EXIM BANK ร่วมพิธีถวายผ้าพระกฐินพระราชทานกระทรวงการคลัง ประจำปี 2562  
            นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร รองกรรมการผู้จัดการ EXIM BANK และนายชนะ บุณยะชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ EXIM BANK
ถ่ายภาพร่วมกับนางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง ในโอกาสเข้าร่วมพิธี
ถวายผ้าพระกฐินพระราชทานกระทรวงการคลัง ประจำปี 2562 ณ วัดราชผาติการามวรวิหาร กรุงเทพฯ เมื่อเร็วๆ นี้
  EXIM BANK ขานรับนโยบายรัฐบาล ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เหลือ 6.00%
ช่วยผู้ประกอบการไทย​โดยเฉพาะ SMEs ลดต้นทุนดำเนินธุรกิจการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ
 
 

          EXIM BANK ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ย Prime Rate สำหรับลูกค้าทั่วไปและ SMEs เทียบเท่า MRR ของ
ธนาคารพาณิชย์เหลือ 6.00% ต่อปี เพื่อช่วยลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจการค้าระหว่างประเทศของผู้ประกอบการไทย
สนองนโยบายรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจจากการหดตัวของการส่งออกตามปริมาณการค้าโลกที่ชะลอลงจากสภาวะ
กีดกันทางการค้า

          นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK เปิดเผยว่า EXIM BANK ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่มีภารกิจ
สนับสนุนธุรกิจการส่งออก การนำเข้า และการลงทุน ขานรับทิศทางการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ด้วยความเล็งเห็นถึงความจำเป็นของการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้ดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศในสภาวะที่ได้รับผลกระทบจาก
สงครามการค้า จึงพร้อมช่วยแบ่งเบาภาระต้นทุนทางการเงินที่ใช้ในการดำเนินธุรกิจให้แก่ลูกค้าทั่วไปและลูกค้า SMEs โดยปรับลด
อัตราดอกเบี้ย Prime Rate ซึ่งเทียบเท่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ของธนาคารพาณิชย์ เหลือ 6.00% ต่อปี
จากอัตราเดิม 6.125% ต่อปี โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน 2562 เป็นต้นไป

          “EXIM BANK พร้อมทำงานร่วมกับภาครัฐและเอกชน เพื่อช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs ให้สามารถเริ่มต้น
หรือขยายธุรกิจการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศได้อย่างไม่สะดุด แม้ในภาวะความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ซึ่งส่งผลกระทบต่อ
ประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่อง” นายพิศิษฐ์กล่าว

  EXIM BANK ชี้ผู้ส่งออกไทยต้องบุกตลาดใหม่ ควบคู่ขยายการลงทุนพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่ออนาคต
เพื่อลดผลกระทบจากสงครามการค้าและแข่งขันได้ในโลกยุคใหม่
 
 

          EXIM BANK ชี้มูลค่าส่งออกโลกหดตัวในรอบ 3 ปี โดย 6 เดือนแรกของปีนี้ การส่งออกของโลกลดลง 2.8% หรือ 268,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่การส่งออกของไทยหดตัว 2.9% หรือ 3,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนหนึ่งเป็นผลจาก
สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ทำให้ประเทศคู่ค้าของไทยซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในเอเชียและยุโรปส่งออกหดตัว ประกอบกับเศรษฐกิจ
ภายในประเทศชะลอตัว ผู้ส่งออกไทยจึงควรต้องเร่งกระจายตลาดส่งออกไปยังประเทศหรือภูมิภาคใหม่ๆ ที่เศรษฐกิจกำลัง
ขยายตัวและพึ่งพาการส่งออกไปสหรัฐฯ และจีนไม่มากนัก รวมทั้งวางแผนระยะยาวเพื่อลงทุนในอุตสาหกรรมเพื่ออนาคต
ทำให้สินค้าและบริการของไทยมีมูลค่าเพิ่มและแข่งขันได้ โดยไม่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าที่ยืดเยื้อหรือมาตรการ
ทางการค้ารูปแบบใหม่ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในระยะถัดไป


          นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK เปิดเผยว่า สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนที่ยังยืดเยื้อมีส่วนทำให้มูลค่าส่งออก
ของโลกในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 หดตัวครั้งแรกในรอบ 3 ปี โดยข้อมูลล่าสุดจากองค์การการค้าโลก (WTO) พบว่า การส่งออกรวม
ของทั้งโลก 6 เดือนแรกของปี 2562 หดตัว​ 2.8% หรือมูลค่าส่งออกลดลงราว 268,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 0.3% ของ GDP โลก
ขณะที่ประเทศไทย ซึ่งพึ่งพาการส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ และจีนเป็นสัดส่วน 11% และ 12% ตามลำดับ ได้รับผลกระทบจากการส่งออก
หดตัว 2.9% หรือส่งออกลดลงกว่า 3,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ แม้จะได้อานิสงส์จากการที่สหรัฐฯ นำเข้าสินค้า
บางรายการจากไทยทดแทนสินค้าจีนที่มีราคาแพงขึ้นจากภาษี ทำให้การส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ในครึ่งแรกปี 2562 ขยายตัวถึง 17%
แต่เศรษฐกิจไทยโดยรวม ซึ่งพึ่งพาการส่งออกสินค้ากว่า 55% ของ GDP ก็ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากประเทศคู่ค้า
ของไทยส่วนใหญ่ หรือราว 80% ของมูลค่าส่งออกรวมของไทย ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าครั้งนี้เช่นกัน

          กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK เปิดเผยต่อไปว่า ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าไม่รุนแรงเท่ากับอีกหลายประเทศ
ที่ต้องพึ่งพาการส่งออกสินค้าที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) เดียวกับจีนเป็นสัดส่วนที่สูง นอกจากนี้ ประเทศที่พึ่งพาตลาดสหรัฐฯ
มากกว่าจีนได้รับผลกระทบน้อยกว่า เช่น เม็กซิโก แคนาดา เวียดนาม อินเดีย และฟิลิปปินส์ ส่วนประเทศที่พึ่งพาตลาดจีนมาก เช่น
เกาหลีใต้ส่งออกไปจีนสูงถึง 27% ต้องประสบกับการส่งออกหดตัวถึง 8.6% หรือส่งออกได้ลดลงกว่า 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ทางออกในระยะสั้นของผู้ประกอบการไทยจึงได้แก่ การเร่งกระจายตลาดส่งออกไปยังตลาดใหม่ๆ ในเอเชีย แอฟริกา อเมริกากลาง
และลาตินอเมริกา โดยเฉพาะ CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ซึ่งกำลังซื้อยังเพิ่มขึ้นตามเศรษฐกิจที่ขยายตัวในระดับสูง
อย่างต่อเนื่อง

          นายพิศิษฐ์ กล่าวต่อไปว่า ในระยะยาว ผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัวไปลงทุนในโครงการใหม่ๆ ที่รองรับการเติบโตของภาค
อุตสาหกรรมเพื่ออนาคต เช่น ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) หรือกิจการที่ใช้นวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทย
แข่งขันได้ในตลาดการค้าโลกในอนาคตข้างหน้า สามารถอยู่รอดและขยายธุรกิจได้โดยไม่ได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนของ
เศรษฐกิจโลก ไม่ว่าจะเป็นสงครามการค้ายืดเยื้อหรือมาตรการทางการค้ารูปแบบใหม่ที่อาจเกิดขึ้นในระยะถัดไป ทั้งนี้ 10 อุตสาหกรรม
เป้าหมายหรือ S-curve ที่รัฐบาลส่งเสริมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ
การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ การแปรรูปอาหาร หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม เป็นต้น

          “สงครามการค้าที่เกิดขึ้นเป็นเพียงตัวอย่างของความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศที่อาจส่งผลกระทบ
ต่อประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทย ทางรอดของผู้ประกอบการไทยได้แก่ การพัฒนาการผลิตและการตลาดที่มองไปสู่อนาคต เริ่มต้น
จากการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต นวัตกรรม และเพิ่มมูลค่าของสินค้าและบริการให้ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่
ในปัจจุบันและอนาคต ไม่หยุดแสวงหาและสร้างโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจแม้ในตลาดใหม่ที่ไม่คุ้นเคย โดย EXIM BANK พร้อมทำงาน
ร่วมกับภาครัฐและเอกชน เพื่อสร้างโอกาสใหม่ๆ ทางการค้าและการลงทุนให้แก่ผู้ประกอบการไทยที่พร้อมแข่งขันในธุรกิจระหว่างประเทศ”
นายพิศิษฐ์กล่าว

  EXIM BANK เผยผลการดำเนินงาน 9 เดือน ปี 2562
ปล่อยสินเชื่อสร้างปริมาณธุรกิจการค้าการลงทุนกว่า 140,000 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็น SMEs
 
            นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK เปิดเผยผลการดำเนินงานในรอบ 9 เดือนของปี 2562 (มกราคม-กันยายน
2562) ว่า EXIM BANK มีสินเชื่อคงค้าง 109,744 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13,927 ล้านบาท หรือ 14.54% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
โดยแบ่งเป็นสินเชื่อเพื่อการค้า 35,378 ล้านบาท และสินเชื่อเพื่อการลงทุน 74,366 ล้านบาท จากจำนวนนี้มีสินเชื่อคงค้าง SMEs เท่ากับ
35,969 ล้านบาท ส่งผลให้ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2562 EXIM BANK มีกำไรสุทธิ 547 ล้านบาท ทั้งนี้ การปล่อยสินเชื่อของ EXIM BANK
ทำให้เกิดปริมาณธุรกิจ (Business Turnover) 140,519 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปริมาณธุรกิจของ SMEs เท่ากับ 79,248 ล้านบาท
คิดเป็นสัดส่วน 56.40%

          กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK เปิดเผยต่อไปว่า ขณะที่มูลค่าสินเชื่อของ EXIM BANK เติบโตขึ้น ธนาคารมีอัตราส่วนสินเชื่อ
ด้อยคุณภาพ (NPLs Ratio) ณ สิ้นเดือนกันยายน 2562 อยู่ที่ 4.96% โดยมีสินเชื่อด้อยคุณภาพจำนวน 5,440 ล้านบาท และมีเงิน
สำรองหนี้สงสัยจะสูญจำนวน 10,539 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,611 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นสำรองหนี้พึงกัน
ตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทยจำนวน 7,292 ล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินสำรองที่กันไว้แล้วต่อสำรองพึงกัน 144.53% ทำให้
EXIM BANK ยังคงดำรงฐานะการเงินที่มั่นคง

          ในการทำหน้าที่คุ้มครองความเสี่ยงให้แก่ธุรกิจส่งออกและโครงการลงทุนของผู้ประกอบการไทยในต่างประเทศ EXIM BANK
ได้ขยายบริการประกันการส่งออกและประกันความเสี่ยงการลงทุน เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการไทยเริ่มต้นหรือขยายธุรกิจในตลาดเดิม
และตลาดใหม่ได้อย่างมั่นใจ โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562 มีปริมาณธุรกิจด้านการรับประกันการส่งออกและการลงทุนเท่ากับ
96,772 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31,980 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นปริมาณธุรกิจของ SMEs จำนวน 16,420
ล้านบาท หรือ 16.97%

          ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2562 EXIM BANK มีวงเงินที่ให้การสนับสนุนแก่สินเชื่อโครงการระหว่างประเทศรวมทั้งสิ้น 83,432 ล้านบาท
โดยเป็นสินเชื่อคงค้างจำนวน 42,766 ล้านบาท จากจำนวนนี้เป็นสินเชื่อคงค้างให้แก่โครงการลงทุนของไทยในกลุ่มประเทศ CLMV
(กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) จำนวน 30,567 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,370 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
เป็นผลจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องของ CLMV ซึ่งยังคงเป็นประเทศเป้าหมายหลักในการเข้าไปลงทุนในต่างประเทศ
ของผู้ประกอบการไทย โดยปัจจุบัน EXIM BANK มีสำนักงานผู้แทนในย่างกุ้ง เวียงจันทน์ และพนมเปญ และอยู่ระหว่างเตรียมการ
เปิดสำนักงานผู้แทน EXIM BANK ในเวียดนามต่อไป

          นายพิศิษฐ์ กล่าวว่า นอกจากการเติมเต็มช่องว่างทางการเงิน ในปี 2562 EXIM BANK ได้ทำหน้าที่เติมเต็มช่องว่างเครือข่ายธุรกิจ
โดยเฉพาะในตลาดใหม่ (New Frontiers) และเติมเต็มช่องว่างองค์ความรู้ โดย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2562 EXIM BANK ได้จัดอบรมเพิ่ม
ความรู้ความเชี่ยวชาญเพื่อพัฒนาผู้ส่งออก โดยเฉพาะ SMEs ให้สามารถเริ่มต้นและขยายธุรกิจได้ ผ่านศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้า
ของ EXIM BANK (EXIM Excellence Academy : EXAC) ให้แก่ผู้ประกอบการจำนวนกว่า 3,000 ราย เพื่อสร้างผู้ประกอบการไทย
ที่แข็งแกร่งและแข่งขันได้ ช่วยให้สินค้าและบริการของไทยขยายส่วนแบ่งตลาดการค้าในโลกยุคใหม่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

  EXIM BANK และ U.S. EXIM Bank หารือแนวทางสนับสนุนการค้าไทย-สหรัฐฯ  
 

          นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK เปิดเผยภายหลังการหารือกับนางคิมเบอร์ลี่ รีด ประธานและ
กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งสหรัฐอเมริกา (U.S. EXIM Bank) ในโอกาสเดินทางมาเข้าร่วมการประชุม
สุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 35 และการประชุมธุรกิจอินโด-แปซิฟิกประจำปี 2562 (2019 Indo-Pacific Business Forum) ณ โรงแรม
คอนราด กรุงเทพฯ เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า EXIM BANK ได้หารือกับ U.S. EXIM Bank ถึงแนวทางส่งเสริมและสนับสนุนการค้าและการลงทุน
ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ รวมทั้งการเข้าไปค้าขายหรือลงทุนร่วมกันในประเทศที่สาม โดย EXIM BANK มียุทธศาสตร์และแนวทาง
การดำเนินงานในเชิงรุกเพื่อสร้างโอกาสการค้าการลงทุนใหม่ๆ ให้แก่ผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพในการเริ่มต้นหรือขยายธุรกิจกับ
สหรัฐฯ โดยเฉพาะในปัจจุบัน ความสัมพันธ์ด้านการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับสหรัฐฯ มีพัฒนาการที่ดีขึ้นเป็นลำดับสะท้อนได้จาก
มูลค่าการค้าระหว่างทั้งสองประเทศเพิ่มขึ้นจาก 1 ล้านล้านบาทมาอยู่ที่ราว 1.4 ล้านล้านบาทในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเช่นเดียวกับมูลค่า
การลงทุนโดยตรงสะสมระหว่างทั้งสองประเทศก็เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว

          “EXIM BANK และ U.S. EXIM Bank ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใสและเป็นสากล ทั้งสองหน่วยงานพร้อมขยาย
ความร่วมมือระหว่างกันในหลากหลายมิติ โดยเฉพาะการสนับสนุนทางการเงินเพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างกันให้มีมูลค่าเพิ่ม
มากขึ้นในระยะยาว โดยยึดมั่นในหลักการดำเนินกิจการที่ดีเพื่อรักษาผลประโยชน์ร่วมกันของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนในสังคม
และประชาคมโลก” นายพิศิษฐ์กล่าว

          ทั้งนี้ ปัจจุบัน สหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย และเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 3 ของไทย รองจากจีนและญี่ปุ่น สินค้า
ส่งออกสำคัญของไทยไปสหรัฐฯ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง อัญมณีและเครื่องประดับ รถยนต์
อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล สินค้าที่ไทยนำเข้าจากสหรัฐฯ ได้แก่ น้ำมันดิบ เคมีภัณฑ์
และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช ในด้านการลงทุน สหรัฐฯ เป็นนักลงทุนรายใหญ่อันดับ 4
ของไทย รองจากญี่ปุ่น สิงคโปร์ และฮ่องกง ขณะที่สหรัฐฯ เป็นประเทศเป้าหมายที่ผู้ประกอบการไทยออกไปลงทุนในต่างประเทศ
มากเป็นอันดับ 5

  ประธานกรรมการ EXIM BANK นำคณะกรรมการเยี่ยมชมการดำเนินงาน
ในโอกาสเข้ารับตำแหน่งใหม่
 
            นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานกรรมการ EXIM BANK นำกรรมการธนาคารเยี่ยมชมการดำเนินงาน และรับฟังบรรยายสรุปภาพรวม
ภารกิจของ EXIM BANK ในโอกาสที่ประธานกรรมการและกรรมการธนาคารเข้ารับตำแหน่งใหม่ โดยมีกรรมการผู้จัดการและผู้บริหาร
EXIM BANK ให้การต้อนรับ ณ EXIM BANK สำนักงานใหญ่ เมื่อเร็วๆ นี้
  EXIM BANK ร่วมประชุมประจำปีธนาคารเพื่อการส่งออกและนําเข้าในเอเชีย ครั้งที่ 25  
            นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK เข้าร่วมการประชุมประจำปีธนาคารเพื่อการส่งออกและนําเข้าในเอเชีย
ครั้งที่ 25 (Asian EXIM Banks Forum) ซึ่งธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าที่เป็นสมาชิก รวมทั้ง EXIM BANK ของไทย จำนวนรวม
11 ประเทศ และธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) ในฐานะผู้สังเกตการณ์ถาวร ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหัวข้อ “ก้าวสู่
ทศวรรษใหม่: บทบาทของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าที่มุ่งเน้นเชิงรุก มีความคล่องตัวและยั่งยืน ภายใต้ภูมิทัศน์เศรษฐกิจโลก
ที่เปลี่ยนแปลง” โดยสมาชิกส่วนใหญ่รวมถึง EXIM BANK ได้มีการปรับบทบาทองค์กรให้ชัดเจน ไม่ซ้ำซ้อน เชื่อมโยงการบูรณาการ
กับภาครัฐและเอกชน เพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศที่นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนของภูมิภาคและของโลก
ณ เกาะเชจู สาธารณรัฐเกาหลี เมื่อเร็วๆ นี้
  พบปะหารือ  
  EXIM BANK พร้อมสนับสนุนการค้าการลงทุนไทย-สาธารณรัฐแอฟริกาใต้  
         นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK และผู้บริหาร EXIM BANK พบปะหารือกับ
นายเจฟฟรีย์ ควินตัน มิตเชลล์ ดอยจ์ เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ประจำประเทศไทย และ
นายราจิล รัทนัม ประธานหอการค้าไทย-แอฟริกาใต้ เกี่ยวกับแนวทางส่งเสริมและสนับสนุนการค้า
การลงทุนระหว่างไทยกับสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ ณ EXIM BANK สำนักงานใหญ่ เมื่อเร็วๆ นี้
 
  EXIM BANK และ DITP หารือความร่วมมือสนับสนุนผู้ประกอบการ
ที่ได้รับผลกระทบจากการตัดสิทธิ GSP ของสหรัฐฯ
 
         นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK และผู้บริหาร EXIM BANK พบปะหารือ
กับนายสมเด็จ สุสมบูรณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมการค้า
ระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เพื่อขยายความร่วมมือในการสนับสนุนผู้ประกอบการที่ได้รับ
ผลกระทบจากการตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (Generalized System of Preference :
GSP) ของสหรัฐฯ รวมทั้งแนวทางสนับสนุนผู้ประกอบการไทยภายใต้บทบาทของ EXIM BANK ณ EXIM
BANK สำนักงานใหญ่ เมื่อเร็วๆ นี้
 
  EXIM BANK และคณะเศรษฐศาสตร์ มธ. หารือแนวทางพัฒนาศักยภาพนักศึกษา
และองค์ความรู้ด้านการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ
 
         นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK และผู้บริหาร EXIM BANK พบปะหารือ
กับ รศ.ดร.ชยันต์ ตันติวัสดาการ คณบดี คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เกี่ยวกับแนวทาง
การสนับสนุนและส่งเสริมศักยภาพนักศึกษา เพื่อพัฒนาให้เป็นบุคลากรคุณภาพในอนาคต และหารือ
แนวทางความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนและพัฒนาองค์ความรู้ด้านงานวิจัยในประเด็นการค้าการลงทุน
ระหว่างประเทศ ณ EXIM BANK สำนักงานใหญ่ เมื่อเร็วๆ นี้ี้
 
  EXIM BANK พบปะหารืออธิบดีกรมการเงินต่างประเทศและคุ้มครองหนี้สิน สปป.ลาว
สนับสนุนการค้าการลงทุนไทยใน สปป.ลาว
 
         นางวันเพ็ญ อรรชุนเดชะ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ EXIM BANK เข้าเยี่ยมคารวะและพบปะหารือ
นายสุลิวัด สุวันนะจูมคำ อธิบดีกรมการเงินต่างประเทศและคุ้มครองหนี้สิน กระทรวงการเงิน สปป.ลาว
เพื่อหารือนโยบายการเงินการคลังของ สปป.ลาว และแนวทางสนับสนุนการค้าการลงทุนของ
ผู้ประกอบการไทยใน สปป.ลาว ณ เวียงจันทน์ สปป.ลาว เมื่อเร็วๆ นี้ี้
 
  EXIM BANK สนับสนุนกัลฟ์ พีดี พัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ EEC  
            นางวรางคณา วงศ์ข้าหลวง รองกรรมการผู้จัดการ EXIM BANK ร่วมลงนามกับนายสารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) และสถาบันการเงินทั้งในประเทศและต่างประเทศอีก 15 แห่ง ในสัญญาเงินกู้ร่วม
กว่า 41,000 ล้านบาท โดย EXIM BANK ให้การสนับสนุนจำนวน 51.64 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1,600 ล้านบาท แก่บริษัท
กัลฟ์ พีดี จำกัด เพื่อนำไปใช้ก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ IPP ขนาด 2,650 เมกะวัตต์ ที่สวนอุตสาหกรรมโรจนะ 2
อ.ปลวกแดง จ.ระยอง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยทดแทนโรงไฟฟ้าเดิมในประเทศที่ทยอย
หมดอายุ ทั้งนี้ โดยตอบสนองนโยบายรัฐบาลด้านการพัฒนาประเทศและความมั่นคงทางพลังงาน รวมทั้งการพัฒนาพื้นที่ระเบียง
เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) เพื่อสนับสนุนให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วย
นวัตกรรม (Value-based Economy) ตามเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ของ EXIM BANK ณ โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเท็ล แบงค็อก เมื่อเร็วๆ นี้
  EXIM BANK ร่วมออกบูทในงานมหกรรมการเงินเชียงใหม่ ครั้งที่ 14  
            นางวรรธนา มงคลศรี รองกรรมการผู้จัดการ EXIM BANK ให้การต้อนรับ ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ประธานในพิธีเปิดงานมหกรรมการเงินเชียงใหม่ ครั้งที่ 14 นายวิรุฬ พรรณเทวี รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และนายสันติ
วิริยะรังสฤษฎ์ ประธานบรรณาธิการ วารสารการเงินธนาคาร และประธานการจัดงานมหกรรมการเงิน ในโอกาสที่ EXIM BANK
ร่วมออกบูทให้คำปรึกษาแนะนำและบริการทางการเงินพร้อมโปรโมชันพิเศษแก่ผู้ประกอบการ SMEs ที่สนใจจะเริ่มต้นหรือขยายธุรกิจ
ส่งออกในงานมหกรรมการเงินเชียงใหม่ ครั้งที่ 14 ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเชียงใหม่ แอร์พอร์ต เมื่อเร็วๆ นี้
  EXIM BANK แต่งตั้งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการดูแลสายงานกำกับและการเงิน  
            EXIM BANK แต่งตั้งนางวันเพ็ญ อรรชุนเดชะ เป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ดูแลสายงานกำกับ
และการเงิน ประกอบด้วยฝ่ายบัญชี ฝ่ายบริหารความเสี่ยง ฝ่ายกำกับการปฏิบัติงาน และฝ่ายธุรการ
มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 เป็นต้นไป

          EXIM BANK แต่งตั้งนางวันเพ็ญ อรรชุนเดชะ เป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ดูแลการจัดการด้านบัญชี
และงบประมาณตามนโยบายของธนาคาร มาตรฐานการบัญชี และข้อกำหนดของหน่วยงานกำกับดูแล การบริหาร
ความเสี่ยงของธนาคาร การกำกับดูแลการปฏิบัติงานและการประกอบธุรกิจของธนาคารให้เป็นไปตามกฎหมาย
และข้อกำหนดภายในและภายนอกธนาคาร การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุ ตลอดจนระบบงานที่เกี่ยวข้อง
กับอุปกรณ์และอาคารสถานที่ของธนาคาร ทั้งนี้ มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 เป็นต้นไป
            นางวันเพ็ญจบการศึกษาปริญญาตรี สาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสาขาการบัญชี
มหาวิทยาลัยรามคำแหง และปริญญาโท สาขาการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยเป็นผู้อำนวยการฝ่ายตรวจสอบภายใน บรรษัท
ตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย และผู้อำนวยการฝ่ายการเงินและบัญชี บริษัท บีทีเวิลด์ลีส จำกัด ก่อนจะเข้าร่วมงานกับ EXIM BANK ในปี
2550 และได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายโครงการระหว่างประเทศ และผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลุ่มอุตสาหกรรม 3 ในปี 2559
และ 2561 ตามลำดับ
  ร่วมยินดีโอกาสครบรอบ  
  53 ปี ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร  
         นายวิทวัส ปัญญาแหลม ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกิจการสาขา EXIM BANK ร่วมแสดงความยินดีกับ
นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในโอกาส
วันคล้ายวันสถาปนา ธ.ก.ส. ครบรอบ 53 ปี พร้อมมอบเงินสมทบสร้างอาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ณ ธ.ก.ส. เมื่อเร็วๆ นี้ี้
 
  20 ปี สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ  
         นางสาวเข็มจริยา ธีรพงษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายกำกับการปฏิบัติงาน EXIM BANK ร่วมแสดงความยินดี
กับนายประจวบ สวัสดิประสงค์ รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
(ป.ป.ช.) ในโอกาสวันคล้ายวันก่อตั้งสำนักงาน ป.ป.ช. ครบรอบ 20 ปี พร้อมมอบเงินสมทบมูลนิธิ
ช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ ณ สำนักงาน ป.ป.ช. เมื่อเร็วๆ นี้
 
  45 ปี กรมบังคับคดี  
         นายวิวัฒน์ แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารหนี้ EXIM BANK ร่วมแสดงความยินดีกับนางสาวปนัดดา
สินธุวิสุทธ์ รองอธิบดีกรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม ในโอกาสวันคล้ายวันก่อตั้งกรมบังคับคดี ครบรอบ
45 ปี พร้อมมอบเงินสมทบศิริราชมูลนิธิ เพื่อผู้ป่วยยากไร้โรงพยาบาลศิริราช ณ กรมบังคับคดี เมื่อเร็วๆ นี้
 
  หน้าหลัก   I   บทความพิเศษ   I   Share โลกเศรษฐกิจ   I   เปิดประตูสู่ตลาดใหม่   I   รู้ทันเกมการค้า
เกร็ดการเงินระหว่างประเทศ   I   CEO Talk   I   แวดวงคู่ค้า   I   แนะนำบริการ   I   สรุปข่าว