EXIM BANK จับมือ SCIB หนุนผู้ส่งออกไทยบุกตลาดโลกอย่างไม่เสี่ยง พร้อมเปิดตัวบริการใหม่ EXIM FLEXI

วันที่ประกาศ 19 มีนาคม 2551
EXIM BANK จับมือ SCIB หนุนผู้ส่งออกไทยบุกตลาดโลกอย่างไม่เสี่ยง พร้อมเปิดตัวบริการใหม่ EXIM FLEXI
EXIM BANK รุกขยายบริการประกันการส่งออกผ่านความร่วมมือกับธนาคารนครหลวงไทย (SCIB) เพื่อคุ้มครองความเสี่ยงจากการไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้าให้แก่ผู้ส่งออกที่เป็นลูกค้าของ SCIB ช่วยให้ผู้ส่งออกเสนอเงื่อนไขการชำระเงินที่ผ่อนปรนและแข่งขันได้ โดยไม่ต้องกังวลกับความเสี่ยงของผู้ซื้อรายใหม่หรือตลาดใหม่พร้อมเปิดบริการ “EXIM FLEXI” บริการประกันการส่งออกที่ปรับปรุงใหม่ในส่วนของเบี้ยประกัน ผลประโยชน์ผู้เอาประกัน และขั้นตอนการทำงานของ EXIM BANK และผู้ส่งออก ดร.อภิชัย บุญธีรวร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) และนายชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด(มหาชน) (SCIB) ร่วมกันแถลงข่าว “ความร่วมมือระหว่าง EXIM BANK และ SCIB ภายใต้บริการประกันการส่งออก” ณ EXIM BANK สำนักงานใหญ่ เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2551 ว่า ทั้งสองธนาคารตกลงจะร่วมมือกันช่วยเหลือผู้ส่งออกไทยให้ขยายธุรกิจได้ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศในปัจจุบัน โดย EXIM BANK จะให้บริการประกันการส่งออกแก่ลูกค้าของ SCIB เพื่อช่วยให้ลูกค้าของ SCIB มีความมั่นใจที่จะค้าขายหรือเสนอเงื่อนไขการชำระเงินที่ผ่อนปรนและแข่งขันได้ไม่ว่าจะในตลาดการค้าหลักหรือตลาดใหม่ รวมทั้งมั่นใจที่จะเริ่มต้นค้าขายกับผู้ซื้อรายใหม่ โดยผู้ส่งออกไม่ต้องกังวลว่าจะไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้าจากผู้ซื้อในต่างประเทศ อันเนื่องมาจากสาเหตุทางการค้าหรือการเมือง“ในปีนี้ EXIM BANK มีเป้าหมายขยายบริการประกันการส่งออกผ่านความร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์โดยเริ่มจาก SCIB เพื่อช่วยให้ผู้ส่งออกไทยเดินหน้าปรับปรุงคุณภาพสินค้าและหาตลาดใหม่ๆ ได้อย่างมั่นใจโดยใช้บริการประกันการส่งออกเป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงทางธุรกิจ” ดร.อภิชัยกล่าวประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารนครหลวงไทย กล่าวว่า ความร่วมมือของสองธนาคารจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งลูกค้าของธนาคารและกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจส่งออก นอกจากได้รับความคุ้มครองความเสี่ยงทางการค้าแล้ว ลูกค้ายังได้ประโยชน์จากการใช้บริการประกันการส่งออกของ EXIM BANK เป็นเครื่องมือบริหารจัดการด้านการเงินโดยใช้เป็นหลักประกันเงินกู้ได้อีกด้วย ขณะเดียวกันธนาคารนครหลวงไทยสามารถพิจารณาอนุมัติวงเงินสินเชื่อได้ง่ายขึ้น เนื่องจากธนาคารสามารถหักมูลค่าของหลักประกันออกจากราคาตามบัญชีของลูกหนี้ก่อนการกันเงินสำรองได้ 75% ของหนังสือรับประกันตามเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด “ในอนาคต SCIB ยังมีแผนร่วมมือกับ EXIM BANK เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการไทย และส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศของไทย อาทิ การพัฒนาบริการและบุคลากรด้านการส่งออกและนำเข้า” นายชัยวัฒน์กล่าว ทั้งนี้ SCIB มีแผนจะขยายธุรกิจต่างประเทศ โดยเปิดศูนย์บริการธุรกิจต่างประเทศเพิ่มอีกประมาณ 9 แห่งภายใน 3 ปี และในปีนี้จะเปิดศูนย์บริการธุรกิจต่างประเทศรวม 3 แห่งในเขตพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมหรือบริเวณที่มีปริมาณธุรกิจด้านนำเข้าและส่งออกเป็นหลัก ตลอดจนปรับปรุงระบบงานเทคโนโลยีสารสนเทศให้ทันสมัย เพื่อความสะดวกรวดเร็วและการเข้าถึงลูกค้าในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ รวมทั้งลดต้นทุนการดำเนินงานอีกด้วยด้านกรรมการผู้จัดการ EXIM BANK ได้แถลงถึงการเปิดตัวบริการใหม่ “EXIM FLEXI” ในโอกาสเดียวกันนี้ว่า ในปี 2539-2549 การค้าขายภายใต้เงื่อนไขการชำระเงิน Open Account (O/A) หรือการเปิดบัญชีขายเชื่อได้เพิ่มสูงขึ้นจาก 44% เป็น 66% ในขณะที่การค้าขายด้วย Letter of Credit (L/C) ซึ่งมีธนาคารทำหน้าที่เป็นคนกลางระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายได้ลดลงจาก 42% เป็น 27% นั่นหมายถึงความเสี่ยงของการค้าขายระหว่างประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นและอาจทำให้ผู้ส่งออกที่ไม่กล้ารับความเสี่ยงสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน EXIM BANK จึงเล็งเห็นความจำเป็นของการพัฒนาบริการประกันการส่งออกให้เป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงให้แก่ผู้ส่งออกไทย และในวันนี้ EXIM BANK พร้อมเปิดตัวบริการใหม่ “EXIM FLEXI” ซึ่งเป็นบริการประกันการส่งออกแบบใหม่ที่ปรับลดค่าเบี้ยประกัน ลดขั้นตอนการทำงานของ EXIM BANK และผู้ส่งออก และเพิ่มผลประโยชน์ในส่วนของการจ่ายค่าสินไหมทดแทนสูงสุดถึง 90% ของความเสียหายที่เกิดขึ้นให้แก่ผู้ส่งออกที่ปฏิบัติตามเงื่อนไขตามที่ได้ตกลงไว้กับผู้ซื้อแต่ไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้าตั้งแต่เปิดบริการประกันการส่งออกในปี 2538 จนถึงปัจจุบัน EXIM BANK ได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 260 ล้านบาท โดย 80% เกิดจากผู้ซื้อปฏิเสธการชำระเงินค่าสินค้า อีก 18% ผู้ซื้อล้มละลาย และ 2% ผู้ซื้อปฏิเสธรับมอบสินค้า ธุรกิจส่งออกที่ได้รับการจ่ายค่าสินไหมทดแทนมากที่สุดได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ (57%) รองลงมาคือ เฟอร์นิเจอร์ (13%) อาหารกระป๋อง (9%) และผลิตภัณฑ์พลาสติก (9%)
เอกสารที่เกี่ยวข้อง