EXIM BANK ริเริ่มโครงการแลกเปลี่ยนบุคลากรในเอเชียเพื่อสร้างความเชี่ยวชาญเชิงลึกและพัฒนาฐานข้อมูลประเทศ

วันที่ประกาศ 13 สิงหาคม 2551
EXIM BANK ริเริ่มโครงการแลกเปลี่ยนบุคลากรในเอเชียเพื่อสร้างความเชี่ยวชาญเชิงลึกและพัฒนาฐานข้อมูลประเทศ
นายกิตติพร ลิมปิสวัสดิ์ (ที่ 2 จากขวา) รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ให้การต้อนรับนางดวงสะไหม เล่าฝุง (ที่ 2 จากซ้าย) หัวหน้าแผนกเงินโอนต่างประเทศ ธนาคารการค้าต่างประเทศ สปป.ลาว และ Mr. Yudhi Trilaksono (ขวาสุด), Corporate Banking Manager, PT Bank Ekspor Indonesia (Persero) อินโดนีเซีย ซึ่งเดินทางมาศึกษาดูงานและปฏิบัติงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ EXIM BANK เป็นเวลา 2 เดือนภายใต้โครงการแลกเปลี่ยนพนักงานระหว่าง EXIM BANK กับ Asian EXIM Banks ด้วยกัน
รองกรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวว่า EXIM BANK ได้ริเริ่มให้มีโครงการแลกเปลี่ยนบุคลากรดังกล่าวขึ้นเพื่อกระชับความสัมพันธ์และแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกันในด้านข้อมูลประเทศ การวิเคราะห์การให้สินเชื่อ และแนวปฏิบัติทางด้านธุรกิจธนาคารระหว่างประเทศ โดยโครงการนี้จะเป็นฐานรากของการพัฒนาให้เกิดทีมเจ้าหน้าที่ EXIM BANK ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในเชิงลึกเกี่ยวกับประเทศที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจและเป็นเป้าหมายของผู้ประกอบการไทย อันจะเป็นประโยชน์ต่อการให้บริการด้านข้อมูลข่าวสารและคำปรึกษาแนะนำด้านการค้าและการลงทุนแก่ผู้ส่งออกและนักลงทุนไทย ทั้งนี้ ข้อมูลความรู้ที่จะแลกเปลี่ยนกันครอบคลุมถึงภาพรวมเศรษฐกิจ โอกาสทางการค้าและการลงทุน ระบบการเงินธนาคาร และกฎระเบียบในการดำเนินธุรกิจใน สปป.ลาว และอินโดนีเซียในปัจจุบัน เป็นต้น
ทั้ง สปป.ลาวและอินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งน้ำธรรมชาติใน สปป.ลาว ส่งผลให้ สปป.ลาว มีศักยภาพด้านการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำและตั้งเป้าไปสู่การเป็น “แบตเตอรี่แห่งเอเชีย” ภายในปี 2563 นับตั้งแต่ปี 2531 เศรษฐกิจ สปป.ลาว ขยายตัวอย่างแข็งแกร่งสูงกว่า 6% ต่อปีเป็นผลมาจาก สปป.ลาวมีรายได้จากการส่งออกเพิ่มขึ้นและมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องในภาคการลงทุน
ในปี 2550 ไทยเข้าไปลงทุนใน สปป.ลาว เป็นมูลค่า 105.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงสุดเป็นอันดับ 3 รองจากจีนและเวียดนาม โดยนักธุรกิจไทยเข้าไปลงทุนในธุรกิจพลังงานไฟฟ้า การเกษตร โทรคมนาคมขนส่ง โรงแรม การท่องเที่ยว และหัตถกรรม อย่างไรก็ดี ธุรกิจที่มีศักยภาพและมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องใน สปป.ลาว ได้แก่ ธุรกิจท่องเที่ยวและบริการเกี่ยวเนื่อง อุตสาหกรรมเกษตรและเกษตรแปรรูป และธุรกิจพลังงาน
ขณะที่อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในกลุ่มอาเซียน มีประชากรกว่า 230 ล้านคน มากเป็นอันดับ 4 ของโลกและคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งหมดในอาเซียน ในปี 2550 เศรษฐกิจของอินโดนีเซียเติบโตถึง 6.3% สูงสุดในรอบ 11 ปี เป็นผลมาจากนโยบายส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาลอินโดนีเซีย อีกทั้งการเร่งจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) ภายในปี 2558 ทำให้อินโดนีเซีย ไทย และสมาชิกอาเซียนอื่นๆ มีข้อผูกพันต้องทยอยลดภาษีนำเข้าสินค้าและอุปสรรคทางการค้า ตลอดจนเปิดเสรีการค้าบริการและการลงทุนระหว่างกัน
ในช่วงปี 2545-2550 ไทยเข้าไปลงทุนในอินโดนีเซียเป็นมูลค่า 93.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงสุดเป็นอันดับ 3 ของประเทศในอาเซียนทั้งหมดที่เข้าไปลงทุนในอินโดนีเซีย รองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย ในปี 2550 ไทยลงทุนในอินโดนีเซียรวมมูลค่า 63 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการลงทุนในอินโดนีเซีย ได้แก่ อุตสาหกรรมเกษตรและเกษตรแปรรูปโดยเฉพาะยางพารา ประมงและอาหารทะเลแปรรูป และปาล์มน้ำมันเพื่อใช้ผลิตไบโอดีเซล อุตสาหกรรมเหมืองแร่ ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง และโรงแรมและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว
เอกสารที่เกี่ยวข้อง