ปัจจุบันประเด็น ESG หรือ แนวความคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนผ่านการให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และบรรษัทภิบาล (Governance) กำลังเป็นความท้าทายทั้งในมุมของประเทศที่ต้องปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานรองรับการเปลี่ยนแปลงของทุกภาคส่วน ไปจนถึงภาคธุรกิจที่ต้องปรับตัวสู่การดำเนินธุรกิจยุคใหม่ ซึ่งมีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้  
  ความท้าทายของประเทศไทยบนเส้นทางสู่ความยั่งยืน  
             ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มุ่งสู่การพัฒนาประเทศบนพื้นฐานความยั่งยืน โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับกระแสการพัฒนาอย่างยั่งยืนของโลก ทั้งนี้ ไทยได้ประกาศเจตนารมณ์ในการบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality ภายในปี 2593 และบรรลุเป้าหมาย Net Zero Emissions ภายในปี 2608 โดยมีความท้าทายในด้านต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนประเทศให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว ดังนี้  
  เป้าหมายการก้าวสู่ Net Zero Emissions ของไทย  
  หมายเหตุ : * เป็นการลดคาร์บอนจากระดับการดำเนินงานปกติ (Business as Usual : BAU) โดยมีการปล่อยในปี 2548 เป็นฐาน
  ** ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า  
  ที่มา : Infographic of Thailand's Long-term Greenhouse Gas Emission Development Strategy, presented at COP26, Thailand Pavilion  
  ความท้าทายด้านมาตรฐาน การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจด้าน ESG ในระยะข้างหน้าจำเป็นต้องมีการกำหนดมาตรฐานที่ชัดเจนมากขึ้น เนื่องจากแต่ละภาคส่วนอาจมีความเข้าใจขอบเขตของกิจกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแตกต่างกัน ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีมาตรฐานสากลเพื่อให้ทุกภาคส่วน อาทิ ภาคการเงิน ภาครัฐ และภาคเอกชน นำไปใช้อ้างอิงในกระบวนการทำงานที่เชื่อมโยงกัน ทั้งนี้ ปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทยอยู่ระหว่างจัดทำ Thailand Taxonomy ซึ่งเป็นการกำหนดมาตรฐานกลางในการจัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลและสอดคล้องกับบริบททางสังคมและเศรษฐกิจของไทย คาดว่าจะทยอยดำเนินการแล้วเสร็จภายในปี 2566  
  ความท้าทายด้านกฎหมาย การผลักดันประเทศสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero Emissions จำเป็นต้องมี
กฎหมายที่ช่วยสร้างกรอบและกติกาที่เป็นรูปธรรมรองรับไม่ว่าจะเป็นการกํากับดูแล การประเมินผล ไปจนถึงการกำหนด
บทลงโทษ ทั้งนี้ ปัจจุบันกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของไทยอยู่ระหว่างเร่งผลักดันร่างพระราชบัญญัติ
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ พ.ร.บ.โลกร้อน ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาภายในช่วงต้นปี 2566
 
  ความท้าทายด้านแผนงาน แม้ว่าไทยมีการตั้งเป้าระยะเวลาในการลดคาร์บอนแล้ว แต่แผนงานบางแผนยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น
อาทิ การจัดเก็บภาษีคาร์บอนเพื่อสร้างแรงกดดันในการลดการปล่อยคาร์บอนและการตั้งตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตเพื่อ
เพิ่มแรงจูงใจให้ภาคธุรกิจหาวิธีลดการปล่อยคาร์บอน และนำคาร์บอนเครดิตที่ลดได้มาขายในตลาด อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน
หน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐอยู่ระหว่างการพิจารณาแนวทางอย่างรอบคอบ โดยกรมสรรพากร กระทรวงการคลัง อยู่ระหว่างศึกษา
การเก็บภาษีคาร์บอนในอุตสาหกรรม 5 ประเภทที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง ได้แก่ ปูน เหล็ก อะลูมิเนียม ปุ๋ย และ
กระแสไฟฟ้า ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนสำหรับแนวทางการเก็บภาษีและอัตราภาษีภายในปี 2566
 
  ความท้าทายหลายระดับที่ภาคธุรกิจต้องเผชิญ  
            ปัจจุบันภาคธุรกิจมีความตื่นตัวสูงต่อการทำธุรกิจที่คำนึงถึงประเด็น ESG เนื่องจากต้องเผชิญความท้าทายรอบด้าน ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ระดับ ดังนี้  
  ผู้บริโภค : ESG เป็นส่วนหนึ่งของพฤติกรรมการบริโภค โดยผลสำรวจ Global Consumer Insights Pulse Survey ของ PwC ประจำปี 2565 จากผู้บริโภคจำนวน 9,069 คนใน 22 ประเทศ รวมทั้งไทย พบว่า ESG เป็นปัจจัยที่ผู้บริโภคราว 50% ให้ความสำคัญและใช้พิจารณาตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า ขณะที่ผลสำรวจของ GlobalWebIndex ระบุว่าราว 60% ของ Gen Z ยินดีจ่ายแพงขึ้นสำหรับสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสังคม  
  ภาคธุรกิจ : มาตรฐานธุรกิจยุคใหม่ที่คำนึงถึง ESG ตลอด Value Chain ของธุรกิจ โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบไปจนถึงขั้นตอนสุดท้ายที่ส่งมอบสินค้าให้ลูกค้า ปัจจุบันธุรกิจชั้นนำหลายรายประกาศจุดยืนในการลดคาร์บอน อาทิ DHL ที่ประกาศ Zero Emissions Logistics ภายในปี 2593 ขณะที่บริษัทชั้นนำราว 380 บริษัททั่วโลก ตั้งเป้าใช้พลังงานหมุนเวียนสุทธิ 100% ในอนาคต ซึ่งสร้างความท้าทายให้แก่ธุรกิจที่อยู่ใน Supply Chain การผลิตเดียวกับธุรกิจดังกล่าว ให้ต้องเร่งปรับตัวและหาแนวทางลดการปล่อยคาร์บอนเพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดใน Supply Chain ดังกล่าว  
  ตลาดปลายทาง : มาตรการทางการค้ายุคใหม่เพื่อสนับสนุน ESG โดยเฉพาะตลาดส่งออกสำคัญของไทยอย่าง EU ที่เตรียมบังคับใช้มาตรการปรับคาร์บอนสินค้านำเข้าก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism : CBAM) โดยในเบื้องต้นจะเริ่มทดลองใช้ (Transitional Period) ในปี 2566-2569 กับ เหล็ก ซีเมนต์ อะลูมิเนียม ปุ๋ย กระแสไฟฟ้า และไฮโดรเจน ขณะที่สหรัฐฯ กำลังเร่งผลักดันร่างกฎหมาย Clean Competition Act (CCA) เพื่อเตรียมจัดเก็บภาษีสินค้านำเข้าที่มีการปล่อยคาร์บอนสูงเช่นกัน คาดว่าจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในปี 2567 นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังเตรียมบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการนำเข้าสินค้าประมงเพื่อคุ้มครองสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม (Marine Mammal Protection Act : MMPA) เพื่อสนับสนุนการทำประมงอย่างยั่งยืน ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2566  
  แนวทางการปรับตัวของภาคธุรกิจเพื่อสร้างโอกาสเติบโตอย่างยั่งยืน  
 

          จากบริบทของโลก รวมถึงไทยที่ปัจจุบันต่างมีเป้าหมายมุ่งสู่ความยั่งยืน ทำให้ ESG เป็นประเด็นที่ท้าทายให้ภาคธุรกิจต้อง
เตรียมพร้อมรับมือแต่เนิ่น ๆ ด้วยการปรับเปลี่ยนแนวคิดการทำธุรกิจ โดยต้องสร้างสมดุลระหว่างสังคม/สิ่งแวดล้อม กับกำไร (Profit)
จากเดิมที่ให้ความสำคัญแต่ด้านกำไรเป็นหลัก โดยผู้ประกอบการสามารถนำแนวคิด Bio-Circular-Green-Economy Model (BCG Model) หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว มาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจ ทั้งนี้ ธุรกิจที่เตรียมความพร้อม
ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนอย่างรอบด้านจะมีความได้เปรียบและมีโอกาสสร้างผลตอบแทนได้ในระยะยาว ดังนี้

 
            ท่ามกลางความท้าทายจากกระแส ESG ที่ธุรกิจต้องเตรียมรับมือ EXIM BANK พร้อมยืนเคียงข้างผู้ประกอบการไม่ว่าธุรกิจรายใหญ่ หรือ SMEs ด้วยบทบาทของ EXIM BANK ที่เป็นมากกว่าธนาคาร (Beyond Banking) ทั้งการเป็น Business Partner ตลอดวงจรธุรกิจ การเป็นที่ปรึกษาที่คอยให้คำแนะนำในการแก้ปัญหาธุรกิจ ไปจนถึงบริการทางการเงินเพื่อสนับสนุนการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อ Solar Orchestra เงินทุนติดตั้ง Solar Rooftop พร้อมเชื่อมโยง Ecosystem ครบวงจร ตลอดจนบริการ EXIM Biz Transformation Loan ผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มุ่งเน้นการลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดการใช้พลังงาน รวมถึงการลงทุนด้านพลังงานสีเขียว เป็นต้น  
  Disclaimer : ข้อมูลต่าง ๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น
โดย EXIM BANK จะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
 
  ที่มาของรูปภาพ : Umeicon, Uniconlabs, wanicon, Freepik, Smashicons from www.flaticon.com  
  หน้าหลัก  I  คอลัมน์พิเศษ  I  Share โลกเศรษฐกิจ  I  Data Digest  I  ส่องเทรนด์โลก
เกร็ดการเงินระหว่างประเทศ  I  CEO Talk  I  แนะนำบริการ  I  สรุปข่าว