EXIM BANK และ JBIC ชี้โอกาสลงทุนพร้อมแนวทางสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทย-ญี่ปุ่นที่มีศักยภาพเข้าไปพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปและเชื้อเพลิงชีวภาพในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เพื่อร่วมกันพัฒนาศักยภาพการผลิตภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และพลังงานทดแทนของภูมิภาคเอเชียโดยรวม ดร.อภิชัย บุญธีรวร (ที่ 3 จากขวา) กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยถึงวัตถุประสงค์ของงานสัมมนาเรื่อง “โอกาสในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง : ศักยภาพการลงทุนในอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปและเชื้อเพลิงชีวภาพ” ซึ่งจัดโดย EXIM BANK ร่วมกับ Japan Bank for International Cooperation (JBIC) และได้รับเกียรติจาก ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี (ที่ 4 จากขวา) ประธานกรรมการบริหาร EXIM BANK และ Mr. Wataru Yoshida (ที่ 4 จากซ้าย) Resident Executive Director for Asia and Oceania of JBIC กล่าวเปิดงานสัมมนา ณ โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2549 ว่าความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ ผลผลิตทางการเกษตรซึ่งรวมถึงพืชพลังงาน และแรงงานภาคเกษตรที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงเต็มไปด้วยโอกาสการลงทุนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอุตสาหกรรมเกษตร ด้วยเหตุนี้ EXIM BANK และ JBIC จึงทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมความพร้อมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยและญี่ปุ่นที่มีศักยภาพสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนและข้อมูลที่เพียงพอสำหรับการย้ายฐานการผลิตหรือขยายการลงทุนเข้าไปในดำเนินธุรกิจในประเทศแถบนี้ได้อย่างประสบความสำเร็จในระยะยาวโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป อาทิ อาหารสัตว์อาหารทะเล ผักและผลไม้แปรรูป ผลิตภัณฑ์ยาง และสินค้าเกษตรอินทรีย์ รวมทั้งอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนเพื่อเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบ แรงงาน และสิทธิพิเศษด้านภาษีในการส่งออกไปตลาดการค้าหลัก อาทิ สหรัฐฯและสหภาพยุโรป อันจะช่วยลดต้นทุนการผลิตให้แก่ผู้ประกอบการไทยและญี่ปุ่น ลดต้นทุนการพัฒนาพลังงานทดแทนของไทยและอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงโดยรวม ตลอดจนขยายฐานการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศในเอเชียด้วยกันกรรมการผู้จัดการ EXIM BANK เปิดเผยต่อไปว่า ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนของไทยและญี่ปุ่นในครั้งนี้จะก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และเทคโนโลยีการผลิต รวมทั้งความสามารถในการบริหารจัดการธุรกิจระหว่างประเทศระหว่างผู้ประกอบการไทย ญี่ปุ่น และประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เพื่อพัฒนาศักยภาพการผลิตทางการเกษตรให้ได้ผลผลิตในปริมาณและคุณภาพเพียงพอสำหรับขายในประเทศ ส่งกลับมายังภาคการผลิตของไทยและญี่ปุ่น และส่งออกต่อไปยังประเทศที่สาม ควบคู่ไปกับการปรับปรุงโครงสร้างการผลิตอุตสาหกรรมการเกษตร เกษตรแปรรูป และพลังงานทดแทนของไทยและอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียโดยรวมในระยะยาว