เริ่มนับถอยหลังเข้าสู่ช่วงเทศกาลปีใหม่ บรรยากาศดูจะคึกคักเป็นพิเศษ หลังจากเงียบในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการบริโภคและการท่องเที่ยวที่หลายฝ่ายคาดว่าจะเป็นความหวังใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยปี 2566

          แต่ในอีกด้านหนึ่ง หากหันมามองบรรยากาศของการส่งออกที่เคยเป็นพระเอกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยตลอด 2 ปีที่ผ่านมา กลับดูจะเริ่มไม่สดใสนัก ล่าสุดตัวเลขส่งออกเดือนตุลาคม 2565 ออกมาหดตัวครั้งแรกในรอบ 20 เดือนที่ -4.4% ทำให้หลายฝ่ายเริ่มกังวลว่าอาจเป็นจุดเริ่มต้นขาลงของการส่งออกไทยหรือไม่

          ทั้งนี้ ตัวเลขส่งออกที่ชะลอลงข้างต้นสอดคล้องไปกับดัชนีชี้นำการส่งออกของ EXIM BANK (EXIM Index) ที่ลดลงต่อเนื่องต่ำสุดในรอบ 7 ไตรมาส ทำให้คาดว่ามูลค่าการส่งออกของไทยทั้งปี 2566 จะขยายตัวเพียง 2% ชะลอลงจาก 8% ในปี 2565 โดยมีปัจจัยกดดันมาจากอุปสงค์ในตลาดโลกที่มีแนวโน้มชะลอลง โดยเฉพาะคู่ค้าสำคัญอย่างสหรัฐฯ และยุโรปที่มีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยมากขึ้น รวมถึงเศรษฐกิจจีนที่มีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด ขณะเดียวกัน แม้ปัญหา Global Supply Chain Disruption จะเริ่มคลี่คลายลงบ้าง แต่ก็ยังมีความไม่แน่นอนสูง นอกจากนี้ ความกังวลเรื่องภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับราคาสินค้าส่งออกที่มีแนวโน้มชะลอลงจะยังกดดันการส่งออกไทยในระยะถัดไป อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการควรติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อหาโอกาสที่จะมาพร้อมกับความเสี่ยง ดังนี้

          รู้ตลาด มองหาที่พึ่ง : หากพิจารณาตัวเลขส่งออกเดือนตุลาคม 2565 พบว่าแม้จะมีตลาดส่งออกของไทยถึงกว่า 75% หดตัว โดยเฉพาะตลาดสำคัญอย่างสหรัฐฯ ยุโรป และจีนที่หดตัวพร้อมกันครั้งแรกในรอบ 40 เดือน แต่กลับยังมีบางตลาดที่สามารถโตสวนทางกับตลาดอื่นได้ โดยเฉพาะ CLMV และตะวันออกกลางที่โตกว่า 10% และ 22% ตามลำดับ ทั้งนี้ CLMV ถือเป็นเพื่อนเก่ายามยากของไทย สังเกตได้จากบางปีที่ส่งออกรวมหดตัว 3 ปีติดต่อกันอย่างปี 2556-2558 แต่การส่งออกไป CLMV กลับยังโตเฉลี่ยถึง 10% สะท้อนว่าตลาด CLMV ยังมีพื้นที่เปิดรับให้แก่สินค้าไทยและเป็นตัวช่วยที่ดีในฐานะ Buffer สำหรับการส่งออกไทยในยามที่ตลาดอื่น ๆ ชะลอลง ขณะที่ตลาดตะวันออกกลางก็กำลังกลายเป็นเพื่อนใหม่ สะท้อนได้จากตะวันออกกลางเป็นภูมิภาคที่ส่งออกไทยโตได้สูงสุดกว่า 26% ในช่วง 10 เดือนแรกปี 2565 โดยเฉพาะซาอุดีอาระเบียที่กลับมาผูกมิตรกับไทยในรอบ 30 ปี รวมถึงอิรักที่กลับมานำเข้าข้าวไทยในรอบ 7 ปี จนกลายเป็นตลาดส่งออกข้าวอันดับ 1 ของไทยแซงหน้าตลาดสหรัฐฯ แล้ว

          รู้ทิศทางลม เกาะตามกระแส : นอกจากกระแสรักษ์โลกและรักษ์สุขภาพที่จะกลายเป็น New World Order ใหม่แล้ว กระแส Revenge Travel หรือการที่นักท่องเที่ยวอยากออกเดินทางเพื่อชดเชยในช่วง COVID-19 ก็ดูจะเป็นอีกกระแสที่น่าจับตามองไม่แพ้กันในปีหน้า ล่าสุด EIU คาดว่าการท่องเที่ยวโลกปี 2566 จะขยายตัว 30% สวนทางกับเศรษฐกิจโลกที่ IMF คาดว่าจะโตเพียง 2.7% ต่ำสุดในรอบ 21 ปี (ไม่รวมปีที่เกิดวิกฤต) ทั้งนี้ การที่ไทยเป็น Top 10 ประเทศที่มีนักท่องเที่ยวมากที่สุดในโลกก็จะได้อานิสงส์ไปด้วย โดยปีหน้าหลายฝ่ายคาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะเข้าไทยถึงกว่า 20 ล้านคน ซึ่งไม่เพียงภาคท่องเที่ยวที่จะได้ประโยชน์ แต่จะเกิด Spillover Effect ไปยังภาคส่วนอื่น ๆ รวมถึงการส่งออก ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือปี 2562 ที่นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยสูงถึง 40 ล้านคน มีส่วนหนุนให้การส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว อาทิ อาหาร ผลไม้ เครื่องสำอาง เครื่องใช้ในบ้าน ล้วนโต Double Digits สวนทางกับการส่งออกรวมที่หดตัว 2.6% ในปีเดียวกัน

          รู้หลบเป็นปีก รู้หลีกเป็นหาง : ท่ามกลางการแบ่งขั้วของโลก (Decoupling) ที่ยังมีต่อเนื่องในปีหน้า ทำให้การวางตัวเป็นกลางของไทยจะเป็นโอกาส ทั้งในแง่การค้า ผ่านการส่งออกไปแทนสินค้าของประเทศคู่ขัดแย้ง โดยเฉพาะจีนกับสหรัฐฯ สังเกตได้จากตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบันที่ 2 ประเทศทำสงครามการค้ากัน สินค้าของไทยเข้าไปแทนสินค้าของจีนในตลาดสหรัฐฯ ได้ต่อเนื่อง อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ยาง ผลิตภัณฑ์พลาสติก เป็นต้น หรือแม้แต่การลงทุนที่ไทยจะได้อานิสงส์จากการย้ายฐานการผลิตออกจากจีน ล่าสุดบริษัท EV ของจีนหลายแห่งก็เข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทยแล้ว อาทิ BYD SAIC GWM เป็นต้น ขณะเดียวกันก็ยังมีนักลงทุนอีกหลายชาติกลับเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น สะท้อนได้จาก FDI Inflow ที่โต 7.6% ในช่วงครึ่งแรกปี 2565 นอกจากนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า 8 ใน 10 ปีหลังสุด หากปีใดที่ FDI ขยายตัว ปีนั้นการส่งออกไทยก็จะโตไปด้วย ซึ่งล่าสุดหากดูมูลค่าการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติในช่วง 9 เดือนแรกปี 2565 พบว่าขยายตัวถึง 114% แน่นอนว่าเม็ดเงินจำนวนนี้จะมีการลงทุนอย่างต่อเนื่องในปีหน้า และจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยประคองการส่งออกไทยได้ในระดับหนึ่ง

          ที่กล่าวมาข้างต้น สะท้อนให้ผู้ประกอบการเห็นว่าในทุกวิกฤตย่อมมีโอกาสแฝงตัวอยู่เสมอ ทั้งนี้ แม้การส่งออกโดยรวมในปีหน้ามีแนวโน้มไม่สดใสเหมือนเช่นปี 2565 แต่การส่งออกไทยก็ยังมีโอกาสเจาะตลาดได้ในบางพื้นที่ ขณะเดียวกัน สินค้าหลายรายการของไทยยังเป็นที่ต้องการและสามารถตอบโจทย์ตลาดได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะสินค้าอาหารและเกษตรแปรรูป ท่ามกลางเศรษฐกิจที่เปราะบางและมีความไม่แน่นอนสูง
 
  Disclaimer : ข้อมูลต่าง ๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น
โดย EXIM BANK จะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
 
  หน้าหลัก  I  คอลัมน์พิเศษ  I  Share โลกเศรษฐกิจ  I  Data Digest  I  ส่องเทรนด์โลก
เกร็ดการเงินระหว่างประเทศ  I  CEO Talk  I  แนะนำบริการ  I  สรุปข่าว