิงยุทธศาสตร์ของ ธสน.
4. การเสริมสร้างค่านิยม/วัฒนธรรมที่มุ่งเน้นการเติบโตที่ยั่งยืนจากการให้บริการทางการเงินที่รับผิดชอบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
5. การตอบสนองความต้องการและปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม
6. การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสามารถมีส่วนร่วมในการพัฒนาความยั่งยืนร่วมกับ ธสน. ได้ในเชิงบูรณาการ
7. การประกอบกิจการที่เป็นธรรม โดยครอบคลุมประเด็นสำคัญ ได้แก่
- การต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน
- การมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างรับผิดชอบ
- การเสริมสร้างการแข่งขันที่เป็นธรรม
- การผนวกรวมความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่คุณค่าของ ธสน.
8. การเชื่อมโยงหลักปฏิบัติด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดี เพื่อพัฒนาธนาคารสู่ความยั่งยืน เข้ากับระบบประเมินผลการปฏิบัติงานประจำปีของบุคลากร ธสน.
9. การรายงานผลการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามกรอบมาตรฐานสากล
หลักการและแนวปฏิบัติที่ดีด้านการพัฒนาธนาคารสู่ความยั่งยืนนี้ ธสน. จะมีการทบทวนและนำเสนอคณะกรรมการ ธสน. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบเป็นประจำทุกปี ก่อนเผยแพร่ให้บุคลากรและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องภายนอกถือปฏิบัติจนเกิดผลสำเร็จอย่างเป็นมาตรฐานต่อไป